ฉันรักความทุกข์
อย่าเพิ่งหาว่าเราเพ้อไปค่ะ เรายังอยากพ้นโลกเพราะไม่อยากทุกข์เหมือนเดิม แต่ที่บอกว่ารักทุกข์น่ะ เพราะมันให้อะไรดี ๆ มากมายเลยนะ พยายามถ่ายทอดธรรมะเป็นทฤษฎีมาเยอะแล้ว ครั้งนี้ขอเล่าเป็นภาคปฏิบัติจากประสบการณ์ของตัวเองบ้างดีกว่า แต่ก่อนจะเริ่มเรื่องตัวเอง ขอเกริ่นถึงที่มาของการเริ่มเขียนบทความก่อนจะขออ้างอิงถึงเรื่อง Little Buddha
หาอะไรนะ พระพุทธองค์เป็นเจ้าชายที่ทรงสิริโฉมมาก… พระมเหสี ของพระองค์ก็ทรงสิริโฉมหาใครเทียบไม่ได้ มีปราสาท ๓ ฤดู มีทรัพย์สินเงินทองมาก มีอำนาจปกครองแผ่นดิน แถมรู้ ๆ อยู่ว่าถ้าทรงขึ้นครองราชสมบัติต่อไปจะเป็นมหากษัตริย์ที่โลกไม่ลืมเพราะจะได้ครอบครองดินแดนอีกมากมาย (ความจริงประวัติของท่านเรา ๆ ก็เคยได้ยินมาก่อนแล้ว แต่วันก่อนดูแล้วเกิดสะดุดใจขึ้นมา)
คิด ๆ ดูแล้ว กาม กิน เกียรติ พระองค์มีพร้อมเลยนี่นา ทำไมนะ แค่ทรงออกไปเห็นคนแก่ เจ็บ ตาย และกลับมาเห็นพระราหุลประสูติพระองค์จึงรีบเร่งหนีออกจากวังเพื่อไปผนวชทันที
ดู ๆ แล้ว พระองค์ทรงมีทุกอย่างครบตามที่เรา ๆ กำลังแสวงหาเลยนี่นา ทำไมถึงทรงทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่คนบนโลกเรียกว่าความสุขและเฝ้าแสวงหาไปทรมานตนอย่างง่ายดาย (เรามีทุกข์มาก บอกว่าอยากตาย แต่ใจเรายังไม่ยอมทิ้งโลกเลย)
เราชอบศึกษาประวัติของครูบาอาจารย์ด้วยค่ะ อ่านของหลาย ๆ รูป ท่านก็จะประมาณกัน คือเห็นทุกข์เล็กน้อยก็กลัวภัยจากสังสารวัฏแล้วยอมเอาชีวิตเข้าแลก ยอมตระเวณป่าเขา หาที่วิเวก ไม่ห่วงชีวิต ขอให้ได้ธรรมอย่างเดียว บางรูปมีสถานการณ์มาทดสอบ มีหญิงสาวอยู่ตรงหน้า ท่านก็ตัดใจหักหาญกิเลสอย่างเอาเป็นเอาตาย
อะไรนะที่ทำให้ท่านเหล่านั้นมีปัญญาและพยายามหาทางหลุดพ้นได้ถึงเพียงนี้?
เรามีปัญญาเล็กน้อยเท่าหางอึ่งไม่อาจทราบได้ว่าท่านสั่งสมมาอย่างไร ก็ขอละไว้ให้ลองตั้งคำถามกับตัวเองกันดูนะคะว่าเราจะทำยังไงให้มีปัญญาอย่างท่านบ้าง (คิดว่าก็เดินตามคำสอน และพระธรรมของท่านแหละ)
กลับมาเรื่องของตนเองว่าเริ่มเห็นแววศรัทธาและเห็นคุณค่าของพระธรรมและทุกข์มากขึ้นได้อย่างไร
ความจริงสนใจอยากหาทางพ้นทุกข์แต่เด็ก จำได้ว่าตอนอนุบาลร้องไห้ว่าไม่อยากเกิดแล้ว เมื่อก่อนพอทุกข์ก็นึกถึงแต่วัด แต่ก็เป็นแนวที่ว่าเข้าไปทำบุญแล้วขอให้สิ่งศักด์สิทธิ์ช่วยหน่อยนะค้า T/\T แต่ทุกข์ก็ยังไม่หมดแฮะ
ตั้งแต่ประถมจำได้ว่าจะชอบหนังสือแนวกฎแห่งกรรมมาก…
อยากรู้ว่าคนเราทำกรรมอะไรถึงได้อะไร อยากตาสวยให้ถวาย น้ำมันตะเกียง อยากมีรถนั่งให้ทำสะพาน ก็ทำ ๆ ๆ อือ ชาติหน้า เราคงจะได้ตามนั้น แล้วเอ… ชาตินี้ล่ะ มันก็ยังทุกข์อยู่นี่นา T^T
ตั้งแต่โตมาเราได้รับการสั่งสอนว่าให้เป็นคนดี ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว แต่เราเป็นคนหนึ่งที่ยอมรับเลยว่ารู้หมด แต่อดใจไม่ไหว ยิ่งโตยิ่งสั่งสมกิเลสไว้เยอะขึ้น ๆ ไม่ได้ลดน้อยลงเลย (แปลว่านิสัยแย่นั่นแหละ :p) จนเมื่อเมษาที่แล้วค่ะ ได้เจอพี่ชายทางธรรมคนหนึ่ง เพราะทุกข์เลยมีคุณลุงคุณน้าเมตตาแนะนำส่งตัวไป เลยทำให้ได้เรียนรู้อะไรที่เปลี่ยนวิธีคิดไปเลยว่าที่ผ่านมา “เราเชื่อ แต่ใจเราไม่ได้เห็นถึงเหตุผลมันเลยไม่ยอมวาง”
ที่จริง “ความทุกข์” ที่เราพยายามหลีกหนีเนี่ยมันสำคัญต่อเส้นทางของเรามาก ไม่ได้แค่ทำให้เราเบื่ออย่างเดียว ยังมีประโยชน์ด้านอื่น ๆ อีก ที่ได้รับการอบรมบ่มจากพี่ชายก็คือ พี่ชายสอนเรื่องกฎแห่งกรรมค่ะ บอกว่า “เราได้อย่างไรเพราะทำมาอย่างนั้น” ฟังดูง่ายนะคะ ใคร ๆ ก็รู้ แต่ต้องลองทำค่ะ ถึงจะรู้มากขึ้น เพราะ ที่ผ่านมาเวลามีทุกข์ ไม่รู้จะจัดการยังไงกับทุกข์ค่ะ ก็อือ... รู้ว่าทำมา แล้วไง? ก็ทุกข์อะ เมื่อก่อนเลยกลายเป็นหาทางหนี หนีไปช๊อปปิ้งบ้าง ดูหนัง ฟังเพลง อยู่กะเพื่อน เปลี่ยนคนฟังเราบ่นบ้างอะไรบ้าง แต่…มันก็กลับมาทุกข์เรื่องเดิม ๆ อีก
พี่ชายสอนให้ย้อนระลึกดูว่าเราทำให้ใครทุกข์แบบนี้มาก่อนในชาตินี้ เราก็นึก ๆ ย้อนไป เออ จิงแฮะ เราเคยทำกับคนนั้นอย่างนั้นเมื่อตอนนู้นไว้นี่นา ยิ่งน้ำตาเลอะ ยิ่งเยอะประสบการณ์ค่ะ (T^T)/> ยิ่งทุกข์มาก ทุกข์หลายเรื่อง ยิ่งย้อนไปก็นึกได้ อ้าว… มันนิสัยเราที่สะสมมาทั้งหมดเลยนี่นาที่ให้โทษ
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราจะไปโกรธคนที่มาทำเรา (เค้าอาจตั้งใจหรือ ไม่ตั้งใจ) ทำไม เมื่อเรา เขา และทุก ๆ คนก็เป็นหุ่นชักใยของโลกกรรมทั้งหมด
พี่ชายเคยบอกว่าวงจรคือ “เมื่อเราไปกระทำให้ใครทุกข์ เมื่อถึง จังหวะกรรมมันจะดึงดูดคนที่มีอนุสัยแบบเดียวกับเราในเรื่องนั้น ๆ มาเจอ มาส่งผลให้เรายึด (รัก) มาส่งให้เขากระทำกับเรา และเราก็จะทุกข์แบบเดียวกับที่เคยไปทำกับคนอื่นมาก่อน และเขาที่มาทำกับเราก็จะต้องไปยึดคนที่จะมาทำกับเขาต่อ เว้นแต่เราจะอโหสิกรรม แล้วเขารู้ตัวว่าทำผิดแล้ว (ที่ผิดศีล ที่เบียดเบียนคนอื่นนี่ได้ไม่คุ้มเสียเลยนะคะ ได้อะไรที่ไม่มีตัวตน ตายไปก็เอาไปไม่ได้แล้วยังต้องมาทุกข์อีก)”
ยิ่งทำไปมากขึ้นยิ่งเห็นผลดีเกินคาดค่ะ จากที่เมื่อก่อนรู้ว่าตัวเองไม่ดี (บ้าง) แต่แก้ไขอะไรไม่ได้เลย เพราะตอนจะทำผิดน่ะมันหน้ามืด ไม่สนอะไรทั้งนั้น “แต่มาตอนนี้เรียนรู้จากทุกข์แล้วโยงเหตุได้ว่าเราเคยไปทำอย่างนี้ไว้เมื่อตอนนั้น ๆ มันทำให้ใจเราเชื่อจริง ๆ ว่าเป็น สิ่งที่เราทำมา หลังจากนั้น ยิ่งทุกข์ ยิ่งย้อนมองดูตัวเอง ก็ยิ่งกลายเป็นนิสัยที่จะสำรวจข้อเสียของตัวเองเสมอ (ลดสำรวจข้อเสียคนอื่น เพราะเห็นข้อเสียของคนอื่นไปก็มีแต่หงุดหงิด ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตเรา ดีขึ้นเลย) แล้วมันทำให้เข็ดกับการกระทำไม่ดีต่าง ๆ มากขึ้น อันนี้เป็นผลที่ได้จากการทำให้เชื่อเรื่องกรรมจากการดูหยาบ ๆ”
ที่ผ่านมาก็จะทำทานด้วยความรู้สึกอยากสละออก และพยายามรักษาศีลให้มากขึ้นด้วย ด้วยเข้าใจว่า “การหวงยึดหลงตามกิเลส มันทำให้ใจตัวเองไปมัว ๆ ตามกิเลส เห็นอะไรไม่ชัด คลาดเคลื่อนพอกิเลสลดลงกับทั้งมีบุญจากกุศลที่ทำให้จิตใจสว่างขึ้น ก็ยังสังเกตตนเองต่อไป จะเห็นในใจชัดขึ้นว่า กิเลสน่ะมันไม่ได้หมดไปหรอก แต่มันมาทีไรเราก็ทุกข์ โกรธที ยังไม่ทันจะได้ด่าใครหรอกค่ะในใจเราก็ร้อนแล้ว เวลาอยากได้อะไรทีใจก็ดิ้น ๆ ก็เร่าร้อนแล้ว ที่เคยเห็นว่าตัวเองแย่ปกติ พอมามองตัวเองบ่อยขึ้น ก็เลยทำให้เห็นความผิดปกติของตนเอง”
เส้นทางนี้คงอีกยาวไกล นอกจากทาน ศีล สมาธิ ภาวนาแล้ว เราอยากจะบอกว่า ความทุกข์นี่แหละเป็นกำลังใจที่ดีให้เราได้เข้าใจโลก และเร่งพัฒนาตนเอง แต่ก็เกิดจากการย้อนมาดูตัวเองบ่อย ๆ ด้วยนะ มันเป็นการช่วยขัดเกลานิสัยและกิเลสตนเองทางหนึ่ง
“ยิ่งนานไปก็ยิ่งสะสมความเห็นถูกขึ้นจากการเห็นผิด พอมีทุกข์ แต่ละที ย้อนไปเห็นเหตุแต่ละครั้ง…
มันเกิดจากที่เราเคยทำ… พอเห็นโทษของสิ่งที่เราเคยทำก็ละสิ่งนั้นได้
มันเกิดจากกิเลส… พอเห็นโทษของกิเลสก็มีความเกรงกลัวก็ไม่ทำตามมันได้
มันเกิดจากความอยาก (ไม่อยาก)…. พอเห็นโทษของความอยากไม่อยากก็ข่มมันให้น้อยลงได้ (เพราะไม่ตามใจมัน ให้อาหารมัน)
มันเกิดจากความรักตนเอง … พอเห็นโทษของความรักตัวเองก็คิดถึงตนเองน้อยลง เข้าใจคนอื่นมากขึ้น
มันเกิดจากความเห็นผิด… พอเห็นโทษของการเห็นผิดก็จะไม่ทำอะไรผิด ๆ อีก”
ใครจะบอกว่าทุกข์ไม่มีค่า ควรรีบละ ๆ เสีย ไปหาความสุขเพื่อให้ลืมนี่เราว่าไม่จริงนะ ยืนยันได้ว่าทุกครั้งที่ได้บทเรียนนี่ก็ได้มาจากตอนทุกข์ทั้งนั้น พอรู้เหตุแล้วก็จะได้ไม่ต้องมาทำอะไรอย่างเดิมให้ทุกข์อีกมันก็ละเหตุแห่งทุกข์ได้เรื่อย ๆ
ดังนั้นครั้งหน้าเวลามีทุกข์เท่ากับได้เจอสิ่งที่มีค่าแล้ว อย่าเพิ่งหนี ไปหาความสุข อย่าเพิ่งโทษใคร แต่ลองย้อนมาดูตนเอง และเอามาเป็น กำลังใจให้ตัวเองดูบ้างนะคะ
“อย่ายอมให้เกิดมาทุกข์แบบเดิมซ้ำซากไปเรื่อย ๆ”
“ไม่อยากทุกข์ ก็มาละเหตุแห่งทุกข์ไปเรื่อย ๆ ดูนะ”
“เพราะเห็นทุกข์จึงเห็นธรรม”
“เพราะเห็นโทษจึงละได้”
อย่าปล่อยให้ทุกข์และชีวิตผ่านไปตามยถากรรมและวาระ แต่ขอให้เรียนรู้ทุกข์นั้นด้วยปัญญา :) ถ้าเรารู้ว่าทั้งหมดมันมีแต่ทุกข์ และเหยื่อล่อให้ต้องมาทุกข์แล้วทุกข์อีก เราจะยังอยากมาเกิดอีกไหม?
ทุกข์มันไม่เคยหมดไปจากชีวิต จนกว่าจิตจะเข้าใจมัน แล้วจะเห็นคุณค่าของการภาวนามากขึ้นค่ะ ^^
Ying LeoLino