แผนที่นักเดินทาง
รวบรวมคำสอนสั้นๆที่พี่ชายเคยให้ไว้ค่ะ
แต่มาจากหลายตอนหน่อย เนื้อหาอาจจะไม่ปะติดปะต่อกัน
แต่คิดว่าเป็นประโยชน์กับทุกคนได้แน่นอนค่ะ
เพราะ ญ ก็เดินมาตามวิธีการที่พี่ชายสอนตามนี้ :)
โดย นายโจโจ้
แต่ละคนเป็นนักเดินทาง เราเดินทางกันมาจากคนละทิศละทาง เดินมาถึงจุดๆหนึ่งที่เราจะเจอคนๆนี้ และแล้วก็ตกลงเดินทางร่วมกันไป แต่ตกลงเพียงว่าจะเดินร่วมทางนะครับโดยไม่ได้ทำความเข้าใจเรื่องเป้าหมายรวมไปถึงวิธีการเดินทาง
ด้วยเหตุดังกล่าว พอทั้งสองคนเริ่มเดินทางไปด้วยกัน ไม่นานก็จะพบความไม่เสมอกัน ไม่เท่ากันในวิธีการเดินทาง
บางคนชอบเดินทางกลางวัน บางคนชอบเดินทางกลางคืน บางคนชอบเดินผ่านเมือง บางคนชอบไปในป่า ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ
รายละเอียดทั้งหมดที่คนสองคนมีความแตกต่างทางสังคม ฐานะ พื้นฐานการศึกษา การใช้ชีวิต แถมด้วยความไม่เสมอกันภายใน เช่นศีล ศรัทธา ปัญญา จาคะ
********
ทำให้ดีที่สุดในแต่ละปัจจุบันขณะที่ผ่านเข้ามาในชีวิตครับ
สร้างเหตุให้ดีที่สุด ซึ่งผลมันจะส่งในปัจจุบันไม่มากเท่ากับที่จะไปส่งในอนาคตครับ
เหตุที่สร้างแต่ละอัน กว่ากรรมจะให้ผล ก็เหมือนการปลูกต้นไม้นะครับ เป็นหลายๆปีหรืออาจจะข้ามชาติ ถ้าจะให้กรรมที่สร้างให้ผลชาตินี้ ต้องทำซ้ำทำซากเป็นร้อยเป็นพันครั้งเพื่ออบรมจิตของเราให้เปลี่ยนนิสัยไปครับ
********
การช่วยคนอื่นจะทำให้เราเดินไปข้างหน้าได้เร็วขึ้นมาก และไม่ว่าอย่างไร ทุกคนต้องเดินไปด้วยตัวเองแน่ๆอยู่แล้วครับ
สาเหตุคือเราต้องเป็นผู้เห็นเองและวางสิ่งต่างๆที่ยึดถือเอาไว้ลงด้วยตัวเอง
ปัจจัยที่เหลือคือเพื่อนร่วมทาง เพราะการเดินทางนี่มันต้องมีล้ม มีเหนื่อย มีท้อ มีถอย มีเพลินเดินออกไปข้างทาง การมีกัลยาณมิตรที่ช่วยเตือนเวลาเดินออกนอกทางหรือหยุดเดินไปเพลินกับอะไรข้างทางนานเกินไปก็เป็นปัจจัยที่จะช่วยเวลาเกิดพลาดครับ ซึ่งในประเด็นนี้ การทำบุญร่วมกับเพื่อนผู้มีสัมมาทิฏฐิจะเป็นสิ่งที่ลดโอกาสที่จะพลาดจากกัน เพิ่มโอกาสที่จะมีผู้ชักชวนไปในทางดี ทางสว่างในกรณีที่หลุดไปนอกเส้นทางครับ
********
เราทุกคนกำลังรับผลกรรมอยู่ทุกวินาทีครับ หลักการแก้ที่ universal ที่สุดคือ ถ้ากำลังทุกข์ใจเรื่องไหน ก็ให้ "สำนึกผิด" และตั้งใจจะไม่ทำให้ใครรู้สึกอย่างที่เรากำลังรู้สึกทุกข์อยู่นั้นครับ ความตั้งใจ(สมาทิยามิ) จะละเว้นการกระทำ(เวรมณี สิกขา)ที่อาจส่งผลให้ผู้อื่นทุกข์ จะเป็นตัวปกป้องใจเราให้ทุกข์น้อยลงในเบื้องต้นหรือไม่ทุกข์เลย แต่ผลที่เราเคยกระทำไว้ในอดีต เราจะต้องเผชิญกับมัน เพียงแต่ด้วยใจที่ทุกข์มากหรือน้อยครับ
ถูกหรือผิดเฉยๆไม่มีครับ มีแต่ว่าทำแล้วได้ผลอะไร ซึ่งจะตอบคำถามนี้ ต้องรู้เป้าหมายก่อนครับ ว่าเป้าหมายคืออะไร ถัดจากนั้นจึงจะตอบได้ ว่าสิ่งที่ทำนี้ ทำให้เข้าใกล้หรือห่างออกมาจากเป้าหมาย ทำให้เดินออกนอกทาง เดินช้าลง มีอุปสรรคมากขึ้นหรือน้อยลง ทำให้ได้ตัวช่วยหรือตัวขัดขวาง
********
กรรมทุกก้อนที่เรากระทำมาในอดีตชาติทั้งหมด มันให้ผลผ่านทางความรู้สึกของเราเป็นสัดส่วนมากที่สุดครับ
ด้วยเหตุดังกล่าว ถ้าเราเผชิญกับเรื่องแบบไหนซ้ำๆ ไม่หลุด หรือหลุดมาก็มาเจออีก แปลได้เลยว่านั่นเป็นกรรมเก่าที่เราทำไว้แน่นอน และไม่ต้องไปถามใครที่ไหนว่าทำไว้แบบไหน ให้ดูไปตรงๆที่ความรู้สึกที่กำลังปรากฏทุกครั้งที่ระลึกถึงเรื่องนั้นๆนั่นแหละครับ รูปแบบของกรรมที่เราทำไว้ ผู้ถูกกระทำในอดีตก็รู้สึกอย่างเดียวกันกับที่เรากำลังรู้สึกนี่เอง
ด้วยเหตุดังกล่าว(อีกที) แทนที่จะโทษคนอื่น หรือพยายามไปเปลี่ยนที่คนอื่น เช่นเปลี่ยนให้เขาทำตามที่เราหวังให้เป็น เช่นทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วเราจะมีความสุขมากขึ้น ก็ให้กลับมาเปลี่ยนที่ตัวเราก่อน ด้วยเหตุว่า เราต้องการแก้ปัญหาความทุกข์ของเรา ซึ่งความทุกข์ของเรา มันก็มาจากกรรมเก่าของเรา - แทนที่จะไปเปลี่ยนแปลงการกระทำของคนอื่นในปัจจุบัน ซึ่งถ้าเขายอมเปลี่ยน เขาต่างหากที่จะเป็นผู้ได้รับผลในอนาคต ไม่ใช่เรา
ดังนั้น(อีกที) จะพ้นจากความทุกข์ในปัจจุบันได้ ต้องแก้ที่ใจเราล้วนๆ เริ่มต้นด้วยความสำนึกเสียก่อน ว่าเราต้องเคยทำอย่างที่เรากำลังรู้สึก และบัดนี้เราเข้าใจแล้ว ว่าการกระทำ(อย่างที่เราได้เผชิญไปนั้น)อย่างนี้ๆ นำมาซึ่งความรู้สึกแบบนี้ และถูกกระทำเข้าแล้ว เสียใจอย่างไร ก็ตั้งสัจจะกับตนเอง กับพระพุทธรูป หรือกับสิ่งที่นับถืออย่างมั่นคง ว่าจะหลีกเลี่ยงไม่ทำให้ใครรู้สึกอย่างที่เรากำลังรู้สึกอยู่นี้อีกเลยไม่ว่าจะเดือดร้อนสาหัสปานใดก็ตาม
การตั้งเจตนา ตั้งสัจจะจะละเว้นการกระทำ คือตัวศีลตรงๆ ซึ่งศีลนี่แหละครับ ที่เป็นมโนกรรมที่ให้ผลเป็นการปกป้องใจจากความทุกข์เป็นลำดับแรก ยิ่งตั้งใจได้หนักแน่นแค่ไหน ความหนักแน่นในการปกป้องก็มั่นคงไปตามกัน
ดูสมการนี้นะครับ การตั้งใจ = มโนกรรม = ใจมีการตั้ง(สมาทาน)ไว้ว่า "จะไม่กระทำให้ผู้อื่นทุกข์" ผลของกรรมใหม่นี้ก็คือ มีสิ่งปกป้องใจจากการที่ต้องเผชิญกับเหตุการที่เคยทำให้เราทุกข์ ก็จะเริ่มกลายเป็นไม่ทุกข์
การเห็นผลว่าทุกข์น้อยลงจากการสมาทานศีล ก็เท่ากับบรรลุผลของศีลสิกขาไปอีกหนึ่งครั้ง ตอกย้ำความศรัทธาในไตรสิกขาไปอีกหนึ่งครั้ง เพิ่มความมั่นคงในการรักษาศีลไปอีกหนึ่งส่วน
จากนั้น เมื่อจิตเริ่มสงบลงจากการมีศีล การที่มีความตั้งใจละเว้นการกระทำ จะส่งผลให้จิตเกิดความปกติ เกิดนิสัยที่จะสำรวจการกระทำทางกาย (กายกรรม) และค่อยๆเคลื่อนเข้ามาที่การสำรวจวจีกรรม และในที่สุดก็มโนกรรมอันเป็นต้นเหตุ ว่ามีสิ่งใดที่จะนำไปสู่การละเมิดใจ เพื่อจะได้หลีกเลี่ยงไม่กระทำ คือตัดได้ ห้ามมันได้ตั้งแต่เหตุจากหยาบไปละเอียด และนิสัยในการสำรวจกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนี่เอง ที่จะกลายเป็นตัวสติ หรือความรู้สึกตัว รู้สึกใจได้ในสิกขาลำดับต่อไป คือจิตตสิกขานั่นเอง
นายโจโจ้
***********************
คำสอนที่จริงก็รวบสรุปได้สั้นๆ แต่ที่ใช้เวลาก็เพราะ มีทุนมีหนี้มาไม่เท่ากัน
ต้องใช้อาวุธ(อุบาย)ต่างกัน ตามวาระและเวลา
และที่สำคัญต้องใช้ใจที่มุ่งมั่น และลงมือทำจริงๆ ก็จะเห็นผลตามนี้
คอนเฟร์มค่ะ:)
มีอะไรดีๆก็มาแชร์กัน ขอให้ทุกคนมีความสุขมากๆนะ^^