อยากรู้จักความรักให้มากขึ้น?
บางทีอาจเป็นแค่เพราะเราไม่รู้จักรัก
ไปแปะป้ายเรียกสิ่งนั้นสิ่งนี้ว่ารัก
ไปแปะป้ายกิเลส ความใคร่ ความหลงว่า รัก
โดยไม่รู้ตัวว่าโดนมันพาเราไปตกหลุม(ความรู้สึกที่คิดไปเองว่า)รัก ตามกรรม :)
กว่าจะรู้ว่าเราหลงตามกรรม เข้าใจผิด(ไปเอง)ต้องใช้เวลานานแค่ไหน?
ก็นานจนกว่าที่ใจเรายอมที่จะเปิดรับความจริงนั่นแหละ :)
******
รวบรวมผสมเล็กผสมน้อยจากพี่โจ้ค่ะ
เวลากรรมส่งผล การใช้เหตุผลจะตกไปครับ รู้ทั้งรู้ก็ยังรัก ถูกดูดเข้าไปใช้กรรม
ตอบแบบที่พี่ทำมาตลอดก็คือ ถอยออกห่างครับ เรียกว่าไม่พบไม่เห็นหน้ากันเลยเป็นการดีที่สุด ถ้าพบต้องไม่พูด ถ้าพูด พูดให้น้อยที่สุด
แล้วเรื่องมันจะค่อยๆจบไปเมื่อผ่านวาระของกรรมนั้นๆไปแล้วครับ ถอยออกมาตั้งหลักก่อน ไม่อย่างนั้นแล้ว กรรมที่ก่อขึ้นมา ต้องไปใช้อีกรอบนึง คุ้มที่ไหนกัน
อีกทางหนึ่งคือ ถ้าต้านไม่อยู่ ก็โดดเข้าไปทำให้เต็มที่ในกรอบที่ไม่ผิดศีล
เรื่องการพัวพันกันทางโลกนี่น่าเวียนหัวครับ ยิ่งถอยออกห่างได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น
เห็นโทษภัยของการเวียนอยู่กับเรื่องรักๆใคร่ๆ อีกหน่อยก็จะเห็นว่า ที่คนสองคนมาอยู่ร่วมกัน มันให้กันได้ผ่านประสาทสัมผัส “สุขทุกข์ที่รับจริงๆในใจ เกิดจากการตีความสิ่งที่ผ่านมาทางตา หู จมูก ลิ้น กายเท่านั้น ดูไปเรื่อยๆนะครับ :-)”
เมื่อไหร่ที่ใจเริ่มฉลาดขึ้น มันจะเริ่มแหยงกับความรัก ซึ่งมันจะไปเบรกใจไว้ในรอบต่อไปที่ตกหลุมรัก และช่วยลดอาการถลาหรือถลำลงหลุมได้มากๆ
*******
“นายโจโจ้เห็นคนคร่าว ๆ เป็นสองแบบคือ
1. คนที่ยัง ไม่รู้จักความรัก หรือเรียกว่ายังรักตนเองไม่เป็น
2. คนที่รู้จักความรัก หรือที่เรียกว่า รักตนเองเป็นแล้ว
คนสองกลุ่มนี้ต่างกันที่ ฝ่ายแรกนั้นยังรักไม่เป็น และ
แสวงหาสิ่งที่เขาเชื่อว่าคือความรัก ซึ่งพวกเขามักจะนิยามความใคร่
ว่าเป็นความรักเพราะเขายังไม่รู้จักความรักชนิดที่เป็น
พรหมวิหารธรรม (เมตตา กรุณา มุทิตา ที่มีอุเบกขา) นั้นว่าเป็น
สุขที่ละเอียดกว่าอย่างไร”
*************
การละเมิดผู้อื่นไว้แต่ละครั้ง เมื่อกรรมส่งผลของมันซึ่งเรามักจะลืมไปหมดแล้ว โยงไม่ได้แล้วว่าเราเคยทำคนอื่นไว้แบบนี้ ความไม่รู้ตรงนี้ว่ามันเป็นกรรมเก่าของเราเองทำให้เราโทษผู้ที่มากระทำกับเรา ซัดกลับ ก่อกรรมเพิ่มด้วยความเข้าใจผิดว่าเขามาทำร้ายเราก่อน
กว่าจะเข้าใจเรื่องกรรม เราจะก่อกรรมใหม่ไปแล้วเท่าไหร่?
ของเก่าก็ต้องใช้ ของใหม่ก็ก่อเพิ่มไปเรื่อยๆ กว่าจะหลุดได้ กว่าจะรับหมด มันยากขนาดไหน ก็รับกันจนอ่วม ที่จริงก็เท่าๆกับที่เราเคยทำไว้นั่นแหละ ไม่มีมากไปน้อยไปเลย...
*******
Q: การที่เราจะตัดเรื่องอะไรอย่างหนึ่งออกไปได้คือ อย่าพูด อย่าทำอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆอีกใช่ไหมคะ ถ้ามีความคิดโผล่มาให้รู้เฉยๆ เพราะถ้าไปสนองมัน เช่น พูดถึง บ่นถึง หรือเข้าไปparticipateกับเรื่องนั้น เป็นการเพิ่มข้อมูลลงไปที่จิต ทำให้ลืมไม่ได้ใช่ไหมคะ
A:ครับ มันเหมือนกับการให้อาหารให้สิ่งที่ถูกนึกถึงหรือกล่าวถึงให้โตขึ้นเรื่อยๆครับ ยิ่งห่างได้ ยิ่งไม่นึกถึง มันก็จะเหมือนต้นไม้ที่ไม่ถูกรดน้ำ
ในทางกลับกัน ถ้ายิ่งระลึกถึง พูดถึง มีการกระทำที่เกี่ยวข้อง ก็จะอบรมจิตให้ใส่ใจ นำกลับมาขยายผลต่อเรื่อยๆครับ
มันไม่ใช่ลืมนะครับ มันเป็นการปล่อยวางเพราะหมดเหตุ(หมดกรรม)ที่จะต้องไปเสวยทุกข์จากการยึดเอาไว้ อันแปลว่าจะต้องคอยกลัวเสียไปหรือกลัวไม่ได้มาครับ
พี่จำเรื่องของพี่ในอดีตได้มากมาย แต่เรื่องที่เคยทุกข์สาหัส จิตที่หมดกรรมแล้วหรือฉลาดแล้ว มันไม่หลงเข้าไปทุกข์กับการไม่ได้มาอีกแล้ว รวมทั้งไม่ทุกข์เมื่อสิ่งที่พอใจทำท่าจะจากไปด้วย :-)
ที่เข้าไปทำ เพราะเชื่อ/หวังว่าทำแล้วจะเบี่ยงเบนผลให้เป็นไปตามที่ต้องการ(สั่งได้/เป็นอัตตา)
ซึ่งต่างกับการสร้างเหตุโดยจิตไม่ได้พยายามบีบให้ต้องเกิดผลทันทีหรือโดยเร็ว ซึ่งการที่จิตเราไปบีบ ไปตีกรอบนี่แหละครับ ที่ทำให้ผู้ถูกบีบอึดอัด
ถ้าเปรียบว่าการกระทำมีผลสัก 10 การพูดมีผล 1 ส่วนมโนกรรมนั้น แม้ว่าจะให้ผลเพียงครั้งละ 0.1 แต่ถ้าคิดวันละ 100 ครั้ง แทรกด้วยการพูดวันละ 10 ครั้ง ก็ลองนึกดูว่าจะให้ผลแรงขนาดไหน :-)
ที่จิตไปบีบ ไปตีกรอบผู้ถูกกระทำ ก็เพราะยังมีความเห็นว่าสิ่งต่างๆเป็นตัวตน(อัตตา)อยู่มาก จึงปักใจว่าสิ่งนี้ต้องสั่งให้เป็นไปตามต้องการได้ อันแสดงออกเป็นอาการหวังและยึดติดในผลมาก คือเชื่อว่าสิ่งนี้เป็นตัวเป็นตน ต้องสั่งให้เป็นไปตามที่ต้องการได้
หมดกรรมนี่เกิดจากใช้กรรมจนหมด
หรือไม่ทุกข์แม้กรรมยังส่งผลอยู่เพราะฉลาดขึ้น โง่น้อยลง พ้นจากสภาพที่เคยหลงเชื่อว่าขันธ์คือเรา จิตคือเรา แบบไหนก็ได้ :-) ทุกข์น้อยลงทั้งสองทางครับ
******
Q:เราไม่มีทางรู้เลยว่าโง่อยู่หรือเปล่า
A:ความน่ากลัวของผลของความไม่รู้ที่ทำให้ก่อกรรมเพิ่มมันอยู่ตรงนั้นครับ:-)
ถ้าเชื่อมได้ ถ้าจิตเห็นจริงในระดับที่จะไม่ละเมิดใจผู้อื่นอย่างนั้นอีกเลยแบบเดียวกับที่เราจะไม่เคยลืมใส่เสื้อผ้าก่อนออกจากห้องน้ำ ก็จะหมดจากทุกข์แบบเดียวกันอย่างแน่นอนๆเท่าๆกับที่มั่นคงในการละเว้นไม่กระทำครับ
******
Q: ลึกๆมันรู้ว่าตนเองเข้าใจทุกอย่าง
แต่จะทุกข์และบ้าบอแบบนี้ตอนขาดสติ
A: ทั้งหมดมาจากความเชื่อว่า สังขารเป็นของเรา เป็นส่วนหนึ่งของเราครับ
ถ้าเมื่อไหร่ที่เห็นแล้วว่าสังขารขันธ์ไม่ใช่ของเรา จิตมันจะหายโง่ เลิกไปเชื่อความปรุงแต่งแบบนี้ไปเลย
เห็นว่าสังขารเป็นของฉัน ก็จะถูกหลอกไปเรื่อยๆแหละครับ
ก่อกรรมใหม่ไปเรื่อยๆ รับไปเรื่อยๆ จนกว่าจะภาวนาจนเห็นความไม่ใช่ตัวตนในขันธ์ จึงจะหลุดออกมาได้ มันเป็นทางเดียวจริงๆครับ
*********
Q: นอกจากภาวนาที่เป็นงานหลัก
เราต้องสะสมเหตุปัจจัยด้านไหนให้มีปัญญา มีกำลัง ส่งให้ภาวนาได้รู้ตรงตามจริง เป็นกลาง มากขึ้นไหมคะ
ภาวนามา แต่มันไม่ก้าวหน้าดี
แสดงว่ามันต้องมีอะไรอยู่เบื้องหลังที่ทำให้ยังรู้เห็นเป็นกลางไม่ได้ เลยโดนมันหลอกบ่อยๆหรือเปล่าคะ
A: ยังภาวนาไม่มากพอทีจะเห็นความเป็นอนัตตาของขันธ์ได้ ค่อยๆทำไปนะครับ เพียรรักษาศีลไปก่อน ยิ่งคิดละเมิดคนอื่นน้อยลง จิตจะนิ่งขึ้นเรื่อยๆ
อย่างที่ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ศีลเป็นฐานของสมาธิ
แล้วสมาธิก็เป็นฐานของปัญญานั่นแหละครับ
ศีลสำคัญมาก ระมัดระวังเรื่องการไปละเมิดใจผู้อื่นนะครับ แม้แต่การปล้นโจร ก็ผิดศีลเหมือนกัน