การพ้นทุกข์ที่ไม่สิ้นสุด

เคยทุกข์เพราะความสงสัยบ้างไหมคะ?

สงสัยว่าเขาคิดอย่างไร สงสัยว่าตอนนี้เค้าทำอะไรอยู่ สงสัยว่าเค้ารักเราจริงไหม สงสัยว่าโกหกเราหรือเปล่า

สังเกตไหม ธรรมดาของชีวิตคนเราก็แบบนี้ มีแต่ความสงสัยและการหาไม่จบสิ้น

เวลาญเดินห้าง ญจะรู้สึกบ่อยๆและเห็นคนอื่นก็เป็นแบบนั้นคือ เราเดินแบบตามหาสิ่งที่เราขาด

คือจริงๆเราไม่ได้ขาดอะไรหรอก แต่เดินเล่นไปเหมือนเรากำลังหาอยู่ แวะร้านนู้นร้านนี้ว่าจะเจอของที่สวย เสื้อที่เป็นสไตล์เรา เราเดินตามหาของที่ใช่

ตอนหิวก็เป็นตัวอย่างที่ดีอย่างหนึ่ง พอรู้สึกว่าต้องกินข้าว ก็จะคิดว่าจะกินอะไรดีน้า...แล้วก็คิดจินตนาการถึงรสอาหาร ภาพร้านอาหารต่างๆในหัว

สรุปได้ว่าชีวิตคนเราหาอยู่ตลอดเวลานะ แต่เรื่องเล็กๆอย่างช้อปปิ้ง กินข้าว เราก็ไม่เห็นว่ามันจะทุกข์มาก เพราะเดี๋ยวก็หาอะไรมาสนอง need ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องอื่นๆที่เรา blank. และเราทุกข์กับมันมากที่มัน blank ที่เราไม่รู้ เราจะเกิดการกระวนกระวายมากน้อยตามความอยากละ แล้วก็ต้องใช้ความพยายามดิ้นรนหาคำตอบให้ได้ตามที่หาหรือสงสัย ซึ่งปัจจัยที่จะมาตอบเราได้นี่สรุปว่าอยู่ข้างนอกหมดเลย

ทั้งเสื้อผ้า อาหาร และคน แต่เสื้อผ้า อาหารนี่มันยังเถียงเราไม่ได้ แต่คนนี่เป็นปัจจัยภายนอกที่คุมไม่ได้นะ

กลายเป็นว่าชีวิตเรา blank ทีไร ทุกข์ทีไรก็ต้องพึ่งข้างนอกหมดตลอดกาล ตลอดไปหรือ?

ในพุทธเราชอบตอบ และดับทุกข์ด้วยตนเอง(พึ่งตนเอง) แบบมีวันจบนะ

เราถูกสอนให้รู้สิ่งที่รู้ได้ รู้สิ่งที่เกิดประโยชน์ รู้ที่จบ

อย่างเวลาเรามีความทุกข์เรื่องความรัก แทนที่จะสงสัยว่าเค้ายังรักเรามั๊ย ซึ่งบางกรณีอาจจะถามได้ แต่หลายกรณีถามไป เค้าตอบมา เราเองก็ไม่แน่ใจซะงั้นจะทำยังไง

ดังนั้นทางออกจึงไม่ได้จบด้วยการถามไปเรื่อยๆ พิสูจน์ไปเรื่อย

คนส่วนใหญ่แก้ทุกข์ด้วยการ “หา”

แต่คนที่ศึกษาธรรมะจะเรียนรู้ทุกข์ด้วยการ “เห็น” ความจริงของธรรมชาติ เห็นความจริงที่ต้นเหตุแห่งทุกข์ว่า เราทุกข์เพราะ"ความอยากรู้" การตั้งคำถามไม่สิ้นสุด เห็นว่าอาการนี้เกิดขึ้นมาเองเพื่อสร้างเรื่องให้เราทุกข์ สร้างเรื่องให้ยืดเยื้อ และบางคนทำไปด้วยอารมณ์น้อยใจ โกรธ อาจก่อให้เกิดเรื่องไม่ดีใน ความสัมพันธ์ตามมาอีกมากมาย ยิ่งอยากรู้ยิ่งทุกข์ ขยันมีสติรู้เห็นตามจริง ต่อไปมันจะไม่ต้องคิดยาวช่วยละ แค่รู้ว่ามีอาการดิ้นรน และเห็นมันเป็นของไร้สาระก็ดับไป เข้าใจว่า หลายเรื่อง ไม่มี ไม่รู้ ไม่ได้ทำให้ตายนะ ที่มันทุกข์มากเพราะใจดื้อมาก เอาแต่ใจมากต่างหาก (สิ่งที่ขาดแล้วทำให้เราตาย มีแต่ปัจจัยสี่ อาหาร ยา ที่อยู่ เครื่องนุ่งห่ม จ้า :) )

ถ้ามีคำถามแทนที่จะหาคำตอบจากคนอื่น ลองย้อนกลับมาถามตนเองก่อนว่า รู้ไปแล้วช่วยให้เราพัฒนาตนเองขึ้นได้ไหม มีปัญญาขึ้นไหม หรือแค่ได้สนองความอยากรู้ไปครั้งหนึ่ง แก้อาการคันไปครั้งหนึ่ง แต่ไม่จบจริง


ถ้าอยากให้ความรักดีๆ ไม่ต้องหา แต่ให้สร้างเหตุที่ดีตามกฎแห่งกรรม (แนะนำหนังสือ เหตุเกิดจากความรัก http://www.sangtean.com/love/reading )

เข้าใจก่อนว่าความรักคืออะไร ความรักคือการให้ ใครๆก็รู้ แต่ที่ทุกข์นี่เพราะอยากได้ใช่ไหม ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ได้แปลว่ารักอยู่ ให้แก้ที่ความเข้าใจผิดของเรา ใครทุกข์แก้ที่คนนั้น วางที่คนนั้น


เหตุแห่งรักคืออะไร ความรักความพึงใจ ล้วนเกิดจากความสุข ปรารถนาความรักก็ต้องทำตนให้น่ารัก ทำจิตใจให้ดี ให้งาม


สร้างเหตุคือพัฒนาตนเองให้มีจิตใจที่ดี จึงจะรู้จักรักคนที่ดี และพร้อมๆกันนั้นบุญจะดึงดูดคนที่ดีเข้ามาหาได้มากกว่าที่เราเป็นคนไม่ดีแน่


เรื่องสุดท้ายคือการพัฒนาปัญญาทางด้านจิตใจ คือรู้จักละวางเหตุแห่งทุกข์ คือ

ความอยาก ความอยากนี่เป็นที่มาของความทุกข์คือ ยิ่งอยากยึดมาก หวงมาก ก็ยิ่งหึง หวงแล้วทุกข์ไม่พอ หึงแล้วยังพาลหาทุกข์ให้คนอื่น ฝึกให้ ฝึกสละ เห็นโทษทุกข์ของความอยากยึดบ่อยๆ ใจจะเริ่มมีปัญญา แล้วพอวางเหตุแห่งทุกข์ ใจก็มีความสุข รู้จักรักอย่างฉลาด

ความโกรธ ความโกรธนี่เกิดจากความไม่พอใจ เมื่อเรารัก รักคือความพอใจ ก็ไม่ควรทำสิ่งใดที่ตรงกันข้าม การพร่ำบ่น ตำหนิ จับผิด คนรัก หรือผู้อื่น ไม่ได้เป็นการฝึกรักอย่างฉลาด ตรงข้ามใจที่ทำไปด้วยความไม่พอใจ ความร้อนทำให้คนอื่นอย่างออกห่าง และการที่เราทำเช่นนั้นคือตั้งแต่เริ่มคิดไม่พอใจ ก็คือเรากำลังสร้างเหตุแห่งทุกข์แล้ว

ความไม่พอใจเกืดจากการไม่ยอมรับสิ่งต่างๆตามความเป็นจริง คือเอาแต่ใจนั้นแหละ ความจริงเขาเป็นอย่างนี้แต่เราอยากให้เป็นอีกแบบ คนอื่นเป็นแบบนี้แต่เราอยากเปลี่ยนเขา กรรรมเราพาให้มาเจอแบบนี้แทนที่จะแก้ที่ตนเองแล้วสร้างเหตุที่ดีเพื่อให้กรรมหมดเร็วขึ้นแต่กลับไปเร่งแก้คนอื่นแทน พอทำไม่ได้เพราะความจริงต้องเป็นอย่างนั้น เราอยากขัดกับความเป็นจริงเอง ก็เลยทุกข์เอง

การเข้าใจสิ่งต่างๆตามจริง เป็นการฝึกให้จิตใจตนเองฉลาด ฝึกรู้ทันอารมณ์โกรธว่ามันไม่ใช่ของเรา ถ้าทำตามก็โง่อีกละนะ แล้วเดี๋ยวจะก่อเรื่องให้แย่ขึ้น อารมณ์มันขึ้นเองก็ดับเอง ฝึกบ่อยๆ จิตจะฉลาดขึ้น

ความใคร่ หลายคนเข้าใจผิดว่า เกิดอารมณ์ใคร่พอใจใครแล้วก็แปลว่ารักอย่างเดียว ที่จริงความใคร่ก็คือความใคร่ มันทำให้ตาเราบอดและมองไม่เห็นตามจริงด้วย ความรักที่ดีต้องมีองค์ประกอบมากกว่าความใคร่

คู่ชีวิตจะต้องเป็นคนที่มีความเหมาะสม อ้างอิงตามหลักพระพุทธเจ้าก็คือ ต้องมีศรัทธาความเชื่อเสมอกัน ศีลความดีงามเสมอกัน จาคะรู้จกเสียสละและมีน้ำใจเสมอกัน ปัญญาความสามารถในการเข้าใจปัญหาเสมอกัน

คนที่ฉลาดจะไม่ปล่อยให้ความอยากความใคร่ปิดใจตนเองจนมิด แต่เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เรา หลงยึดอย่างผิดๆ เมื่อเห็นสาเหตุแห่งการยึด ซึ่งก็คือเหตุแห่งทุกข์ เราก็จะมีความระมัดระวังมากขึ้น ไม่หลงติดกับดัก ทำให้ตกเป็นทาส ไม่สามารถมีสุขตามจริง

การพ้นทุกข์ในทางพุทธศาสนาอยู่ที่ความเข้าใจธรรมชาติของสิ่งต่างๆ ฝึกให้เรารู้ทัน และไม่หลงเป็นเหยื่อของมัน คือไม่เข้าไปครอบครองหลงเชื่อความอยากรู้ ให้ความไม่รู้พาทำสิ่งต่างๆไปมั่วๆ ให้รู้จักหน้าตาของมันแล้วไม่เออออเห็นความรู้สึกเหล่านั้นเป็นของเรา ทั้งที่มันก็ไม่ได้บอก

เมื่อพัฒนาการเห็นได้ชัดขึ้นเท่าไหร่ ก็จะทำให้เกิดปัญญา สิ้นสงสัยโดยไม่ต้องถาม

ไหนๆก็เขียนแล้ว ญแนะนำการฝึกภาวนาตามแบบที่ญทำอยู่ คือการฝึกสตินี่คือการฝึกรู้ตัวตามจริง เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่สิ่งที่สร้างเอาเอง สิ่งที่เราสร้างเองส่วนใหญ่ก็คือความคิดนั่นแหล คิดทั้งๆที่ยังไม่รู้ ก็เลยทุกข์

ให้ฝึกมีสติรู้อยู่กับตัว เห็นของจริงที่เห็นได้บ่อยๆคือ เห็นกายค่ะ

แบ่งแยกเป็นเห็นกายแบบเห็นอิริยาบถใหญ่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด มีอาการใดอยู่ก็รู้เห็นตามจริงในอาการนั้นๆ

เห็นกายแบบเห็นอิริยาบถย่อย อย่างตอนนั่งอยู่ มันจะรู้สึกเห็นอาการตึง ไหว อ่อน ขยับ อะไรก็รู้ตามจริงไปเช่นนั้น

ไม่ต้องพยายามหา เพียงแต่ระลึกว่าจะรู้กาย แล้วรู้สึกอย่างไร ก็ให้มีสติระลึกรู้ตาม

ช่วงแรกๆระหว่างที่ฝึก หรือในช่วงทำงาน อาจจะเผลอหายไปนาน หรือหลงไปกับความคิด การเห็น การได้ยิน และอื่นๆบ่อย ก็ไม่เป็นไร รู้แล้วว่าหลงไปเมื่อไหร่ ก็มาระลึกรู้ที่กายอีก ไม่ต้องบังคับว่าห้ามไหล เพียงแต่ไม่ปล่อยใจไปหลง กลับมาระลึกที่กาย เพราะอันที่จริงมันห้ามไม่ได้ เราฝึกที่จะหลงไปกับความคิด การเห็น การได้ยิน และอื่นๆมานาน แต่ฝึกไปบ่อยๆ แบ่งเวลาส่วนตัววันละ 10 นาที ไปถึงชั่วโมง ในการพึ่งตนเอง อยู่กับการรู้กายให้ต่อเนื่อง (แนะนำว่าให้อยู่ในรูปแบบเดินจงกรมในช่วงแรกก่อนก็ได้ จะได้มีหลัก ไม่หลงไปนาน)

พอทำไปจนเริ่มชิน จะเห็นว่าอาการปรุงแต่งน้อยลง และสติจะไวต่อการเวิ่นเว้อออกไปคิดมากขึ้น นิสัยคิดมาก ขี้สงสัย ที่เป็นเหตุแห่งทุกข์จะลดลงไปด้วย วิธีนี้เป็นวิธีฝึกขั้นพื้นฐาน

เมื่อรู้กายบ่อยๆ เห็นตามจริงว่า แม้กายที่เราเห็นว่าเป็นเรามาตลอด ไปเรียกว่ามันเป็นกายเรา เห็นว่ามันสวยบ้าง ไม่ดีบ้าง เป็นหญิง เป็นอะไร ต่อไปพอภาวนาแล้วมันจะเห็นกายอีกมิติหนึ่งที่ปราศจากชื่อและการให้ค่า สักแต่ว่าเป็นสิ่งต่างๆที่เคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลง เกิดดับ จะทำให้เราเห็นธรรมตามจริง คือคลายความยึด หาสิ่งต่างๆมาสนองกายฉัน

ยิ่งอธิบายจะยิ่งลึก แฟนเพจบางคนอาจจะไม่เคยมีพื้น อาจจะยังไม่เข้าใจ แนะนำให้ลองทำตามดูก่อนนะคะ ใครมีคำถามตรงไหน มาคุยกันอีกทีได้ค่ะ

ขอให้ทุกคนฝึกฝนตนเองยิ่งๆขึ้นไปเพื่อความพ้นทุกข์นะคะ :)


 © Copyright 2011. เหตุเกิดจากความรัก.