อันเนื่องมาจากว่า "คิด" ไป

girl2อ่านแล้วได้สาระและความบันเทิงค่ะ

ถ้าใครมาว่าเรา มันไม่เป็นความจริงก็เข้าตัวเขาแต่ถ้าเป็นความจริงเราต้องขอบคุณเขาที่ช่วยเตือนให้เห็นข้อผิดพลาดเพื่อเราจะได้พัฒนาต่อๆไปนะ:)

***********************************

จากกระทู้ เจอคนใส่ร้ายโดยไม่เป็นความจริง ควรวางใจอย่างไรคะ

เป็นปัญหาเรื่องขาดความเห็นชัดครับ

ขอยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆ ว่าถ้าคุณกำลังเดินทางกลับบ้าน อยู่ๆก็มีคนมาบอกว่า

"คุณจิตตะ คุณไม่ได้สวมเสื้อผ้าอยู่นะ"

คุณจะรู้สึกอย่างไร ในอีกทางหนึ่ง ซึ่งแน่ล่ะว่า คุณไม่ได้เปลือยอยู่อย่างแน่นอน นี่คือตัวอย่างของเรื่องที่คุณรู้ชัดและแน่ใจแล้ว ที่ปฏิกิริยาของคนโดยส่วนใหญ่ ถ้าไม่ขำว่าคนที่มาพูดมันต้องบ้าแน่ๆ

ทีว่าบ้า ก็คือเขาไม่เห็นความจริง หรือไม่เช่นนั้นก็อาจจะรำคาญ คือรำคาญไม่อยากเสียเวลากับคนบ้า แต่ไม่ใช่โกรธแน่ๆ

ในอีกทางหนึ่ง ขอให้วิเคราะห์ใจคุณเองดูว่า ที่คุณเริ่มโกรธ และอยากตอบโต้ เป็นไปได้หรือไม่ว่าคุณเองก็ไม่แน่ใจ และเริ่มเชื่อไปตามที่เขาบอก?

ลองนึกอีกทีนะครับ ถ้าเปลี่ยนจากการบอกว่าไม่ใส่เสื้อผ้า เป็นว่าคุณเป็นคนเลว เป็นคนขี้อิจฉา อะไรที่ทำให้คุณ โกรธ ถ้าคุณรู้อยู่แก่ใจว่าคุณไม่ได้เลว ไม่ได้ขี้อิจฉา

ขอให้พิจารณาจนได้คำตอบตรงนี้ก่อนอ่านต่อไปนะครับ

ในอีกทางหนึ่ง(อีกที) ถ้าเขาไปตะโกนด่าว่าคุณด้วยถ้อยคำอันสาหัสอยู่กลางป่าลึกคนเดียว ไม่มีใครได้ยิน คุณเองก็ไม่ได้ยิน มีคนตะโกนนั่นแหละที่ได้ยินอยู่คนเดียว คุณจะรู้สึกอะไรไหม

สารที่ต้องการสื่อถึงคุณและท่านผู้อ่านทุกท่านที่มีปัญหาเดียวกันก็คือ ถ้าคุณรู้ชัดแล้วว่าคุณไม่ได้เป็นอย่างที่เขาว่า คุณจะไม่รู้สึกอะไรแตกต่างไปจากเดิมเลย ไม่ว่าเขาจะพูดต่อหน้าหรือลับหลัง

ถัดไปอีก ถ้าคุณรู้ชัดเพิ่มขึ้นอีกอย่าง ว่าไม่ว่าเขาจะพูดตั้งแต่เกิดจนตาย ทุกวันพูดตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ตลอดเวลาที่ตื่นอยู่ว่าเกลือหวาน น้ำตาลขม มันจะทำให้น้ำตาลเริ่มขมและเกลือเริ่มหวานขึ้นสักนิดหรือไม่? คำพูดคนมันเปลี่ยนความจริงได้ด้วยเหรอครับ?

ถ้าได้ ขอให้เขาพูดไปเรื่อยๆว่าคนไทยรวยขึ้น หรือให้เขาพูดว่าเขามีเงินหมื่นล้าน มันเปลี่ยนความจริงได้สักเพียงนิดหนึ่งไหม^^

ถัดไปอีกอีกเอ้า เอาเป็นว่าคนที่พูดนั้นไม่สนล่ะ ยังพยายามพูดว่าคุณนิสัยไม่ดีต่างๆนานาต่อไป คนที่หลงเชื่อไปกับคำพูดเขานั้น คุณยังสนใจจะคบหาคนที่เชื่อโดยไม่ไตร่ตรอง เชื่อโดยปราศจากที่มาหรือไม่ 

โดยส่วนตัว นายโจโจ้จะยินดีเป็นอย่างยิ่งที่คนเหล่านั้นพากันเดินออกจากชีวิตนายโจโจ้ไป เสียได้ เพราะความวุ่นวายทั้งหลายที่อาจจะเกิดขึ้นกับชีวิตนายโจโจ้จากการเชื่อโดย ไม่ไตร่ตรองของเขาเหล่านั้นก็จะเดินจากไปพร้อมๆกับตัวเขาครับ

ทั้งหมดที่กล่าวไป โดยเฉพาะการวิเคราะห์ใจคุณเอง หรือจะเรียกว่าดูจิต หรือจะเรียกว่าสติ หรือจะเรียกว่ารู้ตัว ก็อันเดียวกัน แนวเดียวกัน

แต่ดูในขั้นตอนใด ดูแว๊บๆแล้วเก็บเอามาคิดต่อ หรือดูของจริง ดูอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจริงจนกระทั่งเห็นว่าความคิดกับความจริงเป็น คนละส่วนกัน ดูไปจนกระทั่งเห็นว่า ที่เคยเข้าใจว่า จิตของเรา ความรู้สึกของเรา ตัวของเรา ชื่อเสียงของเรา มันไม่ใช่ของเราเลยสักนิด แต่เราก็ยังดิ้นรนพยายามรักษามันไว้ พยายามพิสูจน์ว่ามันเป็นของเรา ใครมาแตะเข้าก็ทุกข์มากบ้างน้อยบ้างไปเสียทุกที ซึ่งเมื่อเห็นอย่างนั้นแล้ว จะเก็บเอา "ตัวเรา" ไว้ทำไมเล่าครับ :11: ปัญหาทุกอย่างของคน เริ่มที่ความทุกข์จากการดิ้นรนเพื่อรักษา "ตัวเรา" นี้ ใช่หรือไม่ และเหตุของความทุกข์ทั้งหมดนี้ มาจากการที่เชื่อว่ามีเรา ตัวกู ของกูนี้ ใช่หรือไม่...

วิธีการถอดถอนความเห็นผิดว่ามีเรานี้มีอยู่ครับ ด้วยการวิเคราะห์วิจัย ดูไปที่จิต ดูไป ดูไปจนกระทั่งเห็นและจำนนต่อความจริง ว่าความเป็นตัวเรา มันมีอยู่จริงหรือไม่ ที่ผ่านมาพยายามรักษาอะไรไว้...

นิพ คือดับ พาน คือร้อน จะดับร้อนทั้งหมด ที่วิธีการเข้าถึงนั้น พระศาสดาท่านสอนไว้ในกิจต่ออริยสัจ คือทุกข์(ความทนอยู่ไม่ได้)ให้รู้ สมุทัย(เหตุแห่งทุกข์)ให้ละ ด้วยการทำนิโรธ (นิรทุกข์) ให้แจ้ง ด้วยการเจริญมรรค ที่ท่านสอนว่าทุกข์ละไม่ได้ ต้องละที่เหตุแห่งทุกข์

เมื่อไหร่ที่เกิดทุกข์ ให้รู้ และดูไปจนเห็นเหตุแห่งทุกข์ และละที่เหตุของมัน ซึ่งหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ท่านอธิบายด้วยคำที่เข้าใจง่ายด้วยการเชื่อมโยงอริยสัจเข้ากับจิตว่า

จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย

ผลของจิตส่งออกนอก เป็นทุกข์

จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค

ผลของจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ

อันเป็นที่มาของคำว่า ดูจิต คำว่าดูจิต ก็คือ รู้ตัว เพราะความเห็นผิดทั้งหลายมันอยู่ที่จิต วิธีการแก้ความเห็นผิดคือให้ดู ให้รู้อยู่ที่จิตไปจนกว่าความเห็นจะชัดขึ้น (ด้วยสมถะภาวนา) และเป็นกลาง(ตามจริง)ยิ่งขึ้นด้วยวิปัสสนาภาวนา ที่เมื่อความเห็นชัดและ

เป็นกลางอย่างแท้จริงแล้ว ก็จะจำนนต่อความจริง คือทิ้งความเห็นผิดที่เคยเกาะกุมจิตใจมานานแสนนานได้

ประเด็นสำคัญในการปฏิบัติอีกอย่างก็คือ ความสามารถในการแยกระหว่างคิดกับรู้ออกจากกัน ที่หลวงปู่ดูลย์ท่านว่า

คิดๆเท่าไหร่ก็ไม่รู้

ต้องหยุดคิด จึงจะรู้

แต่(สุดท้าย)ก็ต้องอาศัยคิดนั่นแหละ จึงจะรู้

"เพราะความคิดไม่ใช่ของจริง คนร้อยคนต่อให้คิดถึงคำๆเดียวกัน"

แต่คำๆนั้นไม่ได้ให้ความหมายเดียวกันกับทุกคน แต่ละคนจะเห็นแตกต่างไปตามประสบการณ์ของตนเอง

เช่นคำว่าน้ำตาลง่ายๆคำเดียว บางคนนึกถึงน้ำตาลก้อน บางคนเป็นน้ำตาลทรายขาว บางคนนึกถึงน้ำตาลเหลืองแบบน้ำอ้อย บางคนนึกถึงน้ำตาลแดง บางคนนึกถึงน้ำตาลปึก บางคนนึกถึงน้ำตาลปี๊บ บางคนนึกถึงน้ำจากงวงต้นตาล ฯลฯ

แต่ทุกคนถ้าหยุดคิดได้ ก็จะเหลือแต่รู้ คือรู้ความรู้สึกที่มาจากประสาทสัมผัสหรืออายตนะแท้ๆ เช่น ลมเย็นจัดๆพัดมา คนยืนอยู่ทั้งกลุ่มรู้สึกหนาวเหมือนกัน อันนี้ไม่ต้องคิด แต่ถ้าคิด จากความรู้สึกเย็น กลายเป็นคำว่าหนาว คือมีตัวฉันเป็นผู้รู้สึกถึงความหนาว กลายเป็นอย่างอื่นต่อไปได้ไม่จบไม่สิ้น

นายโจโจ้


 © Copyright 2011. เหตุเกิดจากความรัก.