รักไม่ยึด รักในอุดมคติ มีไหม?

“ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์”

เหตุเพราะคนส่วนใหญ่รักด้วยความยึด อยากครอบครอง ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า “สิ่งที่เข้าไปเกาะเกี่ยวยึดถือไว้โดยความเป็นตัวเป็นตน ที่จะไม่ก่อทุกข์ก่อโทษให้นั้นเป็นไม่มี หาไม่ได้ในโลกนี้”

ถามว่ารักแล้วไม่มีทุกข์ได้ไหม เป็นรักในอุดมคติเกินไปหรือเปล่า?

ตอบจากประสบการณ์ ที่เห็นมา ก็ตอบได้ว่า รักแบบนี้มีได้นะคะ รักด้วยความไม่ยึด ไม่ได้เป็นรักในอุดมคติ ยิ่งพัฒนาตนเองเท่าไหร่ ยิ่งเข้าใกล้สู่อุดมคติที่เป็นเป้าหมายได้ คนส่วนน้อยไปไม่ถึงเพราะไม่ได้ตั้งใจที่จะมี จะมีได้ต้องตั้งใจที่จะฝึกตนเอง

 

เมื่อเราเห็นโทษของการยึดว่ามันจะก่อให้เกิดโทษอย่างไรบ้าง มันก็จะเป็นแรงผลักดันให้เรารักได้ถูก

พิจารณาดูตามจริงว่าที่เราทุกข์นั้น เพราะที่ผ่านมาเราต้องการมีความรักเพื่ออะไร?

เพื่ออยู่ด้วยกัน มีกันและกัน เป็นที่พักใจให้กันและกัน มันก็คือการรักด้วยความอยากครอบครอง

เขียนไว้วันก่อนว่า

นิยามความรักต่าง ก็ทำให้เกิดปัญหานะ

ที่จริงความรักมันไม่เคยบอกว่ามันเป็นอย่างไร มันเหมือนน้ำใสๆ ใครอยากให้มันเป็นอย่างไร ก็เหมือนใส่สีลงไปในน้ำอย่างนั้น 
เวลาที่ความสุข ความรักก็เหมือนสีชมพู เวลาที่มีความทุกข์ ความรักก็เหมือนสีดำ
ความรักของแต่ละคนแตกต่างขึ้นลงไปตามอารมณ์ และนิยามของตนเอง

บางคนความรักคือเซ็กซ์ก็มี ถ้าเธอไม่ยอมฉัน แปลว่าไม่รัก
บางคนความรักคือความผูกพันก็มี ถ้าเธอไม่อยากเจอฉัน ฉันโทรไปแล้วไม่อยากคุย แปลว่าเธอไม่รักฉัน
บางคนความรักคือการยึด ครอบครอง อีกคนแค่ความรักคือแค่ต้องการปรารถนาให้มีความสุข

ความหมายสั้นๆคือเชื่อต่าง ศรัทธาต่าง เมื่อต่างก็เลยเกิดปัญหา
แต่คนส่วนใหญ่ก็ยึดตัวบุคคลมากกว่า มองไม่เห็นว่าปัญหาอยู่ตรงนี้ ก็เลยทำให้ยึดคนที่จะทำให้ทุกข์เรื่อยไป

พอจะมองภาพออกไหมคะว่าเรามุ่งเป้าหมายไปผิดที่ก็ก่อให้เกิดทุกข์ ความรักไม่ใช่การทำเพื่อให้ได้อะไรสักอย่าง ที่จริงความรักนั้น จะอยู่ด้วยกันก็ได้ ไม่ได้อยู่ด้วยกันก็ได้ สำคัญคือ “ใจ” ความสำคัญของความสุขและความรักไม่ได้อยู่ที่กาย ความอยากครอบครอง

ความเข้าใจผิดนี้ทำให้เกิดทุกข์อะไรได้บ้าง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคนรักไม่มีเวลาให้ ไม่มีเวลามาเจอ คุย เราก็ทุกข์ ที่คนเราหึง หวง ก็เพราะยึดติด ความรักไม่ได้อยู่ที่กาย อยู่ที่เสียงนะ คนที่ไม่เข้าใจก็จะพยายามทำทุกอย่างให้ได้ตัวคนรักไว้ มีกายอยู่ใกล้กัน แต่ไม่รู้ว่าอยู่กันไปเพื่ออะไร อยู่ด้วยกันแล้วทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์ได้บ้าง ถามว่าตอน ตัดพ้อ งอแง หวงหึงนี่ ทำด้วยความทุกข์ ทำด้วยอารมณ์ไม่พอใจ โกรธ มันทำให้คนรักเรามีสุขหรือทุกข์? ใครจะรักเราอยากอยู่กับเราก็ด้วยใจ แต่ใจเราเป็นแบบนี้ แสดงท่าทาง คำพูดแบบนี้ มันน่าดึงดูดใจให้อยากเอาตัวมาใกล้ หรือว่าอยากให้ห่างหายไปพร้อมใจและตัว?

คนที่รู้จักรักจะรู้ว่ารักด้วยความยึดจะก่อให้เกิดทุกข์ทั้งต่อตนเองและคนที่เรารัก คนที่รู้จักรักจึง(พยายามฝึกตนเอง)ไม่ให้รักด้วยความยึด และไม่ทำให้คนที่รักเรายึดเราด้วย เพราะปรารถนาให้เขามีความสุข

ส่วนขั้นตอนในการถอดทอนความยึด เขียนหลายครั้งแล้ว คนอ่านจะเบื่อไหมหนอ^^" ก็ฝึกมาด้วยทางนี้แล้วเห็นผลจริงๆคือการใช้วิธี ทาน ศีล ภาวนา ของพระพุทธเจ้า สอนลงมาที่ใจ เห็นโทษ เห็นการเชื่อมโยงด้วยใจตนเองจึงจะวางได้ ถ้าเอาแต่มองที่คนอื่น เปลี่ยนแปลงที่คนอื่น ไม่เห็นด้วยใจตนเองจะไม่มีทางวางได้เลย พี่ชายยกตัวอย่างให้ฟังคือ ถ้าเราเอามือเปียกๆไปแหย่ปลั๊ก เรารู้แน่ๆว่าจะต้องช๊อต แล้วเราจะไม่ทำแบบนั้นแน่ๆ เรื่องของใจก็เหมือนกัน ถ้าเราดูที่ใจตนเอง เห็นทุกครั้งว่า ยึดเมื่อไหร่ก็ทุกข์เมื่อนั้น เห็นบ่อยๆว่าต้นเหตุของความทุกข์ เกิดจากความอยาก ดิ้นรนอยากครอบครอง เราจะไม่ต้องเสียเวลาแก้ที่คนอื่นเลย เห็นบ่อยๆ ใจเราจะรู้ว่าเหตุแห่งทุกข์อยู่ตรงนี้ เมื่อวางที่เหตุ คือความอยาก แล้ว ทุกข์ก็หมด ในขั้นตอนฝึกนั้นอธิบายสั้นๆคือ

ทำทานด้วยใจสละ เพื่อประโยชน์ของผู้อื่นอย่างแท้จริง เราจะเห็นผลจริงๆว่า สละ ไม่ได้ทำเพื่ออัตตาตนเองแล้วมีความสุขอย่างไร เพิ่มเติมคือ การเรียนรู้ว่าให้อย่างไรก็ได้อย่างนั้น พี่ชายได้แนะนำการทำทานของญอีกแบบหนึ่ง เพื่อสร้างปัญญาให้ตนเองตั้งแต่ช่วงแรก และใช้มาบ่อยๆคือ "มีทุกข์เรื่องใด ให้ตั้งใจไปช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์เรื่องนั้น"

เวลากรรมส่งผล เท่าที่เห็นความน่ากลัวคือ มันทำให้"ติด" บางทีอาจจะรู้สึกตะหงิดๆ ไม่ใช่ทางแบบที่เรามุ่งไป แต่มันก็มีความยึด ความเต็มใจอยู่ เช่น ไม่ชอบคนพูดจาไม่ดี แต่ก็พูดจาไม่ดีตอบกลับคนที่พูดไม่ดีกับเรา หรือและอื่นๆ คือ แม้จะรู้สึกว่าไม่ใช่ แต่เราก็สร้างเหตุอื่นๆไปในทางให้อยู่ที่เดิม

วิธีการที่พี่ชายแนะนำ ญเอามาใช้ บางทีก็มีคนที่ทุกข์เรื่องนั้นๆมาขอความช่วยเหลือเอง ต่อให้ไม่มี ญก็พยายามหาทาง หรือถ่ายทอดสิ่งที่จะทำให้คนอื่นที่ทุกข์แบบเดียวกันพ้นทุกข์(เพราะเข้าใจว่าทุกข์แล้วเป็นอย่างไร)

นิสัยญคือจะพยายามไม่ติดอะไรนานเพราะเป้าหมายคือความก้าวหน้า ถ้ารู้ตัวต้องหาทางทุกทางเพื่อให้หลุดและก้าวหน้าต่อ ภาวนาตรงๆไม่หลุด ก็ภาวนาไปด้วย หาทางกำจัดอุปสรรคภายนอกด้วยวิธีการต่างๆไปด้วย การทำบุญทั้งหมดนี่ชัดเจนว่า "ตั้งใจช่วยคนให้พ้นทุกข์ ก้าวหน้า และเพื่อให้ตนเองก้าวหน้า(ก็คือต้องเอาสิ่งที่ตนเองสอนคนอื่น น้อมมาสอนใจตนเองด้วย)” การช่วยคนอื่นจะทำให้เราเห็นปัญหาได้อย่างเป็นกลาง และเป็นบุญในขณะเดียวกัน ทำให้เมื่อเราเจอปัญหาเราจะรู้วิธีแก้

รักษาศีล ไม่ทำตามความอยาก ไปเบียดเบียนคนอื่น ไม่ทำตามอัตตา ไม่สั่งสมนิสัยด้านร้าย จะทำให้ใจสงบสุข สังเกตดูว่า ตอนด่าคนอื่นเพราะโกรธ มันทำให้ใจทุกข์หรือสุข พอใจที่ได้ด่า แต่ใจเราร้อนไปกว่าการมีความอดทน ไม่ระเบิดอารมณ์อย่างไร พูดไปแล้วก็เจอคนพูดไม่ดีกลับ เจอกรรมตามสนองไม่จบสิ้น การระงับกาย วาจา ไม่ทำตามอัตตา ไม่มีผลเสียภายหลัง

การภาวนา สำคัญที่สุดคือ จะเข้าใจว่าให้ทานมีสุขอย่างไร รักษาศีล ระงับความอยากแล้วจะไม่ก่อให้เกิดทุกข์อย่างไร ก็เกิดจากการเห็นเข้ามาที่ใจตนเอง ถ้าให้ทานแบบให้ไปงั้นๆ แค่เอาเงินหย่อนใส่กล่องทำบุญ คิดในใจว่าขอให้ได้อย่างนั้นอย่างนี้ แล้วไม่เห็นใจ ก็ไม่มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้สุขทุกข์ว่าเกิดที่ใจอย่างไรเลย

นอกจากนี้ การภาวนาเป็นการฝึกสติ เป็นการสอนให้ดูที่ใจแล้วเห็นตามจริง เราจะเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่าง รวมทั้งความทุกข์ที่เกิดจากความคิด ความรู้สึกของเรา ที่จริงมันเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ คิดขึ้นมาเอง รู้สึกเอง เจ็บเอง ทั้งที่ไม่ได้อยากให้มันเกิด มันมาเอง ไม่ใช่ของเราเราจึงสั่งไม่ได้ ทำไมเราจึงหลงเชื่อมัน ถ้าฝึกภาวนา ฝึกสติ สติว่องไวเห็นตามจริงอย่างที่พระพุทธเจ้าบอกแล้วว่า ทุกอย่างเป็นไตรลักษณ์ มันเกิดแล้วต้องเปลี่ยนแปลง คงอยู่ไม่ได้ ควบคุมไม่ได้(ก็ไม่ต้องเสียเวลาไปยุ่งกับมัน) มันก็เกิดแล้วดับไปเอง ไม่ต้องเสียเวลาไปทำตามความอยากให้ต้องเหนื่อย ได้มาแล้วต้องพยายามรักษา และทุกข์เมื่อเสียไปเลย

คีย์เวิร์ดของ “ความรักอย่างมีความสุข คือการมุ่งเน้นความสุขทางใจ และทำเพื่อสละความยึด อัตตา”

สังเกตเถอะ ทุกคนทุกข์เพราะอยากได้ตามอัตตาทั้งนั้น อยากให้เขาเป็นอย่างใจ อยากให้เขาทำดีในแบบของเรา โดยที่ไม่เข้าใจเลยว่าเราเจอใครมาทำอย่างไรตามกรรมตนเอง ถ้าไม่เปลี่ยนตนเอง อย่างไรคนอื่นก็ไม่เปลี่ยน ถ้ายังรักแบบยึด อย่างไรก็ต้องทุกข์ เพราะอย่างไรวันหนึ่งก็ต้องจากเป็นหรือจากตาย ไม่มีใครครอบครองอะไรได้ สิ่งที่ทุกคนเอาไปได้มีแต่บุญกรรม และปัญญา

ยิ่งฝึกตัวเองให้เกิดปัญญาเท่าไหร่ เราจะยิ่งพ้นทุกข์ได้มากขึ้นเท่านั้น เห็นได้กันตั้งแต่ชาตินี้เลย คือเมื่อใจรู้จักสละ รู้จักวางแล้ว เราจะเข้าใจความรักว่ามันคือการให้ ให้แล้วมีความสุขอย่างไร ให้ความสุขไปก็ได้ความสุขมาตามกรรม เหตุตรงผลตรง

อาศัยความเข้าใจในรัก มีอะไรย้อนดูตนเองแทนที่จะไปพยายามเปลี่ยนคนอื่น ซึ่งถ้าเค้ายอมเปลี่ยนก็เป็นกรรมดีของเขา แต่ถ้าเรายังไม่เปลี่ยน เราก็จะได้แต่ความพอใจที่ได้อย่างใจ ได้อัตตา ได้ความยึดมั่น ได้รู้สึกว่าสุขจากการได้ครอบครองอย่างใจ ซึ่งจะแปรเป็นความทุกข์เมื่อต้องสูญเสีย

แต่ถ้าเรารู้จักรักอย่างแท้จริง รักด้วยการให้ รักแบบที่ปรารถนาให้คนอื่นมีความสุข ถ้าเขาดี จะได้อยู่ด้วยกันด้วยบุญที่ทำดีต่อกันก็มีความสุข ต่อไปไม่ได้อยู่ด้วยกันก็ยังมีความสุข

ถ้าเรารู้จักรักจริงๆ ความปรารถนาดีต่อคนรักจะทำให้เราเลือกเปลี่ยนตนเอง มีทุกข์อะไรก็ย้อนกลับมาแก้ไขที่ตนเอง มากกว่าจะไปพยายามเปลี่ยนเขา ญเองก็พัฒนาตนเองด้วยวิธีนี้

ขั้นตอนในการเปลี่ยนแปลงตนเองเช่นนี้ มันจะต้องมีความเจ็บปวดบ้าง ทุกข์บ้าง ปางตายบ้าง ทรมานมากบ้างน้อยบ้าง เพราะมันฝืนอย่างที่เราทำมา เป็นมา  ซึ่งอันที่จริงก็เป็นการใช้กรรมของเรา จะทรมานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับกรรมที่เราทำมาให้ผู้อื่นทุกข์ขนาดไหน ขึ้นอยู่กับกิเลสความดื้อความยึดของเราเองว่ามีมากขนาดไหน (ไม่ได้เกี่ยวกับว่าคนอื่นทำร้ายเราขนาดไหน) ถ้าความตั้งใจที่เราจะเปลี่ยนตัวเอง ทำเพื่อความสุขของคนอื่น มันแรงกว่า มันก็เอาชนะได้ ซึ่งการเอาชนะนอกจากต้องอาศัยความอดทน และปัญญา เมื่อเราเรียนรู้แล้ว รู้ต้นเหตุที่เราต้องมาเจอแบบนี้ ต้นเหตุแห่งทุกข์แล้ว ก็คือการเดินออกไปสู่เส้นทางใหม่ เส้นทางที่จะนำไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นเรื่อยๆ เช่น ทุกข์เพราะหึง ก็เพราะเราเคยทำให้คนทุกข์ใจเช่นนี้ เราจึงต้องมาเจอแฟนชนิดที่ทำให้เราหึง แต่แทนที่เราจะไปแก้ที่แฟน เราแก้ที่นิสัย และกิเลสของตนเอง รู้จักมีสติ มันจะลดทุกข์จากการคิดมากของตัวเองและไม่ทำให้อีกฝ่ายรำคาญ พอกรรมเราหมด เขาอาจจะเปลี่ยน(อาจจะเพราะเห็นว่าเราทำตัวน่ารัก) หรือเราอาจจะเลิกหลงเขา ไม่ต้องทุกข์เพราะที่เขาเป็นแบบนี้ เพราะความหึงของตนเอง เพราะกรรมของตนเองอีก หรือไปเจอคนใหม่ที่ดีกว่าไปเลย

อย่าคิดว่าตนเองดีแล้ว ถ้าทุกข์อยู่แปลว่ายังมีความเห็นผิด หรือนิสัยอะไรที่ต้องแก้อยู่ มันเป็นไปไม่ได้ที่เหตุดีแล้วผลไม่ดี ต้องหมั่นตรวจสอบตนเอง เราเท่านั้นที่จะเป็นคนตอบตนเองได้ดีที่สุด

เหตุการณ์ภายนอก คนภายนอก ไม่สามารถทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนแปลงได้เท่ากับการที่เราเปลี่ยนแปลงตัวเอง ทุกครั้งที่เราเปลี่ยนแปลงตนเอง ชีวิตเราจะดีขึ้น เช่น เราอยากเปลี่ยนให้คนอื่นพูดดีๆกับเรา เขาคนนั้นเปลี่ยนแล้วเรารู้สึกดี แต่ถ้าเราเปลี่ยนนิสัยตนเอง รู้ว่าจะพูดจาอย่างไรแล้วคนอื่นจะมีท่าทางเปลี่ยนไป เข้าใจเขา ไม่ได้ไปโกรธเขา เราก็มีความสุขได้ด้วยตนเอง แล้วยังรู้วิธีดีลกับคนที่พูดจาไม่ดีทุกคน

การมีเป้าหมาย รู้ว่ายึดเป็นเหตุแห่งทุกข์ และตั้งใจทำเพื่อความสุขของคนอื่นนี่แหละที่เป็นการขัดเกลาความทุกข์ เมื่อเราเห็นด้วยใจเราบ่อยๆแล้ว เราจะมีรักแบบอิสระมากขึ้น นั่นแหละความสุข

พอดีวันนี้เจอบทความเพิ่มเติมที่สอนเกี่ยวกับการให้ความรักโดยไม่ทุกข์ ลองอ่านเพิ่มเติมในลิ้งค์นะคะ:)

http://www.dlitemag.com/index.php?option=com_content&;view=article&id=886&Itemid=1

 


 © Copyright 2011. เหตุเกิดจากความรัก.