ให้ความหวังผิดไหม?
ขอยกเรื่องจริงเรื่องหนึ่งของผู้หญิงหน้าตาดี มีชายหนุ่มหลายคนมารายล้อมเอาใจด้วยการไปรับไปส่งและให้ของขวัญมากมายอยู่ เป็นประจำเสมอ
เขารับของขวัญเหล่านั้นไว้ด้วยความรู้สึกว่า "อยากโง่มาให้เขาเองทำไม" เขาไม่ได้เรียกร้อง แต่รับไว้ด้วยความกระหยิ่มใจมาเป็นเวลากว่าสิบห้าปี
จนกระทั่งกรรมส่งผลให้เขาต้องไปหลงรักและทุ่มเททำทุกอย่างให้กับคนที่ไม่ได้ ใส่ใจกับเขาเลย
เขาจึงรู้สึกตัวว่าคนที่ได้เคยมาทุ่มเททำสิ่งต่างๆให้เขาอย่างมากมายเป็นสิบคนนั้น คนเหล่านั้นรู้สึกอย่างไร
และที่ผ่านมานั้น เขาได้รับของที่ให้โดยเสน่หา(ในทางโลก) แต่รับทั้งๆรู้ ว่าผู้ให้มีความปรารถนาจะได้เขาเป็นแฟนที่เขาไม่เคยคิดจะสนอง แต่รับอย่างเดียวแถมมีเรียกให้ไปรับไปส่งอีกด้วยนั้น คนเหล่านั้นรู้สึกอย่างไร
ผลจากการที่เขารับจากผู้ชายสิบกว่าคน ส่งให้เขาต้องไปหลงรักผู้ชายประมาณห้าคนและทุ่มเททำสิ่งต่างๆให้โดยไม่ได้ อะไรคืนมา กับบางคนถึงกับเสียเงินหลายแสนคือไปช่วยเหลือเรื่องหนี้สินโดยที่ผู้ชาย เหล่านั้นไม่ได้ขอแต่เขาไปเสนอให้การช่วยเหลือเอง จนกระทั่งเลิกรากันไปก็ยังไม่ได้คืน
วิธีการที่เหมาะสมในเรื่องการไม่ติดค้าง ก็คือการให้ของตอบแทนที่มีค่าควรกันด้วยเจตนาให้ไม่ติดค้างซึ่งกันและกัน ครับ
ต้องให้ข้อมูลเพิ่มว่าในกรณีที่ยกมานั้น เขาวางตัวในลักษณะให้ความหวังกับหนุ่มๆ ซึ่งอันที่จริงก็ด้วยเจตนาให้เกิดความสะดวกสบายแก่ตัวเขาครับ
ถ้าประกาศตัวไว้ชัดๆว่าไม่ให้ความหวัง ควรจะควบคู่ไปกับการไม่รับของด้วย ไม่อย่างนั้นก็เหมือนปากว่าตาขยิบ เพราะคนที่เอาไปให้แล้วผู้รับยอมรับ ก็สามารถคิดเข้าข้างตนเองได้ว่ายังพอมีหวัง ผู้หญิงเขาปฏิเสธเป็นพิธีให้ง้อมากๆหน่อยเท่านั้น
การให้ทั้งหมดมีเจตนา การรับก็ต้องมีเจตนาเช่นเดียวกัน ถ้ารับมาแล้ว เพื่อไม่ให้ติดค้าง ก็ต้องสนองเจตนาแห่งการให้ แม้แต่นักบวช ถ้ารับของ รับอาหารมาแล้วไม่ปฏิบัติให้ควรกันกับเจตนาแห่งการให้ หนี้ก็เกิด
ของที่รับได้โดยไม่มีโทษไม่มีภัยใดๆตามหลัง ลองดูตามพระวินัย เช่นผ้าห่อศพที่เขาทิ้งไว้ตามป่า เปลื้องจากศพที่เน่าแล้ว ไม่มีผู้ใดถือสิทธิ์แล้ว ไม่มีผู้ใดต้องการอีกต่อไปแล้ว เอาไปต้มไปย้อมสำหรับสวมใส่
ขอยกอีกหนึ่งกรณี หญิงหน้าตาดี บุคลิกเด่นตั้งแต่เด็ก เป็นนักกีฬาบาสเก็ตบอลขวัญใจของคนค่อนโรงเรียนหญิงล้วนทั้งรุ่นพี่รุ่นน้อง ทุกวันเทศกาลรื่นเริงเช่นปีใหม่ วาเลนไทน์ วันเกิด หรือคริสต์มาสเขาจะได้ของขวัญแบบไม่ทราบที่มา เช่นตุ๊กตาหมี ขนม ดอกไม้ สมุดจดสวยๆ กล่องดินสอสวยๆ ฯลฯ โดยจะมีคนมาแอบตั้งกองไว้ให้บนโต๊ะในห้องเรียน ปริมาณของที่ได้เท่าที่ทราบคือ ขนของใส่รถคุณพ่อกลับบ้านวันเดียวไม่หมดแทบทุกครั้ง ส่วนของที่ขนกลับไปที่บ้าน เขาจะทะยอยเอาไปแจกเด็กยากจนทีละหน่อยๆซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องดี แต่พร้อมๆกันก็ส่งผลให้เขาวางตัวเป็นผู้รับมากกว่าผู้ให้มาจนบัดนี้ จนดำเนินชีวิตด้วยความลำบากกว่าที่ควรจะเป็น
อีกกรณีที่ควรยกมาศึกษาร่วมกันคือผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ตัวท่านมีอาชีพเป็นแม่บ้าน ท่านมาจากตระกูลเก่าที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สืบทอดมาราว 5 ชั่วอายุคน สามีของท่านก็เป็นผู้ได้รับความนับถืออย่างแท้จริงจากในวงการที่ท่านทำ งานอยู่โดยไม่มีประวัติด่างพร้อยใดๆเลย และตั้งแต่รู้จักกันมา สังเกตได้ว่าผู้ใหญ่ท่านนี้ไม่เคยรับของขวัญหรือบริการจากใครโดยไม่ตอบแทน เลย นายโจโจ้เคยไปทำงานบางอย่างให้ท่านที่บ้าน ใช้เวลาตั้งแต่เช้าจนดึก ซึ่งทุกครั้งท่านก็ตอบแทนด้วยการเลี้ยงข้าว รวมไปถึงการจัดหาข้าวของหรือขนมที่ท่านสังเกตเองว่านายโจโจ้ชอบ และท่านจะไปจัดการด้วยตนเอง คือขับรถไปซื้อและนำมาฝากไว้ให้ถึงที่บ้าน ไม่มีการรับไปเปล่าๆเลยแม้แต่ครั้งเดียว
แม้จนขณะนี้จะไม่ได้ติดต่อกันเป็นประจำกว่า 5-6 ปีแล้ว ท่านก็ยังระลึกถึงในโอกาสวันเกิดและยังส่งข้อความมาให้พรวันเกิดทางโทรศัพท์ มือถือมาแทบทุกปี ซึ่งทั้งหมดที่ท่านทำ รู้สึกได้ว่าเป็นการตอบแทนจากใจจริง ซึ่งมองออกได้โดยง่ายว่าเป็นสาเหตุของความสงบร่มเย็นและความสุขอันเป็นส่วน ใหญ่ในชีวิตของท่าน
ยกมาให้ศึกษาร่วมกันครับ
ด้วยความหวังว่าจะเป็นประโยชน์ คือแทนที่จะคิดว่าเราได้ของอะไรจากใคร เปลี่ยนเป็นว่า
"เราได้รับหรือได้ให้ความสุขกับใครบ้าง"
และเมื่อได้สังเกตเรื่องนี้โดยละเอียด จะพบว่าผู้ที่ให้ความสุขกับผู้อื่นเป็นประจำ ก็ชอบที่จะเป็นผู้มีความสุขมากในชีวิต
และเมื่อมองให้ลึก ก็จะเข้าใจ เห็นตามที่พระศาสดาสอนว่า "ทำสิ่งใดก็ได้สิ่งนั้น"
นายโจโจ้