รักตนเอง

คนสองคนในความหมายของคำว่าคู่ ถ้าต่างฝ่ายต่างรักไม่เสมอกัน เมื่อเกิดสถานการณ์ คนหนึ่งรักตนเองมากกว่าเรียกว่าเอาประโยชน์เข้าตัว จะเอาอย่างใจหรือเห็นแก่ตัว ส่วนอีกคนรักคนอื่นมากกว่าตนเรียกว่ายอมตลอด หรือยอมแม้รู้ว่าผิด ยอมแม้ตนเองรู้ว่าไม่ถูกต้อง ยอมแม้ทำให้ตนเองเดือดร้อน อย่างนี้ก็ทุกข์แน่ๆ

 

แล้วอะไรล่ะที่อยู่ตรงกลาง คำตอบก็คือ ใจของผู้รักทั้งสองต้องมีธรรมะหรือความจริงเป็นแกนกลางค่ะ หากศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาไม่เสมอกัน มันก็อยู่ด้วยกันลำบากเพราะความถูกต้องของแต่ละฝ่ายจะเป็นการยกเรื่องความถูกใจมาพูดกันซะมากกว่า ก็ถ้าถูกใจต่างกันเสียแล้ว แถมไม่มีธรรม ต่างฝ่ายต่างจะเอาจากอีกฝ่าย หรือฝ่ายหนึ่งได้แต่อีกฝ่ายสูญเสียโดยไม่เห็นไม่เข้าใจว่ามันถูกต้องตรงไหนยกเว้นถูกใจเขา ความสัมพันธ์เช่นนี้จะดำเนินไปอย่างไร

 

สืบไปสืบมา แท้จริงปัญหาของการที่คนสองคนให้ความรักไม่เท่ากัน ต้นเหตุมาจากแต่ละคนไม่สามารถรักตนและคนอื่นอย่างเท่าเทียมกัน คือใจไม่มีอุเบกขา

 

พอพูดถึงการรักตนเองเรานึกถึงการไม่รักคนอื่น ถ้าพูดถึงการรักคนอื่นเรามักนึกถึงการไม่รักตนเองหรือเปล่า?

 

แทัจริงแล้ว การรักคนอื่นไม่ได้แปลว่าไม่ต้องรักตนเอง รักตนเองไม่ได้หมายความว่าไม่รักคนอื่น


ถ้าจะพูดถึงความรักในแบบพุทธ ที่ใกล้เคียงก็ต้องกล่าวถึงพรหมวิหาร หนึ่งในองค์ธรรมที่สำคัญที่สุดแต่ถูกเก็บไว้ข้อสุดท้ายคือเรื่องของการมีอุเบกขา(ความเป็นกลาง)ซึ่งถ้าขาดอุเบกขาก็ไม่ครบสูตร จะรักแล้วสุขหรือทุกข์ก็ดูกันที่ตรงนี้ อุเบกขาอันหมายถึงความเป็นกลางนั้น พี่ชายเคยสอนว่าแปลในมุมมองหนึ่งก็คือการรักตนและคนอื่นเท่าๆกัน ขยายความเพิ่มว่าถ้ารักตนก็ต้องรักคนอื่นอย่างนั้น ไม่ชอบทุกข์ไม่ชอบให้ใครมาเบียดเบียนเรา ก็อย่าไปทำกับคนอื่นแบบนั้น เรื่องนี้อธิบายแล้วพอเข้าใจได้แต่อีกความหมายหนึ่งที่คนมักไม่เข้าใจคือพอมองว่าไม่เบียดเบียนคนอื่นแล้วก็ต้องอย่าลืมว่าอย่าเบียดเบียนตนด้วย คือรักตนและคนอื่นเท่ากัน รักคนอื่นและรักตนเท่าๆกัน

 

ญ เคยเป็นคนหนึ่งที่มีพฤติกรรมใกล้เคียงความสุดโค่งสองทางอย่างที่เขียนไว้ คือเมื่อก่อนไม่รู้จักการให้ รู้จักแต่การรับก็อยู่ในข่ายเห็นแก่ตัว ต่อมาพอเห็นโทษทุกข์ของการเอาเข้าตัวก็ตาลปัตรตัวเองไปอยู่ฝั่งตรงข้ามคือรักใครก็อยากให้ๆๆอย่างเดียวซึ่งตอนนั้นเราไม่รู้เลยว่านั่นคือความรักที่ผิดอีกแบบ มันคือการรักตนเองและรักคนอื่นไม่เป็น โทษของการเห็นแก่ตัว ไม่ให้ความรักผู้อื่นเลยนั้นยังดูง่าย แต่โทษของการไม่รักตนเองนั้นดูยากกว่า

ลองสำรวจดูว่าเราเป็นคนกลุ่มไม่รักตนเองหรือเปล่า

 

รู้สึกผิดที่จะปฏิเสธความต้องการของใคร

 

รู้สึกเสียใจที่ทำให้ผู้อื่นผิดหวัง (สูงเกินมาตรฐาน ต้องเข้าใจว่าการสำนึกผิด กับการจมอยู่กับทุกข์เพราะรู้สึกไม่ดีมากๆนั้นเป็นคนละเรื่องกัน)

บางทีเรามัวแต่อยากช่วยคนอื่น จนลืมไปว่าตัวเองก็ยังไม่เข้มแข็งดีเท่าไหร่ ยังช่วยตัวเองให้หลุดพ้นจากทุกข์ไม่ได้ ก็ยังไม่สามารถช่วยคนอื่นได้อย่างถูกต้อง และให้ความรักด้วยความเข้าใจ จึงเป็นผลเสียทั้งกับตนเองและผู้อื่น

 

การที่เราไม่รักตนเอง ไม่เห็นคุณค่าของตนเอง นั้นส่งผลเสียอะไรบ้าง

 

คนที่ไม่เห็นคุณค่าของตนเองนั้นจะแสดงออกด้วยคำพูดและการกระทำที่ลดทอนคุณค่าของตนเอง ทั้งในสายตาตนเองรวมถึงทำให้ผู้อื่นรู้สึกแบบนั้นไปด้วย

เมื่อรู้สึกว่าตัวเองไม่คู่ควรกับของดี ก็ยอมหยวนๆกับการกระทำที่ไม่ดีที่คนอื่นทำกับเรา ไม่หยวนไม่ได้แปลว่าให้สู้ เขาด่ามาให้ด่าตอบนะคะ แต่หมายความว่าให้ให้อภัยเขาแต่ไม่จำเป็นต้องทน ยืนเฉยๆให้เขาด่า เดินหนีได้ เลี่ยงได้

 

ญ เคยคิดว่าญต้องดี ต้องเข้มแข็งเพื่อคนอื่น คือมีคนอื่นเป็นที่ตั้ง ปรากฎว่าเขาทุกข์เรื่องอะไร เราก็ไหวไปตามเขา แล้วลองสังเกตความเป็นจริงดู แม้แต่ตัวเราเอง เรายังไม่สามารถทำให้ตัวเองเป็นสุขได้ทุกเรื่องเลย แล้วเราไปพยายามทำให้คนอื่น(ที่เราไม่สามารถคาดเดาความรู้สึกนึกคิดเขาได้)มีความสุขได้ทุกเรื่องไม่ได้หรอก (บางทีเขาก็ไม่รู้ตัวเองด้วยนะว่าทุกข์เพราะอะไร) ดังนั้นจึงอย่าคาดหวังว่าเราจะต้องช่วยใครได้เสมอ มีความสุขผู้อื่นเป็นที่ตั้ง แต่มีความเข้าใจ คือมีธรรมะเป็นที่ตั้ง รู้ว่าสิ่งใดเป็นเหตุแห่งสุข สิ่งใดเป็นเหตุแห่งทุกข์ เมื่อใจเริ่มเติบโต รักตัวเองเป็นมากขึ้น เราก็รู้วิธีที่จะรักคนอื่น

 

คนที่ไม่รักตนเองนั้นแปลว่ายังไม่เข้าใจความรักอย่างแท้จริง และไม่สามารถรักผู้อื่นได้อย่างดี หรือทำให้เกิดประโยชน์สุขอย่างแท้จริง

 

วันก่อนไปโพสต์ประมาณนี้ไว้ “คนที่รักเราไม่ใช่คนที่ตามใจเราทุกอย่าง และยิ่งไม่ใช่คนที่อยากให้เราไปตามใจ” มีผู้อ่านมาคอมเมนท์ว่า “คนที่เอาใจเรา ตามใจเราไปทุกอย่าง ผิดถูกก็ไม่ทักท้วง จะเป็นคนรักเราจริง หรือคู่ชีวิตทีดีได้อย่างไร” ความรัก ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของเหตุผลที่ต้องนำทางกันและกันในทางที่ถูกได้ ยกตัวอย่างที่ได้ยินบ่อยๆคือเรื่องพ่อแม่รังแกฉัน ความรักชนิดนี้ กลับจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี เสียทั้งต่อลูก และตัวพ่อแม่เอง

 

พี่ชายเคยสอนว่า “ความสัมพันธ์มันต้องมีความบาลานซ์กันระหว่างการให้และรับ”


การรู้จักให้เป็นการสอนให้เรารู้จักสละ ในขณะเดียวกันการรู้จักรับก็ช่วยสอนอีกฝ่ายได้แบบเดียวกัน รวมถึงทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ทำหน้าที่แบกภาระอยู่ฝ่ายเดียว

 

คนที่รักตนเอง เห็นคุณค่าของตนเอง เท่านั้นที่จะเข้าใจว่ารักเป็นสุขที่จริงเป็นอย่างไร แล้วจึงจะรักคนอื่นได้ ให้ความรักคนอื่นเพื่อให้เขามีความสุขได้อย่างแท้จริง

 

 

คนที่ไม่เห็นค่าตัวเองจะรักและให้ผู้อื่นเพื่อจะได้รู้สึกดีต่อตนเอง ส่วนคนที่เห็นค่าของตัวเองจะรักและให้เพราะรู้สึกดีต่อตนเอง -- บาร์บารา เดอ แองเจลลิส


 © Copyright 2011. เหตุเกิดจากความรัก.