๓. ทุกข์เพราะรัก

ความรัก หรือ กรรม ทำให้คนตาบอด

เคยถามตัวเองไหมว่าทำไมฉันจึงรักเธอเมื่อเริ่มต้นรู้สึกว่ารักใครสักคนหนึ่ง บางครั้งมันอาจเป็นรักแรกพบ บางครั้งมันอาจจะเป็นความรักที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่ทันตั้งตัว รู้อีกทีก็รักเขาเข้าแล้ว

ในยามที่เรามีความสุขเราอาจไม่สนใจอยากหาคำตอบมากมายว่าทำไมฉันจึงรักเธอเพราะเมื่อใดที่เรามีความสุขโดยมากเรารู้สึกพอใจความรู้สึกพอทำให้ไม่ได้คิดค้นอยากหาข้อเสีย หรือคิดคำถามให้ต้องหาคำตอบ

แต่เมื่อเวลาที่เราทุกข์ ที่เราเสียใจ บางคนก็อาจมีคำถามขึ้นมาว่า ทำไมฉันจึงรักเธอหรือฉันรักเธอไปได้ยังไง(เนี่ย!) เพราะเธอนั้น หน้าตาก็ไม่หล่อเหมือนเคนธีรเดชไม่ได้รวยเหมือนบิลเกตส์ แถมยังช่างใจร้ายใจดำ ทำกันได้ลง และอื่น.... (มากมายแล้วแต่ว่าอะไรจะผุดขึ้นมาในหัวเวลาโกรธ) แต่ก็ยังไม่พบคำตอบอยู่ดี ^^

ในทางพุทธศาสนา เราเชื่อว่าอะไรใดๆ ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอย  การที่เราจะได้เป็นคู่รัก และครองคู่กับใครนั้นย่อมมีเหตุ

เหตุที่ทำให้เรามีคู่ก็มาจากกรรมเก่าที่เคยร่วมทำกันมา และจะคบหายืนยาวอยู่ได้ด้วยร้ายด้วยดีต่อไปนั้น มาจากกรรมที่ทำเอาไว้ในปัจจุบัน กล่าวกันง่ายๆ คือ จะคบแล้วมีความสุข หรือทุกข์ เป็นผลของกรรมซึ่งสะท้อนสิ่งที่ผู้รับผลนั้นกระทำมาก่อนทั้งอดีตชาติ และชาติปัจจุบันทั้งสิ้น

ดังนั้นหากมีความทุกข์จากรักขึ้นมา ถ้าจะถามว่าทำไมเราต้องมาทุกข์ใจกับคนนี้ ก็ต้องตอบว่ามันเป็นผลมาจากกรรมที่คนทั้งสองได้ทำร่วมกัน และที่เราทำมา กรรมเก่าพาเราลงมาติดกับ

กรรมมันเริ่มส่งผลตั้งแต่วันแรกที่ใจคุณเข้าไปผูกกับเขา กรรมส่งผลที่ใจให้มารัก ให้มาหลง บังตาไว้ไม่ให้เห็นความสมเหตุสมผลทั้งหลาย หรือรู้ทั้งรู้ก็ยังรัก ถูกดูดเข้าไปใช้กรรม

ที่ว่าความรักทำให้คนตาบอดต้องกล่าวให้เป็นธรรมขึ้นว่ากรรมบังตาคือกรรมบังคับใจให้ไปรู้สึกติดใจ ชอบ ใช่ รัก ผูกพันกับคนที่จะนำเราไปรับผลที่เราเคยก่อไว้ทั้งดีและร้ายนั่นเอง

เริ่มตั้งแต่ต้นที่จะรู้สึกดีกับใคร ก็กรรมกำหนด ที่จะไปได้เจอกันในเวลาที่แสนจะพอดีอย่างไรก็กรรมกำหนด กรรมจัดฉากไว้ให้ต้องไปเจอ และรู้สึกไปอย่างนั้น จนกระทั่งจิตส่งออก ทะยานออกไปเกาะเกี่ยวยึดไว้ หลงไปยึดเอาว่าของเรา คนของเรา ไปแปะป้ายว่า นี่เป็นคนที่เราต้องการ นี่เป็นแฟนเรา ต้องดีกับเรา ห้ามไปดีกับคนอื่น พอเชื่อใจ คลายความคลางแคลง มั่นใจว่าใช่แน่ๆ มอบทุกอย่างให้หมด อาจจะแต่งหรือไม่แต่งก็สุดแท้แต่ ก็จะถึงเวลาที่ของจริงส่งผล แสดงตัวจริงของจริงให้เห็น ใจก็จี๊ดขึ้นมาจนกระทั่งต้องไปถาม อาจจะเริ่มด้วยการถามเพื่อน หรือไม่ก็ไปถามเจ้าคู่กรณี ว่าเดิมไม่ใช่อย่างนี้ ทำไมเปลี่ยนไป ที่รับปากไว้ ที่สัญญาไว้ ทำไมไม่ทำ ปรับโทษ อาละวาด ตีโพยตีพาย

กรรมทั้งนั้น……

ซึ่งไม่ว่าจะเก่งแค่ไหน ถ้ายังมีความเห็นยึดมั่นว่า ความรู้สึกเป็นเรา ความคิดนี้เป็นของเรา ก็จะเชื่อความรู้สึกและความคิด โดยจะหลง คิดไปเองแต่แรกว่าเขาคนนั้นต้องดีอย่างนั้นอย่างนี้ คือมีใจพร้อมจะเชื่อไปก่อนอยู่แล้ว พอเขาพูดโน่นพูดนี่นิดหน่อยก็ทึกทักเอาเองว่าต้องใช่อย่างนั้น(อย่างที่ใจขอมา)แน่นอน เราจึงพร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้อยู่ใกล้ เป็นคู่ มีความสัมพันธ์ หลงรักคนที่ในอนาคตต่อไปจะรานน้ำใจเราซึ่งเป็นผลจากการที่เราเชื่อความรู้สึกและความคิด (ไปเอง) “ของเราที่กรรมส่งมาจนในที่สุดมาพบความจริงว่า เขาไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด เป็นเราที่เข้าใจผิดไปเชื่อใจที่สั่งมาเอง แต่กว่าจะถึงตอนนั้น แทนที่จะรู้ตัว เห็นตามจริงว่าเป็นเราที่คิดไปเอง ก็กลายเป็นโทษกันระหว่างสองฝ่ายไปแทนว่าไม่รักษาสัจจะวาจาที่เคยมีให้กันสมัยความหลงยังครอบงำอยู่ และสร้างกรรมใหม่ต่อกันไปเสียอีกโดยไม่ได้ใช้หนี้กรรมเก่าเลย

อธิบายเป็นกงกรรมกงเกวียน หรือกฎแห่งกรรมก็คือ กรรมเก่าของเรา กรรมใหม่ของเขา มันเป็นวงจร เพราะกรรม () ที่เราเคยทำไว้ส่งผลให้เรามาเจอกับคนที่มีอนุสัย(นิสัย)แบบนี้เพื่อส่งผลทางใจให้เขาทำกรรม () กับเรา (ตามที่เราเคยทำกับคนอื่นให้ทุกข์แบบนั้น) ซึ่งคนที่ก่อกรรม () กับเราก็จะต้องไปรับผลที่ทำกรรม () โดยไปเจอกับคนที่ก่อกรรม () และทอดต่อๆ สืบกรรมกันไปเป็นวงจรอุบาทว์ที่ไม่มีวันจบ วนไปวนมาอย่างนี้และซับซ้อนยิ่งขึ้น การตัดวงจรก็ควรตัดที่ส่วนของเราให้ได้ก่อน เป็นการชิงออกจากเกมงูกินหาง โดยกรรมจะหมดช้าจะหมดเร็วนั้น ขึ้นอยู่กับที่แต่ละคนสะสมไว้

กฎแห่งกรรมนั้นไม่เคยไม่เที่ยงตรง สร้างเหตุไว้อย่างไรก็ย่อมได้รับผลเช่นนั้นแน่นอน ที่จะไม่ยอมรับเพราะบอกว่าเราดีกับเขา แต่เขาไม่ดีกับเรานั้นจึงเป็นการเข้าใจผิดของเราเองที่ว่า เราทำกรรมกับคนนี้อย่างไร คนนี้จะต้องทำกรรมแบบเดียวกันกับเราคืนมาเป๊ะเดี๋ยวนี้ตอนนี้ (ลองคิดง่ายว่าเราดีกับทุกคนที่เข้ามาดีกับเรา ตอบแทนเขาได้เท่าที่เขาทำให้เราหรือเปล่า) เช่น เราคิดว่าเราดีกับแฟนคนนี้ แฟนคนนี้ก็ต้องดีกับเรา จึงจะเรียกได้ว่า ทำดีได้ดี ซึ่งในความเป็นจริงแล้วกรรมจะเลือกจัดสรรให้เราได้รับผลทั้งร้ายและดีที่เราเคยทำไว้แน่นอน แต่ไม่จำเป็นต้องได้รับตอบจากคนๆ เดิมที่เราเคยทำเสมอไป

เช่นกรรมที่เราเคยทำไว้กับพ่อแม่ อาจจะเคยพูดไม่ดีกับท่าน ทำให้ท่านเสียใจ เราก็อาจได้รับผลนี้จากแฟน จากเพื่อนที่ทำงาน และคนอื่นได้ เพราะเราไม่เคยแคร์พ่อแม่ เราจึงพูดไม่ดีกับท่าน และเพราะว่าเราไม่แคร์ท่าน ดังนั้นถ้าท่านพูดไม่ดีกับเรา เราก็อาจจะไม่รู้สึกเจ็บช้ำแบบเดียวกัน กรรมจึงจะจัดสรรให้เราพบ เราเจอ เรายึด เรารักคนใหม่ ที่จะสามารถดึงดูดให้เราต้องทุกข์ แบบเดียวกับที่พ่อแม่ทุกข์มากเพราะรัก เพราะยึดเรามาก

ดังนั้นเวลาจะกล่าวอ้างถึงกฎแห่งกรรมนี้ ก็ต้องใช้กับทั้งสองข้าง อย่าใช้ข้างเดียว อย่างที่มักจะได้ยินใครหลายคนพูดกันเป็นประจำ เวลาเผชิญกับคนไม่ดีที่มาทำสิ่งที่เขาไม่ชอบใจว่าเดี๋ยวมันก็เห็น ว่ากรรมมีจริงหรือทำกับเราอย่างนี้ เดี๋ยวกรรมก็สนองเข้าให้บ้างนี่คือการเข้าใจข้างเดียวเพราะถ้าเข้าใจอย่างถ่องแท้และมองอย่างเป็นกลางจะรู้ว่า กฎแห่งกรรมได้ให้ผลกับคนที่กล่าวเช่นนั้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

ปลดทุกข์

พุทธศาสนาสอนในเรื่องเหตุและผล ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การที่เราได้หรือเผชิญอะไรอยู่นั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ ล้วนแล้วแต่เป็นผลจากกรรมที่เราทำมาทั้งสิ้น อธิบายให้เข้าใจเรื่องกรรม กรรมคือการกระทำโดยเจตนาที่เราทำไปแล้ว ซึ่งจะมีผลตามมาเสมอ โดยกรรมจะส่งผลตรงมาที่ความรู้สึก

เมื่อกรรมส่งผล กรรมอาจจะชักจูงให้เราไปอยู่ในสถานการณ์คล้ายหรือต่างกัน แต่ความรู้สึกที่เรารู้สึกจะเหมือนกันกับที่เราเคยทำไว้กับคนอื่นไม่มีผิดเพี้ยน ดังนั้นหากอยากรู้ว่าไปทำกรรมอะไรจึงต้องมารู้สึกแบบนี้ก็ไม่ต้องไปถามใครที่ไหน ให้ดูเข้ามาข้างในใจ ที่ความรู้สึกที่ปรากฎอยู่ เพราะเหตุและผลของกรรมส่งมาที่กายและใจเราทั้งหมดแล้ว

เมื่อมีทุกข์ก็ให้ดูไปตรงที่ความรู้สึกที่ปรากฎทุกครั้งที่ระลึกถึงเรื่องนั้นๆ รูปแบบของกรรมที่เราทำไว้ ผู้ถูกกระทำในอดีตก็รู้สึกอย่างเดียวกับที่คุณรู้สึกอยู่นี้ ถ้าเรารู้สึกไม่เป็นกลางต่อเรื่องใดๆ หรือเรียกได้ว่ายิ่งจี๊ดมากเท่าไหร่ ก็เป็นตัวสะท้อนถึงระดับความรุนแรงของเหตุที่เราเคยได้สร้างไว้นั่นเอง

ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงชีวิตให้ดีขึ้น ก็ต้องลงมือปรับเปลี่ยนใหม่ที่ตนเอง โดยต้องเข้าใจกฎของธรรมชาติก่อนว่า เราไม่สามารถย้อนอดีตไปแก้ไขเรื่องที่ผ่าน หรือกรรมที่ทำไปแล้วได้ เราจึงหลีกเลี่ยงการที่จะได้รับผลนี้ไม่ได้ แต่ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลของกรรมได้ แต่เราสามารถเลือกกระทำกรรมที่จะส่งผลให้เรามีทุกข์ทางใจน้อยลงเมื่อวิบากส่งผล และสามารถเลือกสร้างเหตุที่จะทำให้ไม่ต้องเจอความทุกข์แบบนี้อีกตลอดไปได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนที่วิธีคิดอันมาจากมุมมองหรือจุดยืน เพราะทุกข์เกิดขึ้นที่ใจ การจะพ้นทุกข์ได้ก็ต้องแก้ที่ใจล้วนๆ และต้องแก้ให้ถูกด้วยวิธีการดังนี้คือ

ข้อแรก แก้ให้ถูกตัว คือ แก้ที่ตัวเราใจเราแทนที่จะโทษคนอื่น หรือพยายามไปเปลี่ยนที่คนอื่น เช่น เปลี่ยนให้เขาทำตามอย่างที่เราหวังให้เป็น ให้คนอื่นทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วเราจะมีความสุขมากขึ้น ก็ให้กลับมาเปลี่ยนที่ตัวเราเองก่อน ด้วยเหตุว่า เราต้องการแก้ปัญหาความทุกข์ของเรา เราจะรู้สึกทุกข์ รู้สึกแย่อย่างไร ก็ด้วยกรรมที่เราเคยมีเจตนาทำให้ผู้อื่นรู้สึกอย่างนั้น กรรมของใครก็ของคนนั้น ความทุกข์ของเรามันมาจากกรรมเก่าของเรา แทนที่จะไปเปลี่ยนแปลงการกระทำคนอื่นในปัจจุบัน ซึ่งถ้าเขายอมเปลี่ยน เขาต่างหากที่จะเป็นผู้ได้รับผลในอนาคต แต่ถ้าเรายังใช้กรรมในส่วนของเราไม่หมด ก็เหมือนเรายังต้องเป็นทุกข์เพราะมีหนี้ หนี้ที่ยังไม่ใช้ ถ้าไม่สำนึกเราก็จะต้องไปรับผลของกรรมในอดีตจากคนอื่นในอนาคตอยู่ดี

การหลุดออกจากทุกข์ได้ จึงไม่ได้ทำได้ด้วยการต่อว่าบีบบังคับให้ใครเปลี่ยน หรือการหนี แต่หลุดได้ด้วยการยอมรับความจริงคือ ยอมรับในสิ่งที่กรรมจัดสรรมาให้ เราทำมาแค่ ๓ เราก็ต้องได้แค่ ๓ ถ้าทำมาแค่ ๓ แต่อยากได้เกินกว่านั้นเป็น ๔ เป็น ๙ ก็คงต้องทุกข์อย่างแน่นอนเพราะไม่มีทางที่จะได้เกินกว่า ๓ ตามที่สร้างเอาไว้ถ้าอยากได้ผลอย่างไรก็ต้องสร้างเหตุใหม่อย่างเดียวกันนั้น ด้วยการแก้ที่นิสัยของเรา

อ่านอย่างนี้หลายคนอาจเกิดความสงสัยอย่างหนักว่าเราเป็นผู้ถูกกระทำนะ มีคนมาทำไม่ดีกับเรา แล้วเราจะแก้ตัวเองแบบไหนล่ะ?

คำตอบนี้นำไปสู่วิธีแก้ข้อ ๒ คือ แก้ให้ถูกจุด เกาให้ถูกที่ ใส่ยาให้ถูกแผล เป็นไปตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า เราเจออะไรซ้ำๆ เพราะเราทำ ในการกระทำกรรมแต่ละครั้ง เมื่อเราทำเราก็จะมีอนุสัย (นิสัย) หรือสันดานนั้นๆ ฝังอยู่ในใจ เช่น แรกเราเป็นคนใจเย็น แต่พอโตขึ้นเรามีปัญหาเข้ามาหลายอย่าง เราก็เริ่มหงุดหงิด พอเราชินที่จะขี้หงุดหงิด เราก็จะกลายเป็นคนขี้โมโห ตัวอย่างเมื่อกรรมส่งผลก็เช่น ถ้าเราขี้โมโห เราชอบพูดจาไม่ดีกับคนอื่น ใช้โทสะหรือความโกรธนั้นๆ ในการกระทำกรรม ทำให้คนอื่นรู้สึกแย่ รู้สึกไม่ดี พอกรรมมันจะสนอง มันจะส่งให้เราไปเจอ หรือไปอยู่ท่ามกลางคนที่พูดจาไม่รักษาน้ำใจ ทำให้เรารู้สึกไม่ดี รู้สึกแย่เช่นกัน (สาวๆ สวยๆ ที่เอาแต่ใจ พึงระวัง เห็นเจอแบบนี้หลายรายแล้ว ^^) ซึ่งถึงแม้ว่าเรารับผลของกรรมแล้ว แต่ถ้าจิตยังไม่เรียนรู้ ยังไม่ยอมเปลี่ยนนิสัย ยังเลือกที่จะทำแบบเดิมโดยไม่เชื่อว่ามันเป็นผลจากสิ่งที่เราทำ จิตยังไม่ได้เรียนรู้ว่ามีอะไรที่ไม่ดีที่ยังค้างอยู่ในจิตให้ต้องสืบภพ จิตก็จะมีอนุสัยสืบต่อให้ไปทำกรรมแบบนั้นแล้วได้รับผลแบบเดิมอีก และโดยมากจะยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะธรรมชาติของจิตมนุษย์นั้นไหลลงต่ำ ที่อยู่จะกลับนิสัยจากร้ายเป็นดีได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ถ้าไม่ทุกข์หนักๆ จริงๆ ไม่ย้อนกลับมาดูที่ตนเอง ก็จะไม่มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ข้อบกพร่องของตัวเอง มีแต่จะเคยชินยิ่งนานยิ่งสะสมนิสัยด้านไม่ดีไว้มากขึ้น ดังนั้นหากเราจะถอดถอนวงจรการรับผลของกรรมนี้ เราก็ต้องหยุดที่ต้นเหตุ คือตัวเรา คือนิสัยที่จะสืบเนื่องให้เราได้รับผลของกรรมนั้นต่อไป

โดยนัยนี้คือการเลิกขุดหลุมที่กรรมขุดล่อไว้ให้ตกลงไป โดยเห็นว่าสิ่งที่เราได้รับนั้นคือ สิ่งที่ควรกัน เหมาะสมกันแล้วกับสิ่งที่เราเคยทำมาในอดีต เป็นสิ่งที่เราต้องรับ แทนที่จะตีโพยตีพาย แทนที่จะไปโวยวาย ก่อกรรมใหม่ หรือสร้างหนี้ใหม่เพิ่มโดยไม่ได้ชดใช้หนี้เก่า ก็จะเต็มใจทยอยชดใช้ไป ด้วยการสำนึกว่าเราเคยไปทำให้คนอื่นรู้สึกแบบนี้ และเข้าใจแล้วว่าก้อนทุกข์นี้มันทำร้าย สร้างความเจ็บปวดให้เขาอย่างไร (เพราะเราเจอมาแล้วกับตัวเอง)

ถ้านึกขึ้นได้ว่าเคยทำกับใครไว้ในชาตินี้ (ผู้ที่ถูกกระทำไม่จำเป็นว่าต้องเป็นแฟนเก่า กิ๊กเก่าเท่านั้น แต่โดยมาก มากกว่าร้อยละ ๕๐ เป็นกรรมที่เราทำไว้กับพ่อแม่ รองลงมาจึงเป็นแฟนเก่า คู่รักเก่า คนที่มาชอบเรา และอื่น)  ให้รีบไปขออโหสิกรรมจากคนเหล่านั้นโดยเร็วที่สุด ตั้งสัจจะกับตนเอง อาจจะต่อหน้าคนที่เราเคยไปกระทำเขาไว้ หรือต่อหน้าพระพุทธรูปว่า เราจะไม่ทำกรรมอย่างนี้กับใครอีกไม่ว่าจะมีเหตุการณ์มาบีบบังคับ ลำบากเพียงใด แต่ถ้านึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออกจริงๆ ว่าเคยไปทำอะไรแบบนี้ไว้กับใครตอนไหนในชาติปัจจุบันก็เป็นไปได้ว่าเป็นผลของกรรมที่เราทำมาในอดีตชาติ ก็ขอให้ระลึกขออโหสิกรรม และตั้งใจอย่างเดียวกันว่าจะไม่ทำแบบนี้อีก

การตั้งใจ อันมีเจตนา และสัจจะอธิษฐานที่จะละเว้นการกระทำนี้เอง คือศีล ซึ่งเป็นมโนกรรมที่ส่งผลในการปกป้องทุกข์ทางใจเป็นอันดับแรก เพราะว่าความตั้งใจทางมโนกรรมนั้นเป็นการกระทำด้วยเจตนาอย่างหนึ่งซึ่งจะต้องมีผลตามมาซึ่งผลของกรรมนี้ก็คือ ปราการป้องกันใจเราจากทุกข์ (เพราะเราตั้งใจไม่ให้ผู้อื่นเป็นทุกข์) ยิ่งตั้งใจหนักแน่นมากขึ้นเท่าไหร่ ความหนักแน่นในการปกป้องทุกข์ก็จะยิ่งมั่นคงขึ้นตาม

เมื่อเรามีศีลจิตใจก็จะเริ่มสงบจากการแส่ส่ายร้อนรนเพราะความทุกข์ ความตั้งใจที่จะละเว้นนี้ จะส่งผลให้จิตเกิดความปกติ เกิดนิสัยที่จะสำรวมการกระทำทางกายและค่อยเคลื่อนมาที่ การสำรวจวาจา คำพูดและในที่สุดก็คือ ความคิด อันเป็นต้นเหตุว่าสิ่งใดนำไปสู่การละเมิดใจผู้อื่น เมื่อเราสำรวจเข้ามาบ่อยเข้า และตัดไปเป็นครั้งๆ มากเข้าก็จะกลายเป็นเปลี่ยนนิสัย หรือตัดกรรมส่วนนี้ได้อย่างเด็ดขาด นั่นจึงจะเป็นทางออกจริงๆ ที่จะทำให้ทุกอย่างจบลงอย่าง Happy Ending

การทดลองวิธีแก้กรรมโดยแก้ที่ต้นเหตุตามกระบวนการนี้ ย้ำอีกครั้งว่า สาระสำคัญของการแก้วิบากกรรมคือ

.       เข้าใจกฏแห่งกรรม

.       ชำระหนี้เก่า (ยอมรับสิ่งที่ได้เจอ สำนึกผิดให้ได้ก่อนในระดับ ที่จะไม่ทำอีกเลยและไปขออโหสิกรรมจากคนที่เราไปทำเขาไว้ รวมทั้งอโหสิให้กับคนที่ทำกับเรา) 

.       สร้างเหตุใหม่ที่ดี (ตั้งใจว่าจะไม่ทำให้ใครทุกข์แบบเดียวกับที่เราทุกข์อีกแล้ว หรือไปแนะนำช่วยคนอื่นไม่ให้ทำผิดตามเรา)

การทดลองนี้พี่ชายได้เคยทดลองทำมาแล้วด้วยตัวเอง และได้แนะนำให้คนอื่นได้ทดลองมาแล้วเป็นหลายร้อยครั้ง รวมทั้งตัวดิฉันเอง ถ้าสำนึกผิดอย่างแท้จริงถึงระดับที่ไม่พยายามรักษามันไว้อีกต่อไป เช่น เมื่อมีผู้กล่าวถึงความผิดนั้นก็ไม่โกรธเคือง และไม่ระคายใจเพราะเห็นแล้วว่าสิ่งนั้นนิสัยนั้นไม่ใช่เรื่องดี ไม่ใช่เรื่องเสียหน้า ตรงกันข้ามคือเห็นว่านิสัยแบบนั้นไม่ดีและเป็นสิ่งที่ต้องพากเพียรขัดเกลามันออกเพื่อทิ้งนิสัยนี้ไปให้หมด จนกระทั่งสามารถพูดอย่างเปิดเผยถึงความผิดนั้นๆ ทุกขั้นทุกตอนโดยละเอียดเสมือนว่าไม่ใช่เรื่องของเรา โดยสามารถพูดกับใครก็ได้ที่สนใจเพื่อเขาจะได้ไม่ทำผิดพลาดแบบเดียวกับที่เราเคยทำไปในอดีต รวมทั้งจะไม่กลับไปกระทำอย่างนั้นอีกแม้จะมีสิ่งดึงดูดใจให้กระทำ ก็จะพบว่าทุกข์ทางใจจะลดลงในชั่วข้ามคืน และคนรอบตัวที่ก่อเหตุแห่งทุกข์ก็จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้เห็นในหลักไม่กี่วัน และเรื่องราวจะ
จบลงสิ้นเชิงในหลักไม่กี่เดือน

ในอีกด้านหนึ่ง ถ้ายังโกรธเมื่อมีใครพูดถึงพฤติกรรมที่ไม่ดีของตน หรือยังพยายามปิดบัง กลบเกลื่อน อ้างเหตุผลต่างๆ นานาเพื่อปกป้องว่าสิ่งที่เคยกระทำนั้นดีแล้ว ถูกแล้ว มีเหตุผลอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อจะได้ไม่เป็นผู้ผิด(หรือผิดน้อยลงหน่อย) หรือยังกล่าวโทษผู้อื่นว่าเป็นผู้ผิดหรือมีส่วนผิดที่มากระทำเอากับเรา นี่แสดงว่ายังไม่ทิ้ง นิสัยนั้น ยังพยายามปกป้องหรือเก็บรักษานิสัยนั้นไว้ในตนเอง นี่ยังไม่ใช่การสำนึกผิด ยังมีโอกาสกลับไปทำอีก และจะต้องไปรับผลนั้นซ้ำอีก จนกว่าจะยอมทิ้งมันไปโดยถาวร

อธิบายให้เห็นภาพในการหยุดวงจรส่วนของเราว่า การสร้างเหตุและผลนั้นเหมือนเราเป็นคนปลูกต้นไม้ ต้นไม้จะหยุดเติบโต เมื่อเราหยุดให้น้ำ เช่นกัน การรดน้ำต้นไม้แห่งกรรมจะสิ้นสุดลง เมื่อจิตเราหมดเหตุที่จะสร้างกรรมชนิดนั้นต่อไป ซึ่งหมายถึงการที่เราสำนึกได้แล้วอย่างเด็ดขาดว่า ถ้าเราทำกรรมอย่างนี้แล้ว เราจะ ได้รับกรรมอย่างนั้นๆ ซึ่งมันเชื่อมโยงกันได้ แต่การหยุดให้น้ำไม่ได้ หมายความว่าต้นไม้จะตายในทันที เช่นกัน การหยุดรดน้ำต้นกรรม ผลของกรรมก็จะไม่ได้หยุดลงในทันที แต่จะส่งผลไปอีกระยะหนึ่งให้เราได้ใช้กรรมจนกว่าเชื้อกรรมที่เราเคยทำไว้หมดลง ต้นกรรม ก็จะแห้งและตายไปในที่สุด ทำนองเดียวกับต้นไม้เล็กๆ หยุดรดน้ำ ไม่กี่วันก็ตาย แต่ถ้าเป็นต้นไม้ยืนต้น ขนาดใหญ่สัก ๖ คนโอบ หยุดรดน้ำแล้ว คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะตายและหยุดให้ผล แต่ก็ยังดีกว่าเราไม่รู้ตัวและให้ปุ๋ยให้น้ำมันไปเรื่อยๆ และจะต้องรับผลของต้นกรรมนั้นไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ถ้าคุณตั้งใจดีแล้ว และได้ลองปฏิบัติตามนี้ก็หวังใจไว้ได้เลยว่าไม่นานจะออกจากวงจรกรรมนี้ได้ แต่คนส่วนมากอาจพลาด เพราะส่วนใหญ่ติดในทุกข์ หวงทุกข์เอาไว้ เพราะมีความไม่รู้เป็นเครื่องผูก ไม่รู้ว่าที่เราได้ เรามี เราเจออะไรเพราะผลของกรรม กรรมมันหลอกให้เรามาหลง มายึด มารักคนนี้เพื่อส่งผลให้เราได้รับผลจากกรรมที่เราทำมา ถ้าเราไม่มีสติ ไม่รู้ตัว กอดความทุกข์นี้ไว้ เราก็จะไม่ก้าวหน้าไปไหน และต้องเจอกับความทุกข์ซ้ำ แต่ถ้าเรา เลือกเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนการกระทำ เปลี่ยนนิสัยไปในทางที่ดี แฟนหรือคู่รักจะเป็นคนเดิมหรือไม่ ไม่สำคัญ เพราะถึงตอนนั้นใจจะคลายความยึดจากเหยื่อคือเขา/เธอตามกรรมที่ส่งมาหลอก และเราจะได้รับผลจากการกระทำดี ด้วยการมีความสุขนั่นเอง

แนะนำเพิ่มเติมอีกหน่อยนึงว่า ถ้าเกิดว่าเราระลึกไม่ออกว่าได้เคยไปทำผิดกับใครไว้ และอาจทำให้ไม่สามารถรู้สึกระลึกถึงความผิดนั้นเพื่อจะได้รู้สึกสำนึกออกมาจากใจ เป็นไปได้ว่าเราอาจยังไม่ได้สร้างเหตุให้เข้าใจกรรมของตัวเองได้เพียงพอ แนะนำให้ลองไปทำทานประเภทสละของใช้ที่เป็นของตัวเองแต่ไม่ใช้แล้วให้กับคนที่ยากไร้หรือขาดแคลนจริงๆ เพื่อเป็นการสอนใจให้ใจเลิกยึด รู้จักสละของที่รู้สึกว่าเป็นของตนออก จะทำให้ใจสามารถเปิดรับสิ่งดีได้ง่ายขึ้น หรือถ้ามีความทุกข์แต่อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ยังไม่สามารถเข้าใจได้แนะนำให้ลองทำบุญด้วยการให้ธรรมะ แต่เน้นว่าต้องเป็นธรรมะที่เป็นไปเพื่อความเห็นไตรลักษณ์(อนิจจังทุกขังอนัตตาคือความเปลี่ยนแปลงความไม่สามารถทนอยู่และความไม่ใช่ตัวตน) ในกายและใจ จนเกิดความปล่อยวางเป็นสำคัญ เพื่อช่วยเหลือคนอื่นๆ โดยมีเจตนาจะให้เขาพ้นทุกข์ (ถ้าให้เพื่อช่วยเหลือเรื่องความรักก็จะตรงจุดมากยิ่งขึ้น) จะทำให้ใจสามารถรับและเข้าใจธรรมะได้มากขึ้น

 

ใช้ใจทำทาน ใช้ใจรักษาศีล เพื่อให้ใจออกจากกรรม

คุณทราบหรือไม่ว่าพระพุทธศาสนาสอนอะไรหลายคนถูกประกาศตัวว่าเป็นชาวพุทธมาแต่กำเนิด (โดยพ่อแม่ หรือใครก็ตาม) และบอกใครเสมอมาว่าเรานับถือศาสนาพุทธ แต่ความเป็นจริงแล้วไม่เคยรู้เลยว่าที่แท้พุทธศาสนาสอนอะไร และมีประโยชน์ต่อการมีชีวิตอยู่ขนาดไหน พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งในระดับการดำเนินชีวิตอย่างสงบสุขในสังคม ไปจนถึงการออกจากทุกข์ถาวร

หลายคนอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับเรื่องไตรสิกขา  อันได้แก่ อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา  (หรือเรียกโดยย่อว่า ศีล สมาธิ ปัญญา)

ไตรสิกขานี้เกี่ยวข้องเป็นประโยชน์ทั้งในระดับการดำเนินชีวิต และการออกจากบ่วง ออกจากวงจรความทุกข์ โดยเราสามารถได้ประโยชน์ทั้งสองอย่างสูงสุดด้วยการมีเป้าหมายของใจที่จะศึกษาการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของความทุกข์ทางใจทุกชนิดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โดยในจุดนี้ขอเพิ่มเรื่องทานเข้าไปเพื่อเป็นฐานแรกในการพาใจออกจากทุกข์

ในส่วนของทานหลายคนคงได้ยินมาบ้างว่าการให้ทาน เป็นเหตุหรือเป็นบุญที่ส่งผลให้เราร่ำรวย ไม่ลำบากในชาติต่อไป นี้เป็นส่วนของประโยชน์ในการดำเนินชีวิต ในการอยู่กับโลก แต่ในแง่การทำให้ออกจากทุกข์ถาวรนั้น การได้ทำทานที่เป็นทานจริงๆ เป็นประจำ คือมีกิริยาทางกายที่เป็นการให้ และประกอบด้วยกิริยาทางใจที่เป็นการสละสิ่งของที่เป็นของเรา เมื่อทำบ่อยจนคล่องแคล่วชำนาญจะเป็นการฝึกใจให้รู้จักปล่อยวางสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นของเรา ซึ่งจะมีประโยชน์มากในการฝึกใจให้รู้จักการปล่อยวางความทุกข์ด้วย ทำให้ไม่ทุกข์นาน ลองสังเกตจิตใจเปรียบเทียบกัน ระหว่างที่ได้ทำทานด้วยการสละการไม่ถือไม่ยึดจะให้ความรู้สึกโปร่งโล่ง แต่เวลาที่มีความทุกข์ มันจะรู้สึกหนักและแน่น ที่มันหนักมันแน่นก็เพราะใจเรายึด เราถือมันไว้ ดังนั้นที่เรามีทุกข์ก็เพราะเราไม่เคยรู้ตรงนี้ และเพราะใจเราเคยชินที่จะถือมากกว่าปล่อย 

ส่วนเรื่องการรักษาศีล หลายคนที่ได้ศึกษาพุทธศาสนามาบ้าง คงเคยได้ยินว่าการรักษาศีลเป็นการปกป้องเราจากภยันตราย อันเนื่อง มาจากการที่เราไม่เบียดเบียนผู้อื่น ก็จะไม่มีใครมาเบียดเบียนเรา และการรักษาศีลอย่างหมดจดคือการไม่กระทำกรรมใดๆ ตามอำนาจกิเลสอันเป็นเหตุให้เกิดความเศร้าหมอง ผลที่ได้จึงเป็นไปในทางตรงกันข้ามคือจะส่งผลตกแต่งให้กาย/หน้าตาผิวพรรณดูผุดผ่อง สดใส สะสมไปมากก็จะเป็นฐานบุญให้ชาติใหม่มีรูปร่างหน้าตาที่สมส่วนดูดี ส่วนในแง่การรักษาศีลที่มีประโยชน์ต่อการฝึกตนฝึกใจนั้น  หลวงปู่เหรียญ วรลาโภเคยกล่าวไว้ว่าคนเราละเมิดศีลกันก็เพราะกรรมที่เคยกระทำมาส่งผลให้เท่านี้ๆ แล้วยังไม่จุใจ ทางเดียวที่จะได้มาก็คือต้องไปเอาส่วนที่เป็นของคนอื่นมาเป็นของเรา จึงมีการละเมิดศีล คือไปละเมิดของที่ไม่ใช่ของเราการรักษาศีลจึงเป็นการฝึกความตั้งใจที่จะไม่ละเมิดผู้อื่นด้วยความอยากอันเป็นก้าวแรกที่นำชีวิตของคนเราไปสู่ความทุกข์

หากเราได้มีการรักษาศีลไว้ดี ใจจะรู้จักสละความอยากครอบครองที่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น เมื่อฝึกจนจิตเกิดความชำนาญก็จะมีผลช่วยลดระงับความเร่าร้อนในความอยากนั้นๆ เนื่องจาก มีความเข้าใจ เห็นโทษ เพราะสามารถเชื่อมโยงได้ว่า การละเมิดใจผู้อื่น ในวันนี้ จะนำไปสู่การถูกละเมิดใจในวันหน้าอย่างแน่นอน คือสุขที่ได้ในตอนนี้จะพลิกเป็นทุกข์มหันต์ในวันหน้าได้ จึงมีผลทำให้ใจรู้จักระงับยับยั้งไม่หลงไปกระทำตามความอยากจนไปก่อกรรมที่จะทำลายความสุขทั้งของเราเองในอนาคตและความสุขของคนรอบข้างในปัจจุบัน

กล่าวโดยรวบยอด การทำทานและรักษาศีลนั้น ตอบโจทย์ของการอบรมจิตเพื่อป้องกันทุกข์จากทั้งสองปัญหาใหญ่ คือ ทานนั้นแก้ปัญหาทุกข์จากการกลัวจะเสียไป ส่วนศีลนั้นเป็นการแก้ปัญหาทุกข์เพราะกลัวไม่ได้มา ด้วยการสละออกที่เริ่มตั้งแต่ที่ใจ คือพร้อมจะสละในสิ่งที่ไม่ใช่ส่วนของตน แทนที่จะดับความอยากนั้น ด้วยการพยายามไปครอบครองของที่ไม่ใช่ของตน ซึ่งจะไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ที่ความอยากของเรา แต่เป็นการก่อกรรมใหม่อันจะเป็นผลให้เราต้องชดใช้และมีความทุกข์ไปเรื่อยตามเหตุที่เราได้เคยทำให้ผู้อื่นทุกข์ใจไว้

เมื่อจิตรู้จักสละละวางความยึดด้วยการหมั่นทำทานและรักษาศีลบ่อยเข้า เกิดความสนใจ ใส่ใจดูการกระทำของจิตบ่อยๆ จนเกิดความเคยชิน จิตก็จะเกิดความฉลาดหรือปัญญาในการดูจิตมากขึ้นๆ เป็นลำดับต่อมา คือเห็นกระบวนการทำงานของจิต รู้ตั้งแต่จิตกำลังทะยาน(ตัณหา)ไปอยากได้ของที่ไม่ใช่ของเรา ทะยานไปยึดของที่เป็นของเราแล้วแต่อาจจะเสียไปหรือกำลังจะเสียไปว่า ตัณหา(ความอยาก)นี้แหละคือสมุทัย(เหตุแห่งทุกข์) หรือทุกข์ทั้งก้อน ถัดจากนั้นเมื่อรู้ใจตนเองมากเข้าก็จะเห็นได้ว่า ที่มันทะยานเรื่อยนี่เพราะมันมีความเห็นผิดว่าเป็นเราเป็นตัวเราคืออัตตา ก็ดูอยู่ที่จิตนี่แหละจนกว่าจะเห็นอนัตตา(ความไม่ใช่ของฉัน ความสั่งไม่ได้) คือเห็นว่าทุกอย่างที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นตัวเราทั้งร่างกายและจิตใจนี้มันไม่ใช่ของเรา ร่างกายนี้ทั้งหมดทุกโมเลกุลคืออาหารที่ยืมมาจากโลก เวลาทุกข์สั่งให้สุขไม่ได้ เวลากำลังสุขจะไปสั่งให้มันทุกข์ก็ไม่ได้คือเข้าถึงธรรมด้วยการปล่อยวางความเป็นตัวเรา ทิ้งความเป็นเรา เมื่อหมดความเห็นผิดว่าเป็นตัวเรา หมดความยึดจากการเฝ้าสังเกตใจ ก็จะหมดการกระทำอันจะนำหรือก่อให้เกิดภพ เกิดชาติ และเกิดทุกข์ทางใจได้ถาวร

 

รู้ได้อย่างไรว่าหมดกรรมแล้ว

ที่เราจะหมดกรรมได้ ก็เพราะใช้กรรมนั้นจนหมด และไม่มีจิตคิดสร้างกรรมใหม่ที่จะส่งให้ได้รับผลอย่างนี้อีก ถ้าเราหมดกรรมหรือได้ใช้กรรมชนิดนี้ไปบางส่วนแล้ว ใจจะไม่รู้สึกเจ็บแค้น หรือผูกพยาบาท หรือถ้ารู้สึกก็จะเบาบาง เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ลักษณะนี้ แต่ถ้ายิ่งผูกพยาบาทอาฆาตร้ายแรงเท่าไหร่ก็สะท้อนว่าเรายังมีหนี้ใจที่ยังติดค้างไม่ได้ชำระ มากเท่ากับความเจ็บแค้นพยาบาทที่เรากำลังรู้สึกอยู่นั่นเอง

เมื่อเราได้ใช้กรรมเรื่องใดหมด ถ้าเรายังมีกรรมด้านอื่นร่วมกับเขาอยู่ (ทั้งในด้านบุญและบาป) เราทั้งคู่ก็ยังมีชีวิตอยู่ร่วมกันต่อไปตามเหตุปัจจัยที่เราสร้างและได้ร่วมสร้างกันมา แต่ถ้าหมดกรรมกันแล้วทั้งหมด ใจเราที่รู้สึก ที่มีต่อเขาก็จะหมดตาม เราอาจจำเรื่องราวทุกอย่างที่เขาทำกับเราได้ทุกเรื่อง แต่รู้สึกเหมือนเป็นเรื่องของคนอื่น เมื่อเจอหน้ากัน เราก็จะไม่รู้สึกเจ็บ หรือจี๊ดขึ้นมาอีก เหมือนตอนเลิกกับแฟนคนแรกแล้วรู้สึกทุกข์เจียนตาย แต่พอมีแฟนใหม่ก็ทุกข์เพราะแฟนใหม่ ลืมความทุกข์ที่เคยเกิดขึ้นกับแฟนคนเก่าไปแล้วแม้ว่าอาจจะยังจำเรื่องราวได้อยู่ก็ตาม คำว่า ไม่รู้สึกอะไร ก็หมายถึงไม่ได้มีความรู้สึกไม่อยากเจอด้วย จะเป็นความรู้สึกเห็นหน้าเขาแล้วเหมือนเห็นหน้าเพื่อน หรือคนที่รู้จักคนหนึ่งซึ่งสามารถยิ้มทักทายได้เพราะไม่ได้รู้สึกผูกกับทุกข์ทางใจนั้นแล้ว และถ้าหมดกรรมและเกิดปัญญาเข้าใจเรื่องกรรมแล้ว เรามักจะเกิดความกรุณา คือ หวังให้เขาพ้นจากทุกข์ที่เขาจะต้องไปรับ (เพราะกรรมที่มาก่อกับเราไว้) ต่อไปในอนาคต จนสามารถอโหสิกรรมให้เขาได้จากใจ ไม่ว่าจะได้เอ่ยปากหรือไม่ก็ตามที


 © Copyright 2011. เหตุเกิดจากความรัก.