การแก้ปัญหา(คนอื่น)
ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องความรัก แต่นำไปใช้ได้กับความรักและการแก้ปัญหาชีวิตรวมถึงการนำไปช่วยกันทำให้สิ่ง รอบตัวเราดีขึ้นค่ะ ก็เลยเอามาฝาก :)
* การแก้ปัญหาชีวิตให้คนอื่น เป็นเรื่องยุ่งยากลำบากมิใช่น้อย เพราะเรื่องราวที่เกี่ยวกับชีวิตของเขาที่เราไม่รู้นั้น มีมากกว่าที่เรารู้หลายเท่านัก เหมือนเราเห็นก้อนน้ำแข็งลอยอยู่ในน้ำ ส่วนที่โผล่ขึ้นเหนือน้ำให้เราเห็นได้นั้นน้อยนัก ส่วนที่จมอยู่ในน้ำซึ่งเราไม่เห็นมีมากกว่าหลายเท่า ส่วนประกอบหรือสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในชีวิตของใคร เขานั้นแหละที่รู้ดีที่สุด ถ้าเขาใช้ปัญญาแก้ปัญหาชีวิตของตนให้เหมาะสมกับตนก็จะทำได้สำเร็จเรียบร้อยทีเดียว ...อ.วศิน อินทสระ
พี่โจ้คอมเมนท์: ในฐานะที่แก้ปัญหาหนักๆให้คนมาหลายร้อยคน ผมมีความเห็นไปในทางตรงกันข้ามครับ สาเหตุคือ ตัวคนที่อยู่ในปัญหานั้นเขาจะ "เมาหมัด" จนอ่านอะไรไม่ออก ตัดสินอะไรก็ไม่ได้ คือไม่สามารถเห็นตัวเองและปัญหาของตนเองได้อย่างเป็นกลางพอ ในขณะที่คนนอก จะสามารถเห็นเขาได้ดีกว่าที่เขาจะเห็นตัวเอง คนที่มองจากวงนอกที่ไม่เกี่ยวกับเขา ไม่ได้ยึดมั่นในปัญหาใดๆของเขา คือไม่ใช่พ่อ ไม่ใช่แม่ ไม่ใช่พี่น้องหรือญาติ จะสามารถช่วยเขาได้ดีกว่าที่เขาจะช่วยเหลือตัวเองมาก
ยกตัวอย่างเช่น "ป้ามล" ทิชา ณ นคร แห่งบ้านกาญจนภิเษก ผู้ให้ชีวิตใหม่กับเด็กที่เดินทางผิดมานับจำนวนไม่ถ้วนแล้ว ก็เพราะเด็กเหล่านั้นมองปัญหาด้วยตนเองไม่ออก แต่คุณป้าเป็นคนนอกจึงมองออก และชี้ทางให้เด็กๆเหล่านั้นแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง โดยมีควา...มใส่ใจและประสบการณ์ชีวิตของคุณป้าเป็นเครื่องนำทาง มีเด็กจำนวนนับไม่ถ้วนที่เคยเดินทางผิด เคยทำแท้งด้วยตนเอง เคยเข้าสถานพินิจฯ มาแล้ว หรือแรงถึงขนาดเคยฆ่าคนตายมาแล้ว ก็สามารถกลับใจได้ ถ้าได้ผู้ใหญ่ที่มาใส่ใจกับปัญหาของเขาจริงๆสักคนเดียวก็พอ
ไม่ใช่ผู้ใหญ่ชนิดที่มีปัญหาก็ไล่ออกจากโรงเรียนท่าเดียว จะเอาเกรดเฉลี่ยของโรงเรียน "ของฉัน" ให้ดูสวย เป็นโรงเรียนดี แต่ทิ้งปัญหากองโตไปให้สังคม โยนปัญหากลับไปให้พ่อแม่ โรงเรียนประเภทนี้นี่แหละครับ ที่ครูไม่ทำหน้าที่ของครู และการไม่ทำหน้าที่นี่แหละ ต้นเหตุของปัญหาสังคมที่แท้จริง เมื่อศาลไม่ตัดสินคนผิด เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจไม่ใช้อำนาจจัดการกับปัญหา ยอมให้สิ่งอื่นๆมามีอำนาจเหนือความถูกต้องตามหน้าที่ สังคมพังทลายตรงที่ผู้มีหน้าที่ไม่ทำตามหน้าที่ครับ
เพราะประเด็นนี้เลยครับ คนที่จะช่วยได้ ต้องไม่ใช่พ่อ แม่ ญาติ เพื่อน แต่ต้องเป็นคนที่เห็นเขาด้วยความเป็นกลาง ความเห็นได้อย่างเป็นกลางหรืออุเบกขา เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเห็นปัญหา จากนั้น ศรัทธาระหว่างตัวเขากับผู้ที่เห็นปัญหา เป็นปัจจัยรองลงมาที่เขาจะฟังและนำไปไตร่ตรองและปฏิบัติครับ
พูดจากประสบการณ์ล้วนๆที่ทำสำเร็จมาหลายร้อยแล้ว โอกาสมีน้อยเพราะมีน้อยคนเหลือเกินที่จะใส่ใจคนที่ไม่ใช่ญาติไงครับ เพราะคนส่วนใหญ่มักจะเห็นว่า ไม่ใช่ญาติ จึงไม่มีความจำเป็นต้องทุ่มเท ในขณะที่ญาติและเพื่อนก็ช่วยไม่ได้เพราะมองไม่เห็นปัญหา ปัญหาก็จะยังอยู่ตรงนั้นต่อไป เพราะคนที่ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่เพื่อน แต่มีความใส่ใจนี่แหละ คือคนที่จะช่วยได้ดีที่สุด
ขอเล่าให้ฟังเพิ่ม นะครับ ผมได้ยินอาจารย์ทางธรรมพูดถึงพระลูกศิษย์ครูบาอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมากมา หลายสิบปี บวชมาแล้ว 20 พรรษา สึกออกมาแต่งงานแล้วให้ผู้หญิงหาเลี้ยง ก็เกิดจากความไม่ใส่ใจ และเกิดจากการไม่ปฏิบัติ ไม่ได้เจริญสติ และการทำมาหากินมันยาก ตอนเป็นพระก็แจกหลักการสวยๆ ฟังดูดีให้โยมมา 20 ปีแต่ไม่เคยลงมือทำอย่างจริงจังเลย โยมฟังแล้วก็รู้สึกว่าหลักการนี่ดี แต่ไม่รู้จะเอาไปใช้งานยังไง เพราะหลักการเหล่านั้นไม่ได้มาจากการปฏิบัติ นี่เป็นสาเหตุที่ผมจึงเน้นที่การปฏิบัติและผลจากการปฏิบัติครับ
ยกเรื่องจริงอีกตัวอย่างหนึ่ง ดร.จบสื่อสาร ถูกเลือกไปเป็นกรรมการสถานีวิทยุสื่อสาร แต่ไม่เข้าใจเรื่องสายอากาศ ไม่เข้าใจเรื่องเครื่องรับส่งวิทยุ แต่ก็ไม่กล้าแสดงว่าตนเองไม่รู้ คนเลือก ก็เลือกด้วยความไม่รู้ เลือกเข้าไปเพราะเชื่อว่าด็อกเตอร์ต้องรู้ แต่คนที่ไม่รู้ ก็ไม่กล้าบอกว่าตนเองไม่รู้ ต่างคนต่างอยู่แบบต่างคนต่างไม่รู้ และคิดว่าอีกฝ่ายต้องรู้กันต่อไป ไม่มีใครลงมือทำอะไร ทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันว่า มันยาก มันลำบาก ดังนั้นอย่าไปทำมันเลย มันยาก มันลำบาก มันมีรายละเอียดเยอะ สุดท้ายให้ช่างซ่อมเครื่องยนต์ตามหมู่บ้านต่างจังหวัดเป็นผู้ตั้งสถานี ต่อสาย เสียบสาย เลือกชนิดสายอากาศ นี่ก็ผลของความไม่รู้ แต่ไม่มีใครเห็นว่าตนเองยังไม่ได้พยายามอย่างเพียงพอเลย นั่งในห้องแอร์สวยๆประชุมกัน รอ supplier เอาของมาให้เลือก เอาแผ่นพับมาให้ดู ปล่อยให้คนที่เรียนมาน้อยที่สุดแต่พยายามมากที่สุดไปทำงาน ที่มาแสดงความเห็นนี่จะขอเน้นสิ่งนี้ของสังคมไทยครับ ขออภัยถ้าบังเอิญไปกระทบใครเข้า แต่มันคือความจริงในสังคมไทย และเป็นสาเหตุสำคัญที่สังคมนี้เจริญได้ยาก เพราะคนคิดว่ามันยากนี่แหละครับ
ผมสรุปว่าสังคมไทยเป็นอย่างนี้ จึงเจริญได้ยากและยิ่งไปกว่านั้นยังเสื่อมลงเรื่อยๆ เพราะคนคิดว่ามันยาก รายละเอียดมันเยอะ ดังนั้นจึงปล่อยมันไว้ก่อนไม่ต้องทำหรอก(เพราะมันยาก) เดี๋ยวใครที่เดือดร้อนก็แก้ไขกันไปเอง ซึ่งการแก้ไขมันไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้โดยบังเอิญ
ถ้าสิ่งไหนยากและรายละเอียดเยอะ ควรลงไปทำก่อน ทำทันที ทำเป็นอย่างแรก ไม่ใช่ปล่อยไปเพราะมันยาก เพราะรายละเอียดมันเยอะ ผมเห็นอย่างนี้จริงๆโดยบริสุทธิ์ใจครับ _/|\_
ทำให้นึกถึงที่หลวงพ่อชาท่านเล่าถึงพระที่ปล่อยให้หลังคากุฏิรั่วไม่ยอมซ่อมแล้วบอกว่า ผมปล่อยวางครับหลวงพ่อ
ขออนุญาตค้านคำนี้ครับ "เขานั้นแหละที่รู้ดีที่สุด ถ้าเขาใช้ปัญญาแก้ปัญหาชีวิตของตนให้เหมาะสมกับตนก็จะทำได้สำเร็จเรียบร้อย ทีเดียว" ถ้าเขาเห็น เขาแก้ได้ เขาแก้เองไปนานแล้ว ไม่ต้องปล่อยให้ปัญหามันอยู่ไปเรื่อยๆ
สารภาพว่า ทีแรกก็กังวลอยู่บ้างก่อนเขียนความเห็นที่อาจจะกระทบใจ แต่เมื่อพิจารณาที่จิตแล้ว ว่าเห็นอย่างนี้จริงๆ และถ้าปล่อยไปอย่างนี้ สังคมก็จะเป็นไปอย่างนี้ ทุกคนก็จะปล่อยให้มันเป็นไป ปล่อยให้ "เขาใช้ปัญญาแก้ปัญหา" ไปเรื่อยๆ ทั้งสังคมก็จะต้องรอไปจนกว่า "เขา" เกิดปัญญาพอที่จะแก้ไขได้เอง ซึ่งไม่มีทางรู้ว่าเมื่อไหร่ และผู้ที่มีปัญญาเห็นปัญหาทำไมไม่ช่วย "เขา" ลงมือแก้เล่าครับ? และที่มาเขียนนี้ ก็ไม่ได้เขียนเพื่อตนเอง แต่ทำเพื่อส่วนรวมจริงๆ จึงเขียนแสดงความคิดเห็นจากความเห็นจริงๆในใจออกไปทั้งหมดครับ _/|\_
"ศรัทธาระหว่างตัวเขากับผู้ที่เห็นปัญหา เป็นปัจจัยรองลงมาที่เขาจะฟังและนำไปไตร่ตรองและปฏิบัติครับ"
ถ้าเป็นผู้เห็นปัญหาจริงที่แก้ไขปัญหาได้จนจบมาพอสมควร ผู้มีปัญหาจะรู้สึกได้และเกิดศรัทธาขึ้นมามากพอที่จะรับฟังแ.ละนำไปปฏิบัติ ครับ และด้วยสาเหตุเดียวกันนี้ ที่ศรัทธาพละ เป็น1 ใน พละ 5 ที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ ถ้าไม่มีศรัทธา ความพ้นทุกข์ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ครับ ต้องมีทั้ง ศรัทธา วิริยะ ซึ่งจะนำไปสู่การเจริญสติ สมาธิและปัญญาในที่สุด ซึ่งถ้าผู้ที่รู้แล้ว(ซึ่งต้องแก่และต้องตายลงสักวัน)ไม่ส่งเสริมพละทั้ง 5 ประการนี้แก่ผู้ยังไม่รู้ คนรุ่นใหม่ของสังคมก็มีแต่จะเสื่อมลงเรื่อยๆ ผมจึงค้านการรอให้คนเกิดปัญญาเอง เพราะมันไม่มีทางเกิดได้เองโดยบังเอิญ แต่เกิดได้จากการส่งเสริมและถ่ายทอดอย่างเป็นระบบ ซึ่งต้องมีการทำงาน ต้องมือเปื้อน ตัวเปื้อน ต้องเหนื่อยจากการลงรายละเอียด