วิธีพบรัก
บางคนอยากให้มีคนมารัก โดยที่ยังแยกไม่ออกว่า ความรักกับคนรักไม่ใช่เรื่องเดียวกัน
เราอาจมีคนรักทั้งๆที่ไม่มีความรัก หรือเราอาจมีความรักโดยไม่จำเป็นต้องมีคนรักก็ได้ (แต่ที่จริงพอเรารักเป็นแล้ว ก็มีแนวโน้มว่าใครๆก็อยากรักเราตอบค่ะ) คนกลุ่มหนึ่งจะเฝ้ามองหา โดยที่ไม่รู้ว่าทำอย่างไรความรักจึงจะเข้ามา
แท้จริง อธิบายให้เข้าใจง่ายๆอย่างนี้นะคะว่า
“คนทุกคนรักสุขเกลียดทุกข์” ถ้าเราทำตัวให้น่ารัก ให้ความสุขใครๆได้ ใครๆก็อยากอยู่ใกล้ ดังนั้นจุดเริ่มต้น คือ เริ่มที่ใจตนเองค่ะ อย่าเพิ่งหาความรัก แต่มาค้นหาความจริงก่อนว่า อะไรเป็นเหตุแห่งความสุข และอะไรเป็นเหตุแห่งความทุกข์
อะไรคือทุกข์?
ถ้าเรารู้สึกว่าอารมณ์ใดทนได้ยาก คนอื่นก็ทนไม่ได้เหมือนกัน อย่าเอาอารมณ์ของเราไปใส่คนอื่น เพราะจะทำให้เขาทนเราไม่ไหวตามไปด้วย เช่น รู้สึกหึงจนทนไม่ได้ต้องถามให้รู้เรื่อง รู้สึกห่วงมากจนทนไม่ได้ต้องคอยโทรตาม
ความรู้สึกอยากคืออาการดิ้นรน คือความร้อน ตอนเราร้อนเราไม่รู้สึก แต่คนที่รับอารมณ์เราเขารู้สึกได้ ไม่มีใครชอบของร้อนๆ (แนะนำให้อารมณ์เย็นก่อน จะคุยกันรู้เรื่องมากขึ้น)
ใครที่เป็นคนใจร้อน คือ มีความอยากให้ได้อย่างใจในเรื่องต่างๆบ่อยๆ แนะนำให้หาความเย็นใส่ใจตนเอง สอนใจให้รู้จักความเย็น เพิ่มความเย็นในใจแล้ว ก็จะเห็นนิสัยร้อนๆได้ง่ายขึ้น(ทำให้เห็นความต่าง) แล้วนิสัยเย็นๆใหม่ๆจะแทนที่นิสัยร้อนๆเก่าๆได้
อะไรคือความเย็น?
ในทางพุทธสิ่งที่ทำให้ใจเย็น สงบ และสว่างก็คือ กุศล หรือบุญ แบ่งง่ายๆเป็น
หนึ่ง การให้ (ทาน)
เช่น การให้เงิน สิ่งของ เวลา สติปัญญา ความรู้ เวลา แรงกาย แรงใจ โดยเจตนาเพื่อสละส่วนของตนเพื่อประโยชน์และความสุขของผู้อื่น
แนะนำให้ตั้งใจ ให้ความสุขผู้อื่นอย่างน้อยวันละครั้ง ไม่ต้องเรื่องใหญ่ๆ ให้อะไร ช่วยอะไรใครก็ได้ ทั้งคนหรือสัตว์ ขอเพียงทำให้สม่ำเสมอ จะช่วยให้ใจคุ้นและปรับตัวได้ไว
พอทำได้บ่อย ใจสละวางได้บ่อย จะสามารถสละความร้อน สิ่งที่ใจเห็นๆอยู่ว่าเป็นความทุกข์ ออกจากใจตนเองได้โดยง่าย เรียกว่ารับผิดชอบความร้อนของตนเองได้ โดยไม่ต้องไปขอความเย็นจากใคร หรือเอาความอยากได้ อยากมี อยากเป็นของเราไปลงที่ใคร ให้ร้อนตาม
เขยิบขึ้นมา เราจะสามารถให้อภัย (ให้ความไม่มีภัย) แก่คนอื่น เพื่อเราจะไม่ต้องร้อนตามคนอื่นๆได้ง่ายๆ เป็นการตัดการผูกเวร ตัดความรู้สึกไม่ดีต่อกัน “ให้อย่างไรได้อย่างนั้น” เมื่อเรารู้จักให้ความสุขผู้อื่น ใจเราก็จะสัมผัสความสุขได้ในขณะนั้น
พระพุทธองค์ตรัสว่า” การให้ธรรมะชนะการให้ทั้งปวง” เนื่องจากการให้อย่างเงิน ให้สิ่งของ ให้อย่างอื่น ช่วยให้เขาพ้นทุกข์ได้ชั่วคราว
แต่ถ้าให้ความเห็นที่ถูก ความเข้าใจที่ถูก เขาจะเอาไปใช้แก้ปัญหาทุกข์ของตนเองได้ตลอดไป เหมือนที่มีคนกล่าวว่า ให้ปลาหนึ่งตัว เขาอิ่มหนึ่งมื้อ สอนวิธีจับปลาเขา เขาจะมีปลากินตลอดชีวิต ผลอีกทางหนึ่งที่ได้คือ ให้ปัญญา เราก็ได้ปัญญา เราจะคิดเห็น อะไรตามจริงได้ไว หลุดจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ความทุกข์ได้ง่าย
สอง การไม่ละเมิดใจผู้อื่น (ศีล)
หมายถึงความตั้งใจ เจตนา งดเว้นการกระทำที่จะทำให้ผู้อื่นเป็นทุกข์
การรับผิดชอบความอยากของตนเอง ไม่ไปบีบคั้น ขยั้นขะยอ แอบขโมย ของๆใครที่เขาไม่เต็มใจให้ มีพฤติกรรมอยากได้ อยากมี อยากเป็น ก็เฝ้ารู้ เฝ้าดูปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในใจ ว่ามันเป็นความร้อน เป็นไฟที่เราจุดขึ้นมาเองนะ ไม่ไปสร้างเหตุให้ผู้อื่นทุกข์ตาม ก็ไม่มีกรรมให้ต้องตามแก้ (คือทำให้คนอื่นทุกข์อย่างไร เราก็ต้องมาทุกข์ใจเช่นนั้นในภายหลัง)
สาม เฝ้าตามรู้ตามดูใจจนเห็นตามความจริง (ภาวนา)
ว่าความดิ้นรนเพราะความอยากเกิดขึ้นมาเอง ไม่ใช่ตัวตนของเรา และมันหายไปเองได้ โดยที่เราไม่ต้องไปตอบสนอง (ที่จริงยิ่งตอบสนอง ยิ่งทำให้ความอยากตัวโตขึ้น เหมือนไปให้อาหารมันบ่อยๆ เช่น คนเอาแต่ใจ ได้อย่างใจแล้วก็ไม่เคยหยุดนะคะ มีแต่จะเอาแต่ใจมากขึ้นๆ)
ดูไปเรื่อยๆจะเริ่มเห็นต้นตอความทุกข์จริงๆว่าที่แท้ มันไม่ได้เกิดจากการที่คนอื่นทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทำไม่ดีหรืออย่างไร มันเกิดจาก เราไม่พอใจกับสิ่งที่เจอ อยากเปลี่ยน ความทุกข์เกิดจาก “ความอยาก” ถัดเข้ามาก็จะเริ่มเห็นชัดขึ้นว่า ที่ทุกข์เพราะไม่ยึดว่า สิ่งนั้นสิ่งๆนี้ คนนั้คนนี้ เป็นความรู้สึกเรา ต้องได้รับการตอบสนอง จึงดิ้นรนอยากอย่างนั้น ไม่อยากอย่างนี้
(ตัวอย่างเช่น ถ้าเราเห็นสิวขึ้นหน้าคนอื่น เราก็เฉยๆ แต่ขึ้นหน้าเราเราจะรู้สึกเดือดร้อนมาก^^)
วิธีที่จะช่วยให้เราเห็นอะไรตามจริง ก็คือ การหยุดดูค่ะ (ทางพุทธเรียกว่าคือการทำสมถะ) ทำได้ด้วยการไม่วิ่งตามอารมณ์ ทางพระท่านแนะนำให้มีเครื่องอยู่ เป็นหลักให้ใจก่อน เช่น การระลึกในใจว่า “พุทโธๆ” การดูลมหายใจเข้าออก การสวดมนต์น้อมระลึกถึงสิ่งดีงาม พอใจรู้จักนิ่งเป็น ก็จะเข้าใจว่าใจที่สงบนั้นเย็น น่าอยู่กว่าใจที่วิ่งตามความอยากและอารมณ์
พอใจสงบได้แล้ว ก็ฝึกเห็นตามจริงคือ วิปัสสนาต่อว่า อยู่ๆ เดี๋ยวใจก็วิ่งออกไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ อยู่ๆเดี๋ยวได้ยินเรื่องนี้ความรู้สึกต่างๆก็ปรากฏขึ้นมาเอง(ไม่ใช่ตัวตน หรืออนัตตา) ทำให้เห็นว่า เราควบคุมใจเราไม่ได้ มันวิ่งไปเอง เริ่มเองและหยุดเอง (ไม่เที่ยง หรือ อนิจจัง)
ตรงกับคำพระที่บอกว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งหนึ่งสิ่งนั้นมีความดับไปเป็นธรรมดา” มีเหตุจากกรรมเก่าคือทำให้ใครทุกข์หรือสุขแบบนี้ไว้ พอมีเรื่องมากระทบก็เลยพาให้ต้องทุกข์สุขไปตามกรรมเก่า ไม่ไปต่อเติม เหตุหมดผลก็หมด จากนิสัยเก่าที่เจอเรื่องนี้ทีไรก็เกิดอาการทางใจแบบนี้ ไม่ตอบโต้ด้วยการพูดและทำแบบเดิมๆ นิสัยเก่าๆก็จะค่อยๆหายไป
ฝึกใจ อย่างนี้บ่อยๆ สร้างเหตุที่ดีเช่นนี้บ่อยๆ ถ้าอยากให้คนมารัก ไม่ต้องพยายามทำสิ่งต่างๆให้ใครมารักเลย แค่ฝึกใจให้ร่มเย็นสะอาดน่าอยู่ รักตนเองเป็น และรักคนอื่นเป็น ใครๆก็อยากอยู่ใกล้ อยากฝากใจ อยากหลบโลกและภาวะร้อนๆข้างนอกมาอยู่กับเรา :)