ทำไมพระพุทธเจ้าจึงเมตตาพระราหุลและพระเทวทัตเสมอกัน
คนหนึ่งเป็นลูก คนหนึ่งเป็นศัตรูที่ปองร้าย แต่ทำไมท่านจึงเมตตาได้เสมอกัน แล้วเมตตาแบบไหนเช่นไร
ท่านเมตตาได้เสมอกัน เพราะแท้จริงแล้วในสังสารวัฎ มีแต่ดวงจิตที่เดินทางเวียนวนไปในภพภูมิต่าง ๆ
แต่ละคนที่มาพบกัน ที่เราเรียก เป็น คน สัตว์ เรา เขา พ่อ แม่ ชื่อนั้น ชื่อนี้ เป็นการสมมติขึ้นมาในชาติหนึ่ง ๆ
ถ้าแยกเรื่องชั่วคราวออก ทุกคนจะเหลือแต่จิตที่หลงติดกับการเกิด เหมือนกัน
มาเกิดแต่ละชาติ แต่ละช่วงชีวิต ก็สวมบทละครแตกต่างกันไป ตายแล้วก็จบละครเรื่องหนึ่ง แล้วเกิดเพื่อไปเป็นตัวละครตัวใหม่
เมตตาของผู้ที่ละอัตตา คือเมตตาที่มีเสมอกันต่อทุกคน ทุกสัตว์ ทุกสิ่งมีชีวิต
พระอาจารย์สอนหญิงว่า เมตตาคนนั้นคนนี้ คือเมตตาที่ประกอบด้วยอัตตา และราคะ
ไม่เหมือนเมตตาอย่างพุทธะ ที่ไม่มีการยึดมั่นเกาะเกี่ยว ไม่มีประมาณ จึงส่งไปได้กว้างถึงทุกคน ถึงใครก็ได้ (ถ้าคนมาตีลูกเรา เราเมตตาลูกเรา แต่เราด่าคนอื่นใช่ไหม เมตตาเราอยู่ในกรอบแคบ ๆ )
จะเป็นพ่อ แม่ ลูก คนรัก อะไรที่ชื่อว่าเป็นเรา เป็นของเราแล้ว มีอัตตาและเป็นภพ เป็นที่ตั้งให้ใจอยู่ ไม่สามารถพ้นพันธนาการได้ และเมื่อมีเรา มีที่ตั้งแห่งสุข ก็ย่อมมีที่ตั้งแห่งทุกข์
เขียนอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่า เราต้องทิ้งพ่อ ทิ้งแม่ ทิ้งทุกอย่าง นะ
สัมมาทิฎฐิ เกิดจากการเข้าใจตามจริงและเห็นสิ่งต่าง ๆ เป็นกลาง ไม่ข้องเกี่ยวส่วนสุดสองด้าน ทั้งในด้านรักและเกลียด อยากและไม่อยาก
การภาวนาคือการเจริญสติ เห็นสิ่งต่าง ๆ ตามจริงของกฎไตรลักษณ์ ว่ามันต้องแปรเปลี่ยนไป โดยเริ่มจากสิ่งที่เห็นง่ายคือตัวเรา
กายเราที่เห็นอยู่ว่าเป็นชายหญิง แท้จริงคือก้อนที่เกิดจากการรวมกันของธาตุดิน เป็นอวัยวะ เนื้อหนัง น้ำ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำอื่นๆ ลม ลมหายใจเข้าออก พาอ๊อกซิเจนเข้าสู่กาย ไฟ ความอุ่น
เมื่อเห็นกายสักแต่ว่ากาย ก็ไม่หลงยึด
เห็นอาการต่าง ๆ สุข ทุกข์ ความคิด ความจำ ความรู้สึก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพียงสักแต่ว่า เป็นไปโดยอัตโนมัติเมื่อเริ่มต้น (เช่น สัมผัสรับรู้สิ่งนี้แล้วสุขเอง รับรู้สิ่งนี้แล้วทุกข์เอง) แต่เพราะ "สติ" ไม่เท่าทัน หลงยึดว่าเป็นเราจึงเกิดการปรุงแต่งต่อเพิ่มการยึด เพิ่มสุข เพิ่มทุกข์
เมื่อฝึกเจริญสติรู้ตามจริง ทัน ณ ที่เกิด ก็จะหยุดการเกิดอุปาทาน(ไม่เกิดการปรุงแต่ง)ไปชั่วขณะ เห็นสิ่งต่าง ๆ ทำงานไปเอง แล้วดับลง ก็จะทำให้เห็นไตรลักษณ์ ในสิ่งต่าง ๆ เมื่อจิตเห็นตามจริง ก็จะถอนความยึดไปทีละน้อย ทีละหน่อย จนมากขึ้น ทุกครั้งที่ถอนความสำคัญผิด ก็จะทุกข์น้อยลง จนมากขึ้น จนถอนได้หมด ก็คือหมดตัวผู้รับและแบกทุกข์
เมื่อเข้าใจสิ่งที่ใกล้ตัวที่สุด ต่อไปก็จะขยายเข้าใจสิ่งภายนอกว่าไม่แตกต่างกัน
อะไรที่มี ก็สักแต่ว่ามี ไม่ได้หลงยึด อะไรที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อผู้อื่นก็ทำ อะไรที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ก็ไม่ทำ ไม่ได้แปลว่าต้องทิ้งหมดไปเลย ไม่เอาอะไรเลย นี้เป็นการเกี่ยวข้องด้วยปัญญา
หลายคนเวลามีความรัก มักมาปรึกษา บอกว่า อยากผลักไส
ตอนเริ่มรัก ก็อยากดึง ยึดให้อยู่กับตัวนาน ๆ พอรู้แล้วว่าการยึดเป็นเหตุแห่งทุกข์ ก็อยากผลักออก ด้วยความไม่อยาก
ที่จริง มันผลักไม่ได้ เพราะทุกอย่างมันไม่ได้เป็นของเราอยู่แล้ว เราไปติ๊ต่างเองว่า ความรู้สึกนี้เป็นเรา ทั้งที่มันเกิดขึ้นเอง โดยที่เราไม่ได้สั่งเลย
มีรักกี่ครั้งก็เลยต้องทุกข์ เพราะเราไม่เคยแยกเรื่องไม่จริงออกจากเรื่องจริง ความรักกับกิเลส อนัตตากับอัตตา
พระพุทธเจ้าท่านเมตตาพระราหุลกับพระเทวทัติเสมอกัน ด้วยเหตุที่ท่านเห็นตามจริงในเรื่องอนัตตา
ท่านเมตตาแบบเดียวกัน คือ ไม่เกี่ยวข้องด้วยราคะ แต่ก็ไม่มีใจเบียดเบียน
แต่ดวงจิตของใครจะไปสู่ทางไหน มันขึ้นอยู่กับทางเลือกของดวงจิตนั้น ๆ เพราะกรรมที่ส่งสมของแต่ละคนมันยืดยาวนาน เราไปแก้อดีตเหล่านั้นไม่ได้
ว่าแต่เราล่ะจะเลือกทางไหน?
ความปรารถนาจะให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ต้องเข้าใจเหตุแห่งทุกข์ด้วยตนเองก่อนให้ดี ทุกความทุกข์ที่เข้ามา จึงมีไว้ให้เรียนรู้ เหตุแห่งทุกข์อยู่ที่ไหน แล้ววางเหตุเสีย
วิธีทำให้พ้นทุกข์อยู่ที่ไหน รู้แล้วเจริญให้มาก ๆ
เหมือนดังที่พระพุทธเจ้าท่านบรรลุธรรมก่อน แล้วจึงนำมาสอนผู้อื่นได้
พวกเราโชคดีที่ไม่ต้องงมหาคำตอบเอง
เพราะพระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบและชี้ทางให้แล้วในเรื่องอริยสัจสี่
ขออนุญาตนำความสรุปตามที่ครูบาอาจารย์ คือ หลวงปู่ดูลย์ ได้แสดงธรรมไว้มาบอกต่อนะคะ
จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ
_/\_ _/\_ _/\_