อย่าจำนนต่อกรรมเก่า
BY Mali
ได้อ่านเรื่อง "ไม่จำนนต่อกรรมเก่า"
ของพระไพศาล วิสาโล (จากหนังสือ ยั้งคิดย้ำธรรม) แล้ว
อยากสรุป (ด้วยสำนวนตัวเองตามเคย) เอามาแบ่งปันกันดู
คือเรามักเชื่อกฏแห่งกรรม ในแง่ที่ว่า
เราได้คำตอบ(มั้ง) ว่าทำไมปัจจุบันเราถึงได้สุขหรือทุกข์อย่างนี้
พระอาจารย์ไพศาลได้แจงไว้ว่า
"กฏแห่งกรรมนั้นมีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้เราตระหนักว่า
ชีวิตของเรานั้นสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการกระทำของเราเอง
มิใช่ด้วยการดลบันดาลของเทพยดาหรือพระเจ้า
กล่าวอีกนัยหนึ่ง
กฏแห่งกรรมช่วยให้เราเห็นคุณค่าของความเพียร
แต่ทุกวันนี้กฏแห่งกรรมถูกใช้เพื่อสะกดให้ผู้คนยอมจำนนกับปัญหา
โดยไม่คิดที่จะทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองหรือสถานการณ์"
ในสังคม คนที่ไม่เชื่อในกฏแห่งกรรม
แล้วทำอะไรแย่ๆ มีมากมาย
กฏแห่งกรรม ถ้าใครเชื่อ อย่างน้อยก็ยังเป็นเครื่องเตือนใจ
ให้เวลาทำอะไรไม่ดี ก็ยังตระหนักบ้างว่าผลไม่ดีจะสะท้อนมาที่ตัวเอง
ในที่นี้เราไม่พูดถึงคนที่ไม่เชื่อกฏแห่งกรรม
เรามาพูดถึงคนที่เชื่อกฏแห่งกรรมไปแล้วกัน
คนที่เชื่อกฏแห่งกรรม ก็ใช่ว่าจะนำมาใช้อย่างถูกทาง
ทัศนคติเกี่ยวกับกฏแห่งกรรมก็เพี้ยนไปเพี้ยนมา
อย่างเช่น
บางคนเห็นคนทำอะไรเลวๆยังอยู่ดี
ก็โมโหว่ากรรมไม่สนองอย่างที่ใจอยากจะให้เป็นสักที
พาลเสื่อมศรัทธากับกฏแห่งกรรมไปซะอย่างนั้น
ส่วนถ้าตัวเองเผลอพลาดทำอะไรไม่ดี
ก็จะตู่ว่าไม่ได้มีเจตนาไม่ดี ไม่บาปหรอก
หรือมีเหตุสมควรให้ทำ ไม่บาปหรอก
มองกฏแห่งกรรมเป็นเครื่องมือ double standard ไปซะอย่างนั้น
อีกมุมหนึ่งของคนเชื่อกฏแห่งกรรม (หรืออยากเชื่อ)
ที่จะพูดวันนี้ คือ
พวกเราๆที่เชื่อกฏแห่งกรรม แต่บางครั้งก็เชื่อเพี้ยนไปจากความเป็นพุทธะ
เชื่อไปในมิติแบบลัทธิกรรมเก่า (ปุพเพกตเหตุวาท)
คือความเชื่อที่ว่า สิ่งใดก็ตามที่ได้ประสบ
จะเป็นสุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ตาม
ล้วนเป็นเพราะกรรมที่ได้ทำไว้ในปางก่อน
ตอนที่เราแข็งแรง สบายดี
เราก็คิดได้ว่า เราต้องทำดีไปเรื่อยๆ
อย่าพึงรับประทานบุญเก่าแต่เพียงถ่ายเดียว
เพราะไม่วันใดก็วันหนึ่ง ถ้าไม่ผลิตเพิ่ม บุญเก่าก็ต้องหมดไซโล
แต่เวลาที่เราอ่อนแอ ไขว่คว้าหาความสบายใจ
หาสิ่งที่จะบรรเทาทุกข์ได้ ณ ตอนนั้น
กฏแห่งกรรมก็กลายเป็นคำตอบสำหรับทุกอย่าง
แต่เราอาจะเผลอมองมันในแง่เดียว
ไม่สามารถมองรอบได้เหมือนตอนที่เราแข็งแรงดี
มันทำให้เราคลายทุกข์ในแง่ที่ว่า
ใช่แล้ว มันเป็นเพราะกรรมที่เราเคยทำมาปางก่อนนั่นเอง
ไม่ใช่เพราะคนอื่นใด เราต้องรับกรรมนี้แหละ
มันก็ฟังดูสบายใจกว่าที่เราจะทุกข์โดยไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย
แต่นั่นเป็นด้านเดียวของกฏแห่งกรรม
เวลาที่เราต้องการกฏแห่งกรรมมาเป็นคำตอบให้สบายใจ
เรามักลืมไปว่า สิ่งที่เราเจอในวันนี้
อาจจะเป็นผลของสิ่งที่เราทำเพียงเมื่อเดือนที่แล้ว หรือเมื่อวาน
และสิ่งที่เราทำในวันนี้
มันก็กำหนดผลในอนาคตอันใกล้และไกลของเราอีก
เราลืมไปว่า ชีวิตเรา เราลิขิตเองในทุกๆช่วงเวลา
สิ่งที่เราคิด เราตัดสินใจตอนนี้ มันก็มีผลในชีวิตอนาคต
เราลืมไปว่า เราต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้เราไม่วนลูปอยู่ตรงนี้ต่อไป
ทางเลือกของเราไม่ใช่เพียงแค่ก้มหน้ารับสิ่งที่เราคิดว่าเป็นกรรมของเรา
และอย่างที่เราเขียนไว้ในไดเมื่อวานในไดอิสว่า
"เราจะกลายเป็นฟาย ไม่ใช่คน"
ดังที่พระอาจารย์ไพศาล ยกพุทธพจน์มาว่า
"เมื่อบุคคลมายึดเอากรรมที่ทำไว้ในปางก่อนเป็นสาระ
ฉันทะก็ดี ความพยายามก็ดี ว่าสิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ ก็ย่อมไม่มี"
พระอาจารย์ได้ยกตัวอย่างว่า
มีภรรยาคนหนึ่ง โดนสามีข่มเหง
คำแนะนำที่มักจะให้กับฝ่ายหญิงก็คือ
ให้ยอมทนไปเรื่อยๆ เพราะนี่เป็นผลของกรรมเก่า(หรือวิบาก)ที่ต้องชดใช้
นี่เป็นการใช้กฏแห่งกรรมที่ทำให้ผู้คนยอมจำนนต่อปัญหา
"...การทนให้เขาทำร้ายนั้นไม่ใช่เรื่องของกรรมเก่าหรือชดใช้กรรมแล้ว
และกรรมใหม่ที่ผู้หญิงเลือกที่จะทนให้ผู้ชายมากระทำย่ำยีนี้เอง
ที่เป็นตัวการทำให้เธอต้องระทมทุกข์..."
"แต่อีกด้านหนึ่งของกฏแห่งกรรมซึ่งเป็นจุดเน้นที่สำคัญของพุทธศาสนา
ก็คือการสร้างกรรมใหม่ในปัจจุบันเพื่อปรับปรุงเปลี่ยนแปลงชีวิตของตน
ให้เป็นไปในทางที่ดีงาม
แต่ความเข้าใจในปัจจุบันกลับไปเน้นที่กรรมเก่า
และการยอมจำนนต่อกรรมเก่า"
เวลาเราทุกข์
อย่าเพียงคิดแต่ว่ามันเป็นกรรมที่เราต้องรับทุกข์
แต่อย่าลืมคิดและทำให้เราออกจากวังวนแห่งทุกข์ดังกล่าวด้วย
เพราะถ้าเรายอมจำนนต่อทุกข์นั้นต่อไป
มันจะไม่ใช่คำตอบที่ทำให้เราออกมาจากตรงนั้น
เพราะเราไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร
เราแค่ยอมที่จะมีชีวิตอยู่อย่างนี้ เป็นการเพิ่มเหตุ
และผลก็คือ เราอาจจะต้องอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ
แทนที่จะได้ลาออกจากลูป อย่างที่หวัง
เพิ่มเติม บทวาม "ไม่จำนนต่อกรรมเก่า"
********
คำตอบอยู่ที่เรา ทำทุกข์ให้ดีกว่าเดิม