มีทุกข์ ทำอย่างไร หนี ทน หรือเรียนรู้
เวลาที่มีทุกข์......
คนกลุ่มหนึ่งหนี
ลักษณะของคนกลุ่มนี้ เวลาที่มีทุกข์เขาก็หันเหไปทำกิจกรรมอื่นเพื่อให้ลืมทุกข์ เช่น เที่ยว ช๊อปปิ้ง กินเหล้า
กล่าวกันในทางกุศลก็มี ทำบุญเพื่อขอพร
การแก้ไขความทุกข์แนวนี้ ไม่ได้บอกว่าไม่ดีนะ อย่างน้อย ก็ไม่เอาใจตัวเองไปจดจ่อกับความทุกข์ มันก็ดีแบบหนึ่ง แต่มันก็ยังไม่สามารถแก้ไขความทุกข์ หรือแก้ไขสาเหตุแห่งทุกข์ได้ เพราะเราหนีปัญหา ยังไม่รู้จักปัญหา
คนกลุ่มหนึ่งทน
คนกลุ่มนี้ออกแนวพระเอกนางเอกดราม่า รู้เค้าหลอกแต่เต็มใจให้หลอก หรือ ยอมเจ็บเพราะรัก (หวังลึกๆว่าเขาจะเปลี่ยน)
ชาวพุทธเรามีความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม แต่เชื่อในศักยภาพของความเป็นมนุษย์ผู้มีปัญญาด้วยนะคะ เราเชื่อในกรรมปัจจุบัน
การอดทนไม่ทำไม่ดีตอบเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้ถูกเรียนรู้ ปัญญายังไม่ได้เอามาใช้ ความรู้สึกทุกข์ ยังถูกกดไว้ ไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูก
คนกลุ่มหนึ่งเรียนรู้
คนกลุ่มนี้เรียนรู้ทุกข์ และเหตุแห่งทุกข์เพื่อจะได้ไม่ต้องกลับมาทุกข์ซ้ำๆ
ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่สอนให้พ้นทุกข์ได้จากการเข้าใจเหตุและผล สอนให้รู้ว่าอะไรเป็นเหตุจะได้ไม่ต้องพลาดทำเหตุนั้นๆแล้วต้องมาทุกข์ซ้ำๆ ดังนั้นการสอนทุกอย่างของพระพุทธเจ้าจีงทรงชี้แจง เหตุผลที่ถูกต้อง พร้อมๆกับอธิบายวิธีการที่ถูก ซึ่งหากเราทำไม่ถูก ก็ต้องทุกข์ไปเรื่อยๆ
ดังนั้นหากเรามีทุกข์เรื่องความรัก การหนี หรือการทน ย่อมไม่ใช่ทางแก้ปัญหา
ที่ถูกเราควรย้อนมาศึกษาที่ตนเองว่า อะไรที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ของเรา
ถ้าจะว่าโดยพื้นฐาน ทุกข์ในเรื่องใดจะหายเมื่อหมดกรรมในเรื่องนั้นๆ เมื่อหมดเหตุ เมื่อสร้างนิสัยใหม่ในทางตรงข้าม จะหมดชะงัดเรื่องหนึ่งๆ จะช่วยให้เราหมดทุกข์เรื่องนั้น มีชีวิตใหม่ที่ดีขึ้น สุขขึ้น แต่ขอบเขตจำกัดในเรื่องนั้นๆ
และด้วยเหตุที่เราจะต้องทุกข์ไปเรื่อยๆเรื่องอื่นๆได้จนกว่าจะหมดลมหายใจ เราจึงควรมาเรียนรู้เรื่องการภาวนา
การภาวนาไม่ได้ช่วยให้หมดทุกข์ แต่ช่วยให้เห็นทุกข์ เข้าใจทุกข์ และไม่ต่อเติมทุกข์ด้วยการคิด ช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนนิสัยเพื่อเปลี่ยนเส้นทางกรรม ในการช่วยทำให้มีสติ ไม่ตอบโต้ด้วยกิเลส ในประเด็นแรกด้วย แต่สำหรับคนที่ไม่เคยหัดเลย หรือเพิ่งเริ่มต้น ต้องใช้เวลาบ้าง แต่ขอบเขตการแก้ปัญหาทุกข์นั้นกว้างกว่า ใช้ได้กับทุกเรื่อง มีสติและเรียนรู้ได้ทุกที่ ไม่ต้องรอห้างเปิด ที่เที่ยวเปิด วัดเปิด
แต่ก่อนที่จะพูดถึงการภาวนา ก็ต้องกล่าวถึงพื้นฐานที่พระพุทธองค์ทรงให้ไว้ ได้แก่ การทำทาน รักษาศีล ทำสมาธิ ซึ่งญจะอธิบายว่า การทำทาน รักษาศีล ทำสมาธิ ที่ถูกต้องนั้น ช่วยแก้ปัญหาทุกข์ของเราได้อย่างไร
การทำทานช่วยให้หายทุกข์ได้ ไม่ใช่เพราะทำแล้วเราจะได้บุญ มีบุญไปแลกคำขอพร แต่การทำทานที่ถูก คือทำด้วยใจสละ ด้วยใจอนุเคราะห์ ด้วยความตั้งใจสละส่วนของผู้ตนให้ผู้อื่น จะช่วยฝึกใจเราไม่ให้ยึด และจิตจะเริ่มเข้าใจมากขึ้นๆว่า การสละดีกว่าการหวงยึดอย่างไร ซึ่งนำไปสู่ความเข้าใจ คำว่า "ปล่อยวาง"
การรักษาศีล ก็ไม่ใช่แค่การรับจากปากพระ และไม่ใช่อย่างการพยายามถือให้ตนเองลำบาก แต่เป็นการถือศีลเป็นการรักษาใจ ให้เกิดความปกติ คือไม่ตามอารมณ์อยาก ดิ้นรน (ก็ไม่ปกติ เลยดิ้น พอเราไปตามความอยาก ก็คือตามการดิ้น มันก็ผิดปกติ) ซึ่งการรักษาใจให้อยู่ในศีลนั้น ก็คือการรักษาใจเพื่อไม่ให้ไปละเมิดผู้อื่น อันจะย้อนมาให้ผลเป็นทุกข์แก่ตัวเราในอนาคต การรักษาใจรักษาศีล ตั้งใจไม่เบียดเบียนคนอื่นด้วยคำพูดและการกระทำนี้จะช่วยทำให้ใจเราสงบพอที่จะเห็นอะไรตามจริง อย่างตอนโกรธ เราไม่ด่าไปก่อน ใจเราจะสงบง่ายกว่า ด่าไปก่อน พอเราสงบแล้ว เราก็สามารถใช้ปัญญาทบทวนสิ่งที่ควรจะพูด ที่จะเป็นประโยชน์จริงๆ
ส่วนคำว่าภาวนาในศาสนาพุทธนั้น ไม่ได้หมายถึงการนั่งหลับตา ให้ใจเงียบๆ อันนั้นเรียกสมถะ ทำให้เกิดสมาธิ การทำสมาธินั้นมีข้อดีคือทำให้ใจไม่เร่าร้อนตามอารมณ์ แต่มันก็ยังไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ กล่าวในอีกแง่หนึ่ง การพยายามทำให้ใจสงบอย่างเดียว ยังไม่ช่วยให้ใจพ้นทุกข์ได้หมด เพราะเรายังไม่เข้าใจเหตุของทุกข์
เวลาที่ญมีปัญหาก็ได้ใช้ทุกสิ่งที่กล่าวมานี้รวมกันคือ ตอนมีปัญหาแรกๆ บางครั้งก็ยังเป็นธรรมดาสำหรับคนชอบใช้อารมณ์มากๆมาก่อนอย่างญ คือมีอารมณ์โกรธ หรือเสียใจไปด้วย แต่เพราะทานที่ฝึกมาให้รู้จักสละความยึดของตนเอง ตั้งใจอยากให้อีกฝ่ายเป็นสุข ศีลที่ฝึกมาว่าจะไม่พูดประชดให้อีกฝ่ายเสียใจ ทำให้ใจสงบขึ้น ไม่ทำตามอารมณ์ พอนำปัญหามาไตร่ตรองด้วยปัญญาก็ทำให้เห็นทางออกดีๆ พูดดีๆ ทำดีๆ สุดท้ายก็หมดปัญหา อีกฝ่ายก็ไม่ทุกข์ เราก็หมดทุกข์ อันนี้เป็นเรื่องของการจัดการปัญหา
คือถ้าไม่ฝึกพื้นฐาน ทาน ศีล สมาธิตรงนี้ ถึงเวลาที่มีปัญหา เราห้ามอารมณ์ตัวเองไม่ทัน เราก็จำสิ่งที่คนอื่นเตือนไม่ได้ จำความรู้หรือธรรมะที่เราอ่านมาไม่ได้
นอกจากนี้ ในเรื่องใหญ่ในภาพรวม พระพุทธเจ้าท่านว่าทุกข์ เกิดจากความเห็นผิดว่าทุกอย่างเป็นตัวเราของเรา ทั้งที่ธรรมชาติความเป็นจริง ทุกอย่างมันเกิดขึ้นจากเหตุ หมดเหตุผลก็ดับ แม้แต่อารมณ์เราก็ไม่คงที่ เกิดมาเอง เราไปบังคับไม่ได้อยู่แล้ว แต่เราก็ถือว่ามันเป็นเราเอง
สรุปว่า การหนีทุกข์ ไม่ได้ช่วยทำให้เราเกิดความอดทน หรือเกิดปัญญา การทนทุกข์แตกต่างจากการเข้าใจทุกข์ ตรงที่ทนไปเรื่อยๆ มันไม่ได้ช่วยให้เกิดปัญญา อาจจะอึดขึ้น ทนขึ้น แต่มันยังมีความเข้าใจผิดว่าทุกข์เป็นของเรา เราจะเก็บจะกดมันไว้ ทั้งนี้ถ้าเรียนรู้ทุกข์ด้วยปัญญาเราจะได้ความอดทนเหมือนกัน แต่ต่างกันที่เราอดทนดูมัน ว่ามันมาอย่างไร เหตุคืออะไร ธรรมชาติความจริงของทุกข์เป็นอย่างไร เข้าใจว่ามันมาโดยเหตุ มันจบโดยเหตุ มันเกิดขึ้นเพราะเหตุ สั่งให้หยุดไม่ได้ แต่ก็หนักเบา แปรปรวนไม่คงที่ เป็นไตรลักษณ์ แบบนี้เป็นการใช้ความทุกข์เพื่อให้เกิดปัญญาและความอดทนอย่างคุ้มค่า :)