๒. ทุกข์เริ่มต้น

ความรักคืออะไร

นิยามความรักในทางโลกคงแปลได้หลากหลายความหมายตามแต่ที่ใครจะคิดพรรณนา แต่แท้ที่จริงแล้ว ภาษาที่เราใช้ออกมามันจะสื่ออะไร มากน้อยแค่ไหน ที่แท้สาระของมันคงมีแค่สองอย่าง คือทำให้เราสุขและทำให้เราทุกข์แล้วความจริงความรักให้สุข หรือ ให้ทุกข์ กันแน่?

ในทางพุทธศาสนา พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่าที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ทั้งนี้ด้วยเหตุว่า ความรักแบบโลกส่วนใหญ่ มันควบคู่มากับความหลงเข้าใจคลาดเคลื่อนผิดไปจากความเป็นจริง หรือ ที่เรียกว่า โมหะ ในทางพุทธศาสนา  คือหลงคิดหรือ เข้าใจผิด เข้าไปยึดถือว่าสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็นตัวเรา เป็นของเรา เสร็จแล้วก็คิดและปักใจเชื่อว่าต้องเป็นอย่างนั้นไปเอง ไปแปะป้าย สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาเอง เช่น คนนี้คือแฟนของเรา ถ้าเราไม่มีเขาเราจะอยู่ไม่ได้ พอเกิดความทุกข์ก็รู้สึกว่าความทุกข์นี้คือความทุกข์ของเรา ซึ่งเป็นตัวเราเองทั้งนั้นที่เป็นผู้เลือกจะทั้งกอดทั้งเก็บความทุกข์ (ที่เราสร้างขึ้นมาเองในใจ)ไว้ ทั้งที่ความคิดเหล่านั้นมันไม่ได้มีตัวตนอยู่ให้จับต้องได้เลยสักนิด

โมหะ คือความหลง (เหมือนหลงทางอยู่ในเขาวงกต) เป็นต้นเหตุที่ทำให้คนเราทุกข์ ให้เราคิดปรุงแต่งหรือคิดฝันเอาเองไปต่างนานาว่าสิ่งไหนหรืออะไรคือทางออก คือสิ่งที่ใช่ เช่นเชื่อไปเองว่าคนนี้ใช่แน่ๆ ทั้งที่โดยความจริงแล้วเราไม่ได้รู้จักเขาดีพอเลยด้วยซ้ำ แต่เพราะโมหะคือความหลงนั้นหลอกให้เราเห็นแต่ด้านที่เราอยากจะเห็น

และโมหะนี้เองเป็นรากเหง้าที่จะงอกออกมาเป็นกิเลสอื่นๆ เช่นโลภะ(อยากให้เขาหรือเธอทำอย่างนั้นอย่างนี้ตามใจเรา) ราคะ(อยากยึดเขามาเป็นของเรา)  และโทสะ(เมื่อเขาหรือเธอไม่ทำตาม หรือไม่ได้อย่างที่ใจเราอยากให้เป็น ก็โกรธ งอน งอแง อาละวาด จองเวรและอื่น)

ดังนั้นความรักแบบโลกที่เป็นความหลงแบบโมหะ ไม่ได้รู้เห็นตามจริง จึงเป็นต้นตอที่ทำให้เกิดปัญหา เกิดทุกข์ ด้วยเหตุนี้หากเราต้องการมีความสุข เราก็ต้องรู้จักรักให้เป็นคือ ไม่หลงไปทำตามกิเลส ยกตัวอย่างความรักแบบไม่มีกิเลสและไม่มีเงื่อนไขเช่น ความรักของพระพุทธองค์ที่ทรงมีต่อสัตว์โลก ความรักชนิดนี้ไม่นำพาให้เกิดทุกข์ทั้งต่อผู้ให้และผู้รับ ความรักชนิดนี้ ภาษาธรรมเรียกว่า ความรักแบบพรหมวิหาร ๔ คือ มีเมตตา(ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข) กรุณา(ต้องการให้ผู้อื่นพ้นจากทุกข์) มุทิตา(พลอยยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นเป็นสุข) อุเบกขา(มีความเป็นกลางต่อความมุ่งหวังทั้งหมดนั้น) โดยเฉพาะอุเบกขาที่กล่าวได้ว่าเป็นตัวปัญญานั้นมีความสำคัญมากจนต้องระบุควบคู่ไว้ว่าถ้าขาดอุเบกขาก็ไม่ใช่เมตตาไม่ใช่รักอย่างฉลาด เพราะไม่รู้จักปล่อยวาง โดยนัยยะนี้  การมีอุเบกขาคือ การทำดีโดยใจไม่ทุกข์ เรียกว่ารักได้อย่างบริสุทธิ์ออกมาจากใจ ทำดีที่สุดแล้วก็ไม่หวังผล ไม่หวังว่าตัวเราจะได้อะไร ไม่หวังว่าคนรับได้แล้วต้องเห็นคุณค่า(อย่างที่ใจเราต้องการ)หรือไม่

ถ้าจะพูดกันให้เข้าใจง่ายขึ้น หลง กับ รัก ต่างกันชัดเจนที่ความรู้สึกอยากได้ หรืออยากให้นั่นเอง จะทุกข์หรือจะสุขก็วัดกันที่ตรงนี้เช่นกันคือ ที่คิดว่าขาดความรักก็เพราะคิดว่าความรักคือการได้มาหรือได้ครอบครอง แต่ถ้าเข้าใจเสียใหม่ว่าความรักคือการให้ ก็จะไม่รู้สึกขาดเลย

ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความรู้สึกอยากได้อะไรจากเขาหรือเธอ นั่นก็แปลว่าคุณกำลังหลงคือ หลงไปยึด ความอยาก ความคาดหวัง จะพาให้ใจเป็นทุกข์ เมื่อไม่ได้ดังหวัง ก็เป็นทุกข์

แต่ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่าเราเพียงต้องการจะให้เพื่อให้เขาเป็นสุขโดยไม่ได้ยึดมั่นว่าต้องการอะไรจากเขาหรือเธอ นั่นคือรักแบบเมตตาที่เป็นพรหมวิหารธรรม ถ้าให้แล้วเขาหรือเธอไม่รัก ก็ไม่ทุกข์ใจ เพราะมีอุเบกขาไปพร้อมกัน ใจไม่เกาะ ไม่ยึด ก็ไม่ทุกข์

ดังนั้นถ้าเราเข้าใจอย่างถูกต้องก็จะรู้ว่าที่เรามีทุกข์นั้นเพราะเราเป็นคนเลือกเอง ที่บอกว่ารักมันทำร้ายเรา จริงแล้วไม่ใช่เลย มันเป็นเพราะเราไม่รู้จักรักเองต่างหาก ที่คนเราทุกข์เพราะความรักนั้น ไม่ใช่ทุกข์เพราะการให้ แต่ทุกข์เพราะอยากแล้วไม่ได้ ที่เราเคยบอกว่า รักเขาเหลือเกิน รักเธอที่สุดในโลกนั้น เราควรย้อนกลับมาดูที่ใจตัวเองก่อนว่าแท้จริงแล้ว เราเรียกสิ่งนั้นว่ารักได้จริงหรือ การกระทำใดที่เราทำให้เขาหรือเธอนั้น เราทำเพื่ออยากให้เขามีความสุข หรือ อยากให้ตัวเรามีความสุข


 © Copyright 2011. เหตุเกิดจากความรัก.