ครองรัก ครองเรือน ครองธรรม
โดย พระพรหมคุณาภรณ์
จากหนังสือ “ครองเรือน ครองรัก จักเลิศแท้ ด้วยครองธรรม”
ฆราวาสธรรม แปลว่า หลักธรรมสำคัญสำหรับการครองเรือนหรือหลักธรรมสำหรับฆราวาสนั่นเอง ตรงไปตรงมา ฆราวาสธรรม ก็คือธรรมสำหรับฆราวาส
ที่จริง ฆราวาสในที่นี้ไม่ได้หมายถึงบุคคล แต่แปลว่าการครองเรือน ธรรมะสำหรับการครองเรือน และไม่ใช่เฉพาะคู่ครอง ชาวบ้านทุกคนต้องใช้ทั้งนั้น โดยเฉพาะก็เริ่มจากผู้ที่มามีชีวิตร่วมกัน ซึ่ง ท่านแสดงไว้ ๔ ข้อ คือ
๑.สัจจะ แปลว่า ความจริง ทำไมพระพุทธเจ้าจึงเริ่มด้วยความจริงก่อน เดี๋ยวต้องมาดูกัน
๒. ทมะ แปลตามตัวว่าการฝึก การฝึกหมายถึงการทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าหรือการพัฒนานั่นเอง เพราะคนเราจะมีความเจริญก้าวหน้าได้จะต้องมีการฝึก
๓. ขันติ แปลว่าความอดทน ซึ่งแสดงถึงความเข้มแข็ง ความอดทนที่แสดงออกในทางรูปธรรม ก็คือ ความทนทาน หรือแข็งแรง ทนทาน นั่นเอง
๔. จาคะ แปลว่า ความเสียสละ เรื่องความสุขที่ได้พูดไปก็มาลงที่นี่ด้วยคือความสามารถสละความสุขของตนเพื่อผู้อื่น สำหรับคู่ครองก็หมายถึงสามารถสละความสุขของตนเพื่อคู่ครองได้ ซึ่งเมื่อพูดด้วยภาพทางบวกก็เรียกว่ามีน้ำใจนั่นเอง การที่เราสละความสุขของเราเพื่อผู้อื่นได้ก็คือเรามีน้ำใจ พอพูดว่ามีน้ำใจ ก็จะทำให้รู้สึกหนักแน่น และมีความรู้สึกในทางที่ดีงามยิ่งขึ้น
ธรรม ๔ ข้อนี้นี่แหละเป็นหลักสำคัญ แม้แต่ยังไม่มีธรรมข้ออื่นเลยมีเพียง ๔ ข้อนี้ ก็พอที่จะทำให้ชีวิตคู่ครองดำรงอยู่ได้ด้วยดี
ทีนี้ก็มาดูธรรม ๔ ข้อนั้นในความหมายสั้นๆ
ความจริงใจต่อกัน เป็นฐานที่มั่นของชีวิตคู่ครอง
ข้อที่ ๑ สัจจะ แปลว่าความจริง เริ่มจากจริงใจ เช่นรักจริง
คนเรานี้ ในความสัมพันธ์ระหว่างกันจะต้องมีความจริงใจเป็นข้อที่ ๑ และจริงใจนี้สำคัญที่สุด ถ้าขาดความจริงใจก็คือเตรียมหลอกลวงเท่านั้นเอง และถ้าขาดสัจจะคือความจริงใจแล้วทุกอย่างจะง่อนแงนไปหมด เพราะฉะนั้นความจริงใจนี้ท่านจึงถือเป็นรากฐาน ต้องมีไว้ก่อน
เมื่อเริ่มต้นด้วยความจริงใจแล้วก็กลายเป็นความซื่อสัตย์ ซึ่งทำให้เกิดความหนักแน่นมั่นคงเมื่อมีความจริงใจแล้วต่อมาก็ออกทางวาจา คือพูดจริง แล้วก็ออกทางการกระทำ คือพูดไปแล้วหรือสัญญาไปแล้วทำตามนั้น ไม่ใช่ปล่อยเรื่อยเปื่อยละเลยไม่เอาใจใส่
เมื่อมีความจริง ก็ถือว่ามีรากฐานที่เข้มแข็งมั่นคง อะไรๆ ที่ตั้งอยู่บนรากฐานที่มั่นคงก็มั่นใจได้น่าจะดำรงอยู่ได้ดีและยั่งยืน
แต่ถ้าขาดความจริงเสียแล้ว ทุกอย่างก็คลอนแคลนหมด แล้วต่อไปก็มีแต่ความง่อนแง่นหวาดระแวงและว้าเหว่
เพราะฉะนั้นข้อที่ ๑ คือสัจจะจึงเป็นรากฐานที่ต้องให้มีเป็นอันดับ แรก
ปรับตัวได้ ให้ข้อแตกต่างเป็นส่วนเติมเต็ม
ต่อไปข้อที่ ๒ ทมะ แปลว่าการฝึก เป็นธรรมสำคัญตามหลักที่ทางพระถือว่า มนุษย์เป็นสัตว์พิเศษที่ฝึกได้ พัฒนาได้ ศึกษาได้ เรียนรู้ได้ และจะประเสริฐด้วยการฝึก
มนุษย์ที่ฝึกแล้วจึงจะประเสริฐ ยิ่งฝึกมากก็ยิ่งประเสริฐมากจนกระทั่งเมื่อฝึกดีเยี่ยม ก็จะประเสริฐจนกระทั่งเทวดาพระพรหมหันมากราบไหว้มนุษย์
ตอนแรกมนุษย์พากันไปไหว้เทวดา ไหว้พระพรหม แต่ทางพุทธศาสนาบอกว่ามนุษย์เราต้องฝึกตัวเอง ถ้ามนุษย์ฝึกศึกษาดีเเล้วเทวดาและพระพรหมกลับมากราบเรา ด้วยความดีของเราเอง
เราไม่ได้ยกตัวหรอก แต่หมายความว่าเทพพรหมเหล่านั้นเห็นความดี คือคุณธรรมและปัญญาของเราแล้ว ก็เคารพนับถือ โดยเฉพาะปัญญาความรู้-คิด-เข้าใจนี้มนุษย์ต้องฝึกขึ้นมา
การฝึกเริ่มต้นด้วยการปรับตัว เพราะเหตุว่าคนที่มาอยู่ร่วมกันนี้ย่อมเป็นธรรมดาที่จะมีพื้นฐานนิสัยใจคอต่างๆ ไม่เหมือนกัน แม้แต่ตัวเราเองคนเดียวนี้ก็ยังเปลี่ยนแปลงต่างกันไปได้ บางทีแค่ช่วงเวลาเดี๋ยวหนึ่งก็เปลี่ยนไป เราก็แปลกหรือขัดใจตัวเองได้ ยิ่งมาอยู่สองคนขึ้นไป อาการกิริยาวาจาต่าง ๆ ก็อาจจะมีแปลกหูแปลกตากันได้เป็นธรรมดา ท่านจึงสอนธรรมข้อ ทมะ นี้ไว้
ทมะในความหมายแง่นี้เป็นบทพิสูจน์ความสามารถในการฝืกตนขั้นต้น คือการปรับตัวได้ โดยเฉพาะการปรับตัวเข้าหากัน ไม่ให้ความแตกต่างเป็นความขัดแย้งแต่จะให้ดีต้องให้ความแตกต่างเป็นส่วนเติมเต็ม
ความแตกต่างมีความหมายสองแบบ ความแตกต่างนั้น ถ้าใช้ไม่เป็นก็จัดเป็นความขัดแย้ง แต่ถ้าปฏิบัติถูกต้อง ความแตกต่างก็จะช่วยให้เติมเต็ม เพราะว่าคนเรานี้ไม่มีใครสมบูรณ์สักคน เมื่อสองคนมีข้อแตกต่างแต่นำมาเสริมกัน ก็กลายเป็นดีและทำให้สมบูรณ์
เพราะฉะนั้น ความแตกต่างถ้ารู้จักใช้จึงกลายเป็นดี เช่น คนหนึ่งพูดน้อย อีกคนหนึ่งพูดมาก เอามาปรับเข้าด้วยกันก็เลยพูดพอดี ถ้าทั้งสองคนพูดน้อยด้วยกันก็ได้เท่าเดิม จึงเอาความแตกต่างมาปรับให้พอดีรวมความว่าปรับตัวเข้าหากัน ไม่ให้ข้อแตกต่างกลายเป็นความขัดแย้ง อีกทั้งเป็นการพิสูจน์ตัวเองด้วยว่าเรามีความสามารถในการฝึกพัฒนาตัวแค่ไหน
สรุปว่า นี่เป็นเรื่องของการฝึกตนขั้นที่ ๑ คือ ปรับตัว ตั้งแต่ปรับตัวเข้าหากัน แล้วก็ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม ปรับตัวเข้ากับคุณพ่อ คุณแม่ของทั้งสองฝ่าย ปรับตัวเข้ากับญาติมิตรทั้งหลาย ปรับตัวเข้ากับการงาน ฯลฯ ต้องปรับตัวมากมาย คนไหนปรับตัวได้เก่ง ก็มีเค้าของความสำเร็จในชีวิตมาก เพราะฉะนั้นจึงใช้การปรับตัวนี้เป็นหลักขั้นต้นในการพิสูจน์ความสามารถ เกิดเป็นคนควรฝึกตนเรื่อยไป
ต่อจากการปรับตัวก็ปรับปรุงตน ซึ่งเป็นการทำให้ดีขึ้นได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ปรับปรุงพัฒนากันเรื่อยไป ทั้งหมดนี้อยู่ในข้อ ทมะ ชึ่งแปลว่าการฝืก
อนึ่ง ทมะ การฝึกนี้ มักแปลกันว่าข่มใจซึ่งเป็นความหมายเพียงส่วนนิดเดียวของทมะ แท้จริงนั้นทมะก็คือการฝึกนั่นเอง ชึ่งหมายถึงการที่จะเจริญพัฒนาต่อไปได้อย่างกว้างขวางมากมายไม่มีที่สิ้นสุดตามคติของพระพุทธศาสนาซึ่งให้หลักไว้ว่า ทนโต เสฏโฐ มนุสเสสุ แปลว่า ในหมู่มนุษย์ ผู้ที่ฝึกแล้วประเสริฐสุด
การอยู่ร่วมกันจะมีความหมายแท้เมื่อเอาความเข้มแข็งมาเพิ่มกำลังกัน
ต่อไปข้อที่ ๓ คือ ขันติ ความอดทนแสดงถึงความแข็งแรงและทนทาน เหมือนอย่างเราก่อสร้างอะไร จะใช้วัสดุเช่นไม้ ก็ต้องหาไม้ที่แข็งแรงและทนทาน ทนแดด ทนฝน เป็นต้น
ว่าถึงในทางนามธรรม เมื่อคนเราดำเนินชีวิตไปนี้ แต่ตอนว่าสิ่งทั้งหลายรอบตัวเรามันไม่ได้เป็นไปตามใจเรา เราจะต้องพบเห็นเจอะเจอสิ่งที่เราจะต้องเข้าไปเผชิญ ผจญ ตลอดจนต้องฟันฝ่าไปอย่างน้อยก็ต้องเจอสิ่งกระทบกระทั่งต่างๆในภาวะและสถานการณ์เหล่านี้ เราต้องมีความเข้มเเข็ง โดยมีจิตใจที่อดทน ซึ่งถ้าเทียบกับทางรูปธรรม ก็เป็นความแข็งแรงทนทาน แต่ในทางจิตใจก็คือความเข้มแข็งอดทน ซึ่งจะทำให้พาชีวิตผ่านพ้นอุปสรรคขวากหนามไปได้
แกนของความอดทนก็คือความเข้มแข็ง ถ้าสองคนมีกำลังความเข้มแข็งมาคนละหนึ่ง พอมาอยู่ด้วยกัน ก็ได้กำลังความแข็งแรงเพิ่มอีกหนึ่งเป็นสอง แต่ถ้าความแข็งแรงมาลบกันก็เหลือศูนย์ เพราะฉะนั้นจึงต้องให้เป็นบวก คือมาเสริมกัน
คนที่แต่งงานถือว่าได้กำไร เพราะได้กำลังเสริมขึ้นมามาก พ่อแม่ก็เพิ่มอีกสองท่าน พี่น้องก็เพิ่มอีกสี่ห้าคน ญาติมิตรก็เพิ่มอีกเยอะแยะไปหมด คนที่แต่งงานจึงได้กำไรมากมีกำลังเพิ่ม เพราะฉะนั้นจะต้องรู้จักใช้กำลังที่เพิ่มขึ้นมานั้นให้เป็นประโยชน์ทีนี้เราก็นำกำลังรวมกันของเรานั้นมาใช้ในการที่จะทำให้ชีวิตของเราเดินไปข้างหน้า ให้มาเป็นกำลังที่เสริมกัน อย่าให้มาเป็นกำลังที่บั่นทอนกัน
อดทนสามต้าน จะผ่านอุปสรรคสู่ความสำเร็จ
ในการอยู่ร่วมกันนั้น ความเข้มแข็งอดทนจะแสดงออกมาในชีวิตประจำวัน ตามที่ท่านแยกไว้เป็น ๓ ด้าน
ด้านที่ ๑ คือ อดทนต่อความลำบากตรากตรำ ธรรมดาความลำบากตรากตรำนี้จะเน้นไปในแง่การประกอบอาชีพการงาน รวมทั้งการศึกษาเล่าเรียน ซึ่งต้องใช้ความอดทนบ่อย ๆ เช่น บางทีมีเหตุจำเป็นให้ต้องอยู่ดึกบ้าง ต้องฝ่าแดดฝ่าฝนไปบ้าง เพราะดินฟ้าอากาศไม่เข้าข้างใคร แต่เราจะต้องสู้ หรือแม้แต่ตัวงานนั้นเองที่ยากก็ต้องตรากตรำ
นี้คือด้านที่ ๑ ความเข้มแข็ง อดทนต่อความลำบากตรากตรำได้ไม่ท้อถอย ไม่อ่อนแอไม่ระย่อ นี้เป็นคุณสมบัติสำคัญ พระพุทธเจ้าตั้งแต่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ ถ้าไม่มีขันตินี้ จะไม่มีทางสำเร็จโพธิญาณเพราะฉะนั้นจะต้องมีขันติด้านที่ ๑ อดทนต่อความลำบากตรากตรำได้
ด้านที่ ๒ คือ อดทนต่อทุกขเวทนา เป็นธรรมดาของชีวิตมนุษย์บางทีเราก็เจ็บปวดเมื่อยล้า แม้แต่นั่งอยู่ที่นี่เดี๋ยวนี้อ็อาจจะเมื่อยล้าขึ้นมาหรือบางคราวเราเจ็บไข้
คนที่มีความอดทนจะไม่โวยวาย ไม่งอแงแต่จะอยู่ในเหตุผลและทำตามเหตุผล เมื่อมีโรคมีภัยไข้เจ็บก็รักษาไปตามเหตุผล ไม่ใช่ปล่อยไว้ ถ้าปล่อยไว้ก็ไม่ใช่อดทน แต่ท่านเรียกว่าประมาท ซึ่งก็เสียอีกคืออดทนในทางจิตใจที่สู้ใด้ แต่ต้องทำการแก้ไขไปตามเหตุผลให้ถูกต้อง ข้อนี้เรียกว่าอดทนต่อทุกขเวทนา
ด้านที่ ๓ คือ อดทนต่อสิ่งกระทบกระทั่งใจ ข้อนี้ตรงกับที่โบราณพูดว่า “ลิ้นกับฟันก็ยังกระทบกันได้” กล่าวคือ เมื่อคนมาอยู่ร่วมกันแม้ไม่เจตนา ก็มีทางทีอาจจะพูดไปโดยพลั้งเผลอแล้วก็ไปกระทบกระเทือนจิตใจอีกฝ่ายหนึ่ง หรือกิริยาอาการบางอย่างที่แสดงออกแม้ไม่ได้ตั้งใจก็กระทบกระเทือนถึงกันได้ ซึ่งเราควรใช้เป็นเครื่องทดสอบตัวเอง เป็นเครื่องพิสูจน์ความอดทน ไม่วู่วาม ไม่เอาอารมณ์ แต่ใช้ปัญญาเมื่อใช้ปัญญาก็กลับไปข้อ ๒ คือ ทมะ การฝึกตน ซึ่งเป็นเรื่องของการรู้จักคิดพิจารณาคือแทนที่ว่าถูกอารมณ์กระทบกระทั่งแล้วจะวู่วาม เราก็ไม่หมุนไปตามอารมณ์ แต่เราเอาเหตุผล โดยหันมาใช้ข้อ๒ ทมะ มาปรับมาฝึกมาแก้ จึงได้ข้อ ๒ กับ ข้อ ๓ มาประสานกันรวมความว่าข้อ ๓ เป็นเรี่องที่ว่าจะช่วยให้เรามีความเข้มแข็งยืนหยัด ฝ่าฟันสิ่งกีดขวางต่างๆ ไปได้
รวมกำลังกันได้แล้ว ก็มาเพิ่มพูนแผ่ขยายความสุขให้ไพศาล
ต่อไปข้อ ๔ จาคะ แปลว่าความเสียสละ แต่เวลาแปลอย่างนี้ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าจะต้องฝืนใจ คือทั้งๆ ที่ไม่อยากให้ แต่เราต้องจำใจสละอะไรอย่างนี้
คนที่ฝึกดีแล้ว จะไม่รู้สึกฝืนใจ เพราะมีคุณธรรม เหมือนอย่างคุณพ่อคุณแม่ที่มาทำมาให้แก่ลูกนั้น การสละก็ไม่เป็นสละ การให้ไม่เป็นการฝืนใจ ตัวแปรนั้นก็คือความรักนี่เอง
ความรัก ก็คือความปรารถนาดีมีน้ำใจ อยากให้อีกฝ่ายหนึ่งเป็นสุขเหมือนคุณพ่อคุณแม่ให้ของแก่ลูกก็ไม่ต้องฝืนใจอะไร แล้วก็ไม่ต้องเป็นทุกข์ แต่ให้แล้วกลับเป็นสุขด้วย เพราะว่ารักอยากให้ลูกเป็นสุข พอให้แล้วลูกเป็นสุขตัวเองก็สมใจ แล้วตัวเองก็เป็นสุข
คู่ครองก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีความรักจริง มีความเมตตา มีความรักความปรารถนาดี อยากให้เขาเป็นสุขก็จะทำเพื่อเขาได้ ใจก็คิดแต่ว่าจะทำอย่างไรให้เขาเป็นสุข อันนี้แหละคือสิ่งที่เรียกว่า “น้ำใจ”
น้ำใจนี้จะเป็นสิ่งที่ประสานให้มีความระลึกถึงกัน ทำให้จดจำอยู่ในใจ และเป็นความซาบชึ้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้มีความสามัคคีกันลึกชึ้งแน่นแฟ้น
เพราะฉะนั้น ข้อสุดท้ายนี้จึงมาเสริมธรรมข้อแรก คือสัจจะที่เป็นฐานให้มั่นคงยิ่งขึ้นโดยเป็นตัวยึดเหนี่ยวให้แน่นเหนียวมั่นคงเพราะฉะนั้นข้อสุดท้ายนี้จึงสำคัญท่านจึงเน้นว่าต้องให้มีความรักประเภทเมตตาอย่างที่ย้ำว่าคือความรักที่อยากให้เขาเป็นสุข
เมื่ออยากให้เขาเป็นสุข ก็ทำเพื่อเขาได้โดยที่เราไม่รู้สึกเป็นทุกข์และเราก็ไมรู้สึกว่าจะต้องฝืนใจ แต่ถ้าเมื่อไรไม่มีจาคะนี้ก็จะฝืนใจทันทีและจะเอาแต่ใจตัวเอง คือเรียกร้องว่าต้องมาทำให้ฉัน ถ้าไม่ทำให้ฉันก็ขัดใจกัน ทำให้มีแต่ความขัดแย้ง
แต่พอคิดว่าทำอย่างไรจะให้เขาเป็นสุข คราวนี้แหละจะมีแต่เรื่องดีทั้งนั้น จะคิดขึ้นมาก็มีแต่ว่า เอ ทำอย่างไรนะจะให้เขาเป็นสุขได้เหมือนอย่างคุณพ่อคุณแม่คิดถึงลูกว่าจะทำอย่างไรให้ลูกเป็นสุข ซึ่งดีทั้ง ๒ ฝ่าย ตัวเราก็มีความสุขเมื่อเห็นเขาเป็นสุข สุขด้วยกัน
เพราะฉะนั้น จาคะจึงเป็นธรรมะข้อสำคัญที่ท่านเอามาปิดท้ายว่าให้มีน้ำใจต่อกัน ใจกว้าง ไม่คับแคบ เปิดใจต่อกัน ยอมสละความสุขของตนเพื่ออีกฝ่ายหนึ่งได้
ถ้ามีน้ำใจ และความสุขให้แก่กันได้อย่างนี้แล้ว ไม่ว่าจะเผชิญชีวิตอย่างไรก็ไปด้วยอันได้อีกฝ่ายหนึ่งมีความลำบากเดือดร้อน ตั้งแต่เจ็บไข้ก็มาเฝ้าพยาบาลรักษาโดยไม่เห็นแก่หลับแก่นอน และก็มีความสุขด้วยเพราะมีน้ำใจต่อกัน
ต่อจากนั้นก็ขยายน้ำใจนี้ออกไปสู่คุณพ่อคุณแม่ทั้งสองฝ่ายสู่ญาติมิตร และต่อไปก็สู่เพื่อนมนุษย์ทั่วไป มีอะไรที่เราจะช่วยเพื่อนมนุษย์ให้มีความสุขหายทุกข์ยากได้ ก็ช่วยเขาไป พอเรามีกำลังมากขึ้น มีเงินมีทอง ก็ไปบำเพ็ญประโยชน์ ช่วยให้เพื่อนมนุษย์มีความสุข ความสุขของเราก็ขยายกว้างยิ่งขึ้น ยิ่งมีคุณธรรมคือความรักที่ถูกต้องมากเท่าไร ความสุขของเราก็ยิ่งขยายออกไปเท่านั้นเพราะว่าความรักในที่นี้คือความอยากให้เขาเป็นสุข เมื่อทำอะไรให้เขาเป็นสุขได้เราก็เป็นสุขด้วย เพราะฉะนั้น คุณธรรมกับความสุขจึงไปด้วยกัน ซึ่งเป็นจริยธรรมที่ถูกต้อง อันจะไม่ต้องฝืนใจ
คู่ครองเป็นคู่มิตร มาช่วยกันพัฒนาชีวิตพัฒนาสังคม
เป็นอันว่าครบ ๔ ข้อแล้ว ได้หลักฆราวาสธรรมนี้ คู่ครองก็ตั้งครอบครัว ทำให้บ้านเรือนอบอุ่น ร่มเย็นเป็นสุข มั่นคง และมีชีวิตชีวา ทวนหัวข้ออีกทีว่า
๑. สัจจะ ความจริง เป็นรากฐาน เหมือนกับต้นไม้มีรากแก้วที่มั่นคง แข็งแรง
๒. ทมะ ฝึกตน ตั้งแต่ปรับตัวจนถึงปรับปรุงตนเองพัฒนาชีวิตให้ดีงามยิ่งขึ้น
๓. ขันติ อดทน ได้แก่ความเข้มแข็งและทนทาน มีกำลังที่จะฟันฝ่าสิ่งยากลำบากไปด้วยกัน
๔. จาคะ สละได้ คือให้ความสุขของตัวแก่อีกฝ่ายหนึ่งได้ด้วยจิตใจที่มีความรักอยากให้เขาเป็นสุข ซึ่งกลายเป็นความมีน้ำใจ
เมื่อได้ ๔ ข้อนี้ ก็มั่นใจได้ว่าชีวิตคู่ครองจะมีความเจริญมั่นคงมีความสุข แล้วก็สามารถแผ่ความสุขนี้ออกไปให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเพราะชีวิตแต่งงานที่ถูกต้อง ก็คือการที่เรามาพัฒนาชีวิตของเราขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง
เราเคยอยู่คนเดียวเราพัฒนาชีวิตได้แค่นี้ เมื่อเรามาอยู่สองคนเราควรจะพัฒนาได้มากยิ่งขึ้น โดยมาช่วยกัน ให้คู่ครองเป็นกัลยาณมิตรแก่กัน อย่างที่พุทธภาษิตที่แสดงสถานะของภรรยาตามหลักพุทธศาสนาว่า ภริยา ปรมา สขา แปลว่า ภรรยาเป็นยอดมิตร หรือภรรยาเป็นยอดสหาย
การมีคู่ครอง เท่ากับว่าเราได้เพื่อนที่มาอยู่ด้วยกัน และมาเป็นที่ปรึกษามาเสริมกำลังแก่กัน จึงยิ่งพัฒนาชีวิตได้ดียิ่งขึ้น
ในเเง่นี้ชีวิตสมรสก็เลยกลายเป็นเวทีปฎิบัติธรรม ตัวเองก็พัฒนาตนมากขึ้น แล้วก็มีกำลังในการที่จะสร้างสรรค์ทำความดีมากขึ้นกับทั้งมีกำลังที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เกื้อกูลแก่โลกมากขึ้นด้วย
เมื่อมีกำลังมากขึ้นคู่ครองจะแบ่งงานกันโดยคนหนึ่งทำด้านหนึ่งๆ ก็ได้ หรือจะเสริมกันก็ได้ ในการที่จะทำความดีที่เป็นจุดหมายเพื่อสังคมและประเทศชาติ แต่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ทำได้มากยิ่งขึ้น ขอเพียงให้ตั้งจุดหมายไว้ให้ดี
เมื่อปฏิบัติได้ถูกต้องแล้ว ชีวิตแต่งงานก็เป็นช่วงแห่งความดีงามที่จะได้เสริมประโยชน์ทั้งเเก่ชีวิตตนเอง ชีวิตของครอบครัว วงศ์ตระกูลตั้งแต่บิดามารดาเป็นต้นไป ตลอดจนสังคมประเทศชาติทั้งหมด