หนึ่งนิสัยพึงมีเพื่อความสุข
เวลามีปัญหาเราแก้อย่างไร และเราแก้ที่ไหนคะ?
คนส่วนใหญ่เวลามีปัญหา แล้วต้องมีความทุกข์(เพิ่มขึ้นจากเดิมที่กรรมเก่าส่งมา) ก็เพราะหาทางแก้ไม่ได้ หาทางออกไม่ได้ หรือแก้ผิดที่
ทางแก้ของบางคนไม่ตอบโจทย์ของปัญหาแน่นอน เช่น อกหัก แทนที่จะสำรวจดูว่า....
เรามีนิสัยเช่นไรที่ทำให้ต้องมาทุกข์และอกหัก
เราเลือกคนอย่างไรเราจึงต้องมาทุกข์และอกหัก
และทำไมเราถึงต้องทุกข์เมื่ออกหัก?
เรากลับไปกินเหล้า เที่ยว ดูหนัง ฟังเพลง หาแฟนใหม่ ซึ่งมันไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกันกับปัญหาที่เราเผชิญ เราอาจจะบอกว่าที่เราทำอย่างนั้นก็เพื่อผ่อนคลายความไม่สบายใจ แต่มันก็คือการแก้ที่ผล ซึ่งเป็นการทำให้รู้สึกดีชั่วคราวด้วยการไปทำอะไรในสิ่งที่ตนเองชอบเรื่องอื่น โดยที่ยังไม่เห็นว่าต้นตอของปัญหาคืออะไร จะทำอย่างไรให้ไม่ต้องเจอปัญหาซ้ำๆเดิมๆ หรืออีกและอีก แล้วทำเหตุแบบใดจึงจะได้ผลอย่างที่เราต้องการ คือหลุดพ้นและมีความสุขได้เสียที?
บางคนแก้ผิดที่ เช่น เวลามีความทุกข์ก็เข้าใจว่าคนอื่นเป็นต้นตอของเหตุแห่งความทุกข์ เขาไม่รักเราเราก็เลยทุกข์ วิธีแก้คือทำอย่างไรที่จะให้เขารักเรา ไปแก้ที่คนอื่น เอาความหวังไปฝากที่คนอื่น มันไม่แน่ไม่นอนเลย
ลองปรับความคิดใหม่ ทำไมคนนี้รักเราแล้วเราถึงมีความสุข ถ้าคนอื่นรักเราเราไม่เห็นจะสุข หรือคนนี้ไปรักคนอื่นก็ไม่แน่ว่าคนที่ถูกเขารักจะมีความสุข ดังนั้นทั้งหมดมันไม่ใช่ว่าเขาไม่รักเราแล้วเราเลยทุกข์ แต่เพราะว่าเราอยากให้เป็นคนนี้ แก้ที่เรานั่นแหละ หาเหตุผลว่าทำไมต้องเป็นคนนี้ ทำไมใจเราต้องผูกกับคนนี้ อะไรเป็นที่มาของความรู้สึกนี้ ถ้าหาเหตุผลไม่ได้ ก็ไม่ควรจะเชื่อมัน และคิดว่าเราจะมีความสุขตามที่เรา(คาด)คิดไว้
บางคนอยากมีคนรักเพราะเข้าใจว่า มีแล้วจะมีความสุข ซึ่งอันที่จริงแล้วก็เห็นอยู่เกลื่อนว่า มีคนรักแล้วทุกข์ก็มี ทุกข์น้อยก็มี ทุกข์ม๊ากมากก็มี ความสุขมันไม่ได้อยู่ที่การมีคนรัก แต่อยู่ที่เรารู้จักรักไหม คนรักเรารู้จักรักไหม โยงมาถึงเหตุก็คือ เราทำกรรมอย่างไรก็จะได้เจอคนแบบนั้นเพื่อให้ผลเป็นสุขหรือทุกข์ ไม่ได้เกี่ยวว่าจะต้องเป็นคนๆนี้ หรือต้องมีคนรัก
เกริ่นอารัมภบทนาน (อ้าว ยังไม่เข้าเรื่องเลย^^”)
การมีทุกข์แล้วไม่ปล่อยให้มันผ่านเลยไป แต่เรียนรู้มัน เพื่อจะไม่ต้องทำผิดซ้ำๆ แก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมซ้ำๆซึ่งผลก็จะเหมือนเดิม หรือทำลืมๆปล่อยๆมันไปซะหมด ปัญหาที่ยังไม่แก้ก็หมักหมม ทุกครั้งที่มีปัญหาลองสำรวจตนเองดังนี้ค่ะ
ทบทวนดูว่ามันเกิดเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยไหม (จดไว้ก็ได้นะถ้าชอบลืม) ทุกครั้งที่มีปัญหาเช่นนี้ เราแก้ปัญหามันอย่างไร แก้ปัญหาแบบเดิมแล้วทุกข์ทุกทีไหม ถ้าใช่แปลว่า “คิดผิด” โฟกัสมาที่ตัวเรา ที่ความคิด ความรู้สึกของเรา เช่น น้อยใจเวลาเขาไม่รับสาย น้อยใจเวลาเขาไม่มาตามนัด
ปัญหาคือเราเป็นคนขี้น้อยใจ แต่ทุกครั้งที่แก้ปัญหา เราก็ทำเหมือนทุกครั้งคือ ตัดพ้อด้วยอารมณ์ ก่อนจะฟังเหตุผล ทั้งที่ปัญหาคือ “เราอยาก”ให้เขามาใส่ใจ เราต้องการคนมาตอบสนองความต้องการของเรา ถ้าคนอื่นทำไม่ได้เป็นความผิดของคนอื่น? โอเคแหละ หน้าที่ของคนรักกันมันคือการเอาใจใส่ แต่....ตอนเราอยากให้เขาเอาใจใส่เราเ ถ้าไม่เอาใจใส่แปลว่าเขาไม่รักเราน่ะ เราอยากให้เป็นอย่างใจ โดยไม่ดูว่าเขาพร้อมไม่พร้อม อันนั้นเราก็ลืมรักเขาแล้วเหมือนกันนะ
วิธีแก้ให้เขามาสนใจเรา ไม่ได้ทำได้ด้วยการสั่ง ขอร้อง และอ้อนวอนแน่นอน เพราะความรักเกิดจากความเต็มใจ พอใจ ยินดีที่จะทำ แล้วอะไรทำให้อีกฝ่ายยินดีที่จะรักล่ะ
ก็ลองมองย้อนดูตนเองว่า เราชอบความสุขไหม คนอื่นก็ชอบ แล้วเราชอบไหมถ้ามีคนมาให้ความสุขเรา คนอื่นก็ชอบใช่ไหม แล้วเราชอบคนที่มาให้ความสุขเราไหม คนอื่นก็คงจะชอบเหมือนกันนะ ถ้าเราทำให้เขามีความสุขได้ นี่แหละเขาถึงว่า พอรู้จักรักแล้ว รู้จักให้แล้ว ใครๆก็อยากรักเราเอง และใครจะรักหรือไม่รักเรามันก็อยู่ที่กรรมของเขาขของเราที่สัมพันธ์กันหรือไม่ด้วย สิ่งที่ทำให้รักกัน อยุ่ด้วยกันอย่างมีความสุขได้คือบุญ การคิด พูด ทำดี ต่อกันก็เป็นบุญ เราสร้างเหตุคิด พูด ทำดีกับใคร ให้ความสุขกับใคร อันเป็นการสร้างเหตุที่ดีหรือยัง
อันนี้เป็นเคสศึกษาเคสหนึ่ง กับปัญหาเรื่องอื่นๆก็ทำได้ด้วยวิธีการเดียวกัน คือดูตนเอง เห็นบ่อยๆว่า เงื่อนของปมความทุกข์มันอยู่ตรงไหนก็แก้ที่ตรงนั้น แก้ที่ที่มันแก้ได้ รู้ทันใจและความคิด ใส่ความคิดที่ดีๆ สอนจิตเข้าไปมากๆ จนสามารถเปลี่ยนนิสัย นั่นแหละเราจะเห็นหนทางใหม่ที่จะออกจากทางเดิมๆ
การคลุกคลีกับอะไร หรือป้อนอะไรซ้ำๆ จะทำให้ใจซึมซับได้ ดังนั้นอะไรที่เป็นปฏิปักษ์กับความคิดที่จะนำความสุขมาให้ เช่น ฟังเพลงนี้ทีไรเศร้าทุกที ก็อย่าไปฟัง อ่านหนังสือธรรมะ คลุกคลีกับธรรมะบ่อยๆช่วยได้ เดินตามกฎแห่งกรรม ให้ความรู้ ให้ธรรมทานเพื่อช่วยให้ผู้อื่นคิดได้ พ้นทุกข์ และมีสุข ก็ช่วยให้เราคิดเห็นหนทางออกได้ง่ายขึ้น
หนึ่งนิสัยที่พึงมีก็คือ มีทุกข์อย่านิ่งดูดาย ทบทวนว่าเราจะแก้อย่างไรให้พ้น ปํญญาของเราจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณปัญหาที่เข้ามา และชีวิตเราจะดีขึ้นเรื่อยๆด้วย :)
ปล. เวลามีความทุกข์ ญชินที่จะอยากให้คนพ้นทุกข์เรื่องนั้น เพราะเข้าใจว่าทุกข์อย่างนี้มันเป็นอย่างไร ความปรารถนาดี และลงมือศึกษาทั้งจากข้อมูลภายนอกและตนเอง ทำให้เข้าใจตนเองมากขึ้น กับทั้งถ้าพูดในแง่ของกรรมก็คือเราปรารถนาดีช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ เราก็พ้นทุกข์ได้ไวเช่นกัน
********
"วิธีที่เราคิดคือชีวิตที่เราเลือก"ดังตฤณ