ทำอย่างไรให้พูดกันแล้วเข้าใจกัน

talkพูดถึงความสามารถในการคุยกัน ปัญหาของการไม่สามารถพูดคุยมีปัจจัยอะไรบ้าง

ข้อแรก สำหรับคนแปลกหน้าที่เราไม่รู้จัก หรือเราไม่ได้อยากทำความรู้จัก เราไม่รู้ว่าเขาเป็นอย่างไร และเราก็ไม่ได้เปิดใจอยากรู้จักเขา การสื่อสารจะทำให้เราเข้าใจกันอย่างผิวเผิน แต่ในสถานการณ์ที่เราต้องพูดคุยเพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น หรือเพื่อสานผลประโยชน์ในเพิ่มขึ้น

ตัวแปรข้อสอง  ที่ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน เพื่อจะไม่ให้เกิดปัญหาคือ เป้าหมายในการคุย เราต้องดูว่าเป้าหมายในการคุยครั้งนั้นคืออะไร อีกฝ่ายมีเป้าหมายอย่างเราไหม เช่น ถ้าเป้าหมายในการคุยของทั้งสองฝ่ายคือ ฉันอยากให้เธอตามใจฉัน ส่วนเธออยากให้ฉันตามใจเธอ อันนั้นคงคุยกันได้ยาก.... ถ้าเปลี่ยนเป็นตรงกลางคือ เป้าหมายคือ เราคุยกันเพื่อให้เข้าใจกันมากขึ้น คุยกันเพื่อแก้ปัญหานี้ คุยกันเพื่อความก้าวหน้า อันนี้อาจจะง่ายขึ้นหน่อย

ข้อสาม ปัจจัยต่อมาคือในเรื่องความต่าง ที่เป็นปัญหาและทำให้รู้สึกว่าเราคุยกันไม่ได้ ความต่างมีอะไรบ้าง ก็เช่น การศึกษา พื้นเพ ประสบการณ์ สิ่งแวดล้อม ในทางพุทธก็ ความเชื่อ นิสัย การลดทิฏฐิมานะ การรู้จักใช้เหตุผล (ศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา) ยิ่งคล้าย หรือเหมือนกันเท่าไหร่ ยิ่งคุยกันได้เข้าใจ ทั้งนี้ใครจะไปอยู่ในพื้นเพ แบบใด สภาวะแวดล้อมแบบไหน คนแวดล้อมอย่างไร เพื่อหล่อหลอมให้มีลักษณะนิสัย ความเชื่อ ปัญญา หรือวิธีคิดอย่างไรนั้นมาจากกรรมเป็นแดนเกิด ซึ่งรากเหง้าของกรรมนั้นมาจากวิธีคิดหรือจิตใจนั่นเอง

ดังนั้นถ้าพูดในทางด้านกรรม หรือด้านจิตใจก็คือ ทั้งสองฝ่ายมีใจเสมอกัน ใจที่ต่างนำไปสู่วิธีคิด และการนำข้อมูลมาคิดที่ต่าง เมื่อมีความต่างเราต้องดูว่า และเมื่อมีปัญหาเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ข้อมูลแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไรก็แล้วแต่  มันมีจุดเงื่อนอะไรที่ทำให้คุยกันไม่ได้ คุยกันไม่เข้าใจคือ

ข้อสี่ เงื่อนไขของใจเรา ในการยอมรับความต่าง เราต้องดูว่า เราได้ตั้งกำแพงหรือเงื่อนไขไว้หรือเปล่า

การตั้งเงื่อนไข หรือกรอบว่ามันควรจะเป็นอย่างไร มันต้องเป็นอย่างนี้ ฉันจะทำอย่างนี้ เธอต้องทำอย่างนี้ มันไม่ใช่ในประสานความเข้าใจหรือผลประโยชน์ แต่มันเป็นการพูดเพื่อให้อีกฝ่ายเข้าใจเรา คือเราจะปักหมุดอยู่ตรงนี้ ถ้าพูดในเรื่องความสัมพันธ์ก็คือ ฉันไม่เปลี่ยน ให้เธอเปลี่ยน ถ้ามันไม่ใช่เรื่องเหตุผลที่ควรจะเปลี่ยน แต่เป็นเรื่องการบอกให้เปลี่ยนเพื่อตามใจ ตามอารมณ์ฉัน อย่างนี้ไม่ใช่ความรัก แต่เป็นความเอาแต่ใจ หรือในกรณีที่มีปัญหา แต่ไม่ช่วยกันคิด หรือคิดอยู่ฝ่ายเดียว แล้วให้อีกฝ่ายปรับอยู่ฝ่ายเดียว ผลมันคือ อีกฝ่ายพัฒนาความคิด พัฒนาตนเอง พัฒนาจิตใจ(ที่จะอดทน) ก็คือก้าวหน้าอยู่เดียว ยิ่งนานก็จะทำให้เกิดความต่าง และช่องว่างที่มากขึ้น หรืออีกกรณีคือ เขามีกรอบ เขาไม่ได้อยากคุยกับเรา ไม่ได้อยากรู้จักเรา(หรือในบางกรณีก็คืออยากให้เราเข้าใจเขาอย่างเดียว) อันนี้ก็คุยกันไม่ได้ เพราะเขาไม่เปิด

การตีกรอบ การตั้งเงื่อนไข ที่สำคัญคือทำให้อีกฝ่ายอึดอัด

พูดถึงวิธีการแก้ไข ความต่างเป็นเรื่องที่สะสมมา เราเปลี่ยนมันไม่ได้ แต่ในการคุยเพื่อให้สัมฤทธิ์ผลมันทำได้ หากทั้งสองฝ่ายมีนิสัยหรือความพร้อมด้านหนึ่งคือ พร้อมที่จะปรับ ปัจจัยที่เราสามารถเปลี่ยนได้คือ การตั้งเงื่อนไข ลดเงื่อนไขออก แล้วปรับความต่างให้เหมือนกันมากยิ่งขึ้นได้

การฝึกใจให้ไม่มีเงื่อนไข คือการฝึกใจให้รู้จักสละวางความคิด หรือกรอบที่ตนเองยึดอยู่ ทำได้สำหรับคนที่มีใจรู้จักให้ รู้จักสละความเห็นแก่ตัวของตน ฝึกตนให้มีใจประเภทนี้ได้ด้วยการรู้จักให้ทาน ทรัพย์ สิ่งของ เวลา ปัญญา กำลังกาย กำลังใจ และการให้อภัย

วิธีแก้อีกทางหนึ่งคือ ต้องฝึกให้ใจมีความมั่นคงทางอารมณ์ คือถ้าเราเป็นคนหวั่นไหวตามอารมณ์ได้ง่าย พูดด้วยความโกรธ อารมณ์คือทางสายตรงข้ามกับเหตุผล ยิ่งพูดด้วยอารมณ์ เราจะยิ่งห่างความจริงออกไปเรื่อยๆ อีกอย่างคือถ้าคนฟังก็ไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์(ซึ่งคนในยุคปัจจุบันส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนั้น) มันเหมือนบทสนทนาของคนทั้งสองอยู่บนคลื่นทะเลที่แปรปรวน ฝึกใจได้ด้วยการทำสมาธิ ให้อยู่ในอารมณ์อันใดอันหนึ่ง ไม่วิ่งแส่ส่ายออกไปตามใจ เช่น การเอาลมหายใจเข้าออกเป็นฐานที่ตั้ง การสวดมนต์(ขอบทยาวๆหน่อยให้ใจมีช่วงเวลาเข้าที่)

การตั้งเงื่อนไข และความไม่สามารถเห็นอะไรตามจริง จะทำให้เราไม่สามารถเห็นข้อมูลทั้งหมด ข้อมูลของอีกฝ่าย และเรื่องราวตามความเป็นจริง

สรุปคือ แก้พื้นของเก่าไม่ได้ แต่แก้ที่ใจ ที่พร้อมจะเปิดรับสิ่งใหม่ๆได้ ซึ่งความพร้อมที่จะเปลี่ยนนี่แหละ นำไปสู่ความก้าวหน้าของตัวเรา ถ้าจะให้การสนทนาสัมฤทธิ์ผลสูงสุด ก็ต้องดูทั้งสองฝ่าย ดูว่าเขาพร้อมที่จะปรับไหม ดูจังหวะเวลาที่เขาพร้อมจะเปิดใจฟัง ทั้งสองฝ่ายต้องไม่มีกำแพง เราต้องไม่ตั้งกำแพงให้อีกฝ่ายเข้ามาไม่ได้ เขาต้องไม่มีเงื่อนไขหรือกำแพงให้เราก้าวข้ามไปได้ ซึ่งปรับทั้งสองฝ่ายได้ ก็คือพัฒนาความสัมพันธ์ได้

ประเด็นในเรื่องความต่างความเหมือนมีความสำคัญมาก พี่ชายเคยบอกไว้ว่าถ้าใจเสมอกันแล้วก็ไม่ต้องปรับอะไรมาก เพราะมีความเหมาะสมกัน ใจที่เหมาะสมกันคือใจที่มีเป้าหมายอย่างเดียวกัน สะอาดไม่คิดเบียดเบียนอีกฝ่ายเพื่อตนเองเสมอกัน มีน้ำใจเมตตาปรารถนาให้อีกฝ่ายมีความสุขเหมือนๆกัน และรู้จักคิดใช้เหตุใช้ผมากกว่าใช้อารมณ์ในการคุยพอๆกัน เมื่อนั้น การสนทนา หรือการสานสัมพันธ์ใดๆก็มีแต่ความก้าวหน้า ความเข้าใจกันมากขึ้น ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

ทั้งหมดที่เขียนมาคือ เรื่องธรรมะ เรื่อง ทาน ศีล สมาธิ ภาวนา ศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา ทั้งนั้น เห็นไหมว่า ธรรมะไม่ได้ไม่แต่เรื่องเข้าวัดไปทำบุญนะคะ หากเข้าใจ หากเรียนรู้ถูก จะรู้วว่าธรรมะเป็นเรื่องของการเรียนรู้ธรรมชาติ และการฝึกใจเพื่ออยู่กับธรรมชาติได้อย่างมีความสุขมากขึ้น;)

ประเด็นสุดท้าย ความรักต้องอาศัยอารมณ์หนึ่งในการคุยเหมือนกัน คือ อารมณ์รัก เมตตา ปรารถนาดีอยากให้อีกฝ่ายมีความสุข และอยากเดินไปด้วยกัน ถ้ามีอารมณ์นี้ ทั้งสองคนจะคุยกันง่ายขึ้น :)


 © Copyright 2011. เหตุเกิดจากความรัก.