พระโพธิสัตว์เรียนรู้โทษของราคะ
ความรักที่บริสุทธิ์ เป็นสุขชนิดที่ไม่เป็นเหตุแห่งทุกข์ ไม่ใช่ความรักด้วยกาม ไม่ใช่ความรักด้วยราคะ
กามและราคะเป็นเหตุให้ยึด ให้หลง ให้หึงหวง เป็นเหตุให้ผิดศีลข้อ 3 เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดในสังสารวัฎ
เราทุกข์เพราะกามมามากแล้ว แต่ก็ไม่เคยยอมวาง เพราะกามเอาสุขแลกทุกข์
รักแท้ ๆ จริงใจ อย่ามองแค่การเสพ
คนรัก ไม่ต่างจากเพื่อน หรือคนในฐานะอื่น ๆ รักกันเพื่อส่งเสริมทางด้านจิตใจ ให้ผ่องใส ไม่มัวหมอง คลายอุปาทานความยึด รักกันเช่นนี้แล้วพ้นทุกข์
นำเรื่องพระชาติครั้งพระพุทธเจ้าเกิดเป็นพระโพธิสัตว์ที่เรียนรู้เรื่องโทษของกามราคะมาฝากค่ะ :)
_/\_ _/\_ _/\_
ครั้งหนึ่งหลังจากที่ได้ตั้งปรารถนาพุทธภูมิ สมเด็จพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า เคยเสวยพระชาติเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าสัตตุตาปนราธิราช" ทรงมีพระเดชานุภาพมาก ทรงปกครองไพร่ฟ้าประชาชนด้วยทศพิธราชธรรม องค์พระโพธิสัตว์ในภพชาตินี้ ทรงมีพระทัยรักใคร่ในหัตถีพาหนะคือช้างเป็นอันมาก หากแม้ทราบว่าที่ใดมีช้างลักษณะดีแล้ว ก็จะทรงมีพระอุตสาหะไปประทับแรมอยู่ ณ ที่นั้น จนกว่าจะจับมงคลคชสารได้ จึงจะกลับสู่พระนคร แล้วทรงมอบให้นายหัตถาจารย์ผู้ชำนาญเวทย์เป็นผู้ฝึกสอนช้างต่อไป
สมัยนั้น มีนายพรานผู้หนึ่งได้พบมงคลคชสาร ท่องเที่ยวอยู่ใกล้สระโบกขรณี จึงได้นำเรื่องไปกราบทูลเจ้าเหนือหัวเพื่อหวังได้ทรัพย์สินเงินทองเป็นการตอบแทน ครั้นพระราชาทรงทราบข่าวก็มีรับสั่งให้เตรียมพหลพาหนะออกเดินทางไปสู่ที่แห่งนั้น เมื่อทรงทอดพระเนตรเห็นมงคลคชสาร ก็ทรงโสมนัสดำรัสสั่งให้ทหารจับช้างนั้นไว้ให้จงได้ แล้วทรงนำกลับพระนครให้นายหัตถาจารย์เป็นผู้ฝึกสอนช้าง และมีพระราชโองการว่า
"ดูกรพ่อหัตถาจารย์ ! ในระหว่าง ๗ - ๘ วันนี้ ท่านจงเร่งฝึกสอนมงคลคชสารที่เราจับมาจากป่านี้ให้มีมารยาทอันดี เราจะเล่นนักขัตฤกษ์มหรสพด้วยมงคลหัตถีอันประเสริฐตัวนี้"
เมื่อนายหัตถาจารย์รับพระราชโองการแล้ว ก็รีบฝึกช้าง เมื่อครบ ๓ วันแล้ว ก็รีบนำมาถวายได้ตามกำหนด ครั้นพอถึงวันนักขัตฤกษ์พระราชาก็สั่งให้ประดับมงคลคชสารนั้น ด้วยมงคลหัสดาภรณ์พิเศษ แล้วเสด็จทรงมงคลคชสารนั้นออกว่าราชการและเสด็จทำประทักษิณพระนครคือเลียบเมืองเป็นที่สำราญพระราชหฤทัย และในคืนนั้นเองฝูงช้างป่าก็ได้เข้ามาในพระราชอุทยานทำลานพรรณพฤกษาชาติน้อยใหญ่ให้แหลกยับ มิหนำซ้ำยังถ่ายมูตรกรีสลงไว้ในที่นั้นเกลื่อนกลาดแล้วพากันหลีกไป พอรุ่งสางนายอุทยานเห็นเช่นนั้น ก็เข้าเฝ้าถวายกราบบังคมทูลเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อพระสัตตุตาปราชาทรงสดับเช่นนั้น ก็ตรัสสั่งให้เสด็จออกทอดพระเนตรอุทยาน ในขณะนั้นพญามงคลคชสารบังเอิญได้สูดดมกลิ่นแห่งนางพังช้างตัวเมียทั้งหลาย ซึ่งยังมีกลิ่นติดอยู่ในที่นั่นก็เกิดความมัวเมาขึ้นมาภายใน ด้วยอำนาจราคะดำกฤษณาให้เกิดความเสียวกระสัน จึงสลัดกายให้นายควานท้ายตกลง แล้วคลุ้มคลั่งแทงทำลายกำแพงอุทยานทลายลง แม้พระราชาจะทรงพระแสงขอคอเกี่ยวเหนี่ยวไว้ด้วยพละกำลัง ก็มิสามารถทำให้พญามงคลคชสารนั้นหมดความบ้าคลั่งและรู้สึกตัวกลัวเจ็บได้ ครั้นแล่นมาถึงป่าแล้วพระองค์ก็ได้รับความลำบากบอบช้ำกายหนักหนา จึงมีสติจึงโน้มเอากิ่งมะเดื่อเป็นหลักเกาะยึดเพื่อทรงกาย แล้วปล่อยให้พญาคชสารนั้นวิ่งแล่นเตลิดไป ข้างฝ่ายไพร่พลทหารทั้งหลายก็ไล่ติดตามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของตน จึงเร่งรีบตามรอยช้างมาจนถึงป่าใหญ่ แล้วร้องเรียกหาพระราชาเจ้า ครั้นเมื่อพบแล้วก็เชิญเสด็จรับพระองค์ลงมาจากคบพฤกษา และประโคมดุริยดนตรีเชิญพระองค์กลับสู่พระนคร เมื่อถึงพระนครแล้วก็ทรงดำรัสสั่งให้นำนายหัตถาจารย์เข้ามาเฝ้า แล้วตรัสถามว่า
"ดูกร นายหัตถาจารย์ผู้เจริญ ! ตัวท่านนี้มีความผิด ด้วยประสงค์จะใคร่ฆ่าเราเสียมิใช่หรือ ?" นายหัตถาจารย์จึงกราบทูลว่า
"ข้าแต่พระราชาผู้เป็นใหญ่ ! เหตุไฉนพระองค์จึงดำรัสกับข้าพเจ้าเช่นนี้เล่า ? เหตุที่ทำให้พญาหัตถีมีอันวิปริตเป็นเช่นนั้น เป็นเพราะอำนาจความเร่าร้อนแห่งราคะกิเลส แม้ได้สมความต้องการของตนแล้ว ก็คงจะกลับมาดอกพระเจ้าข้า" เมื่อสดับดังนั้นแล้วก็ให้ควบคุมตัวนายหัตถาจารย์ไว้ก่อนเพื่อรอคอยให้พญามงคลคชสารนั้นกลับมา
ส่วนพญาช้างเมื่อได้สำเร็จมโนรถกับนางพังช้างแล้วก็รีบกลับเข้าไปในเมืองที่ตนอยู่ พอถึงรุ่งเช้านายหัตถาจารย์ตื่นขึ้นมาเห็นมงคลคชสารยืนอยู่ในโรงแล้ว ก็รีบเข้าไปกราบทูลพระราชา พระองค์จึงรีบเสด็จมาโดยด่วนที่โรงช้าง และมีพระดำรัสว่า
"เออ... ก็มงคลราชหัตถี ท่านสามารถฝึกสอนให้รู้ดีถึงเพียงนี้แล้ว เหตุไฉนวันนั้น เรากดเหนี่ยวไว้โดยแรงด้วยพระแสงขออันคมยิ่ง ยังไม่สามารถที่จะห้ามได้ มันเป็นเพราะเหตุใดหนอ ?"
ท่านอาจารย์ช้างผู้ขมังเวทย์ได้ทีจึงรีบทูลตอบว่า "ขึ้นชื่อว่าราคะดำกฤษณานี้ ย่อมมีคมเฉียบแหลมยิ่ง เกินกว่าคมแห่งพระแสงขอเป็นร้อยเท่าพันทวี อนึ่ง ถ้าจะว่าข้างร้อนเล่า ขึ้นชื่อว่าร้อนแห่งเพลิงคือราคะดำกฤษณานี้ ย่อมร้อนรุ่มอยู่ในทรวงของสัตว์บุคคลอย่างเหลือร้อน ยิ่งกว่าความร้อนแห่งเพลิงตามปกติเป็นไหนๆ อนึ่ง ถ้าจะว่าไปข้างเป็นพิษเล่า ขึ้นชื่อว่าพิษคือราคะดำกฤษณานี้ ย่อมมีพิษซึมซาบฉุนเฉียวเรี่ยวแรงรวดเร็วยิ่ง เกินกว่าพิษแห่งจตุรพิธภุชงค์ คือ พิษแห่งพญานาคราชทั่งสี่ชาติสี่ตระกูลเป็นไหนๆ เพราะเหตุนี้พระองค์จึงมิสามารถหยุดยั้งด้วยกำลังพระแสงขอได้ พระเจ้าข้า !"
"แล้วไฉนพญาคชสารนี้ จึงกลับมาโดยลำพังใจของตนเอง" พระราชาทรงถามขึ้นหลังจากที่ฟังนายหัตถาจารย์อธิบายเป็นเวลานาน
"การที่พญาคชสารกลับมาในครั้งนี้ ใช่ว่าจะมาโดยเจตนาก็หาไม่ แต่เป็นเพราะกำลังอำนาจมนตรามหาโอสถของข้าพระพุทธเจ้า !"
เมื่อทรงสดับดังนั้นแล้ว พระองค์จึงตรัสสั่งให้นายหัตถาจารย์แสดงกำลังมนต์มหาโอสถให้ทรงทอดพระเนตร ส่วนนายหัตถาจารย์ก็ได้ให้บริวารไปนำเอาก้อนเหล็กก้อนใหญ่มา แล้วให้ช่างทองเอาใส่เตาสูบ เผาด้วยเพลิงให้ก้อนเหล็กนั้นสุกแดงแล้วจึงเอาคีมคีบออกจากเตา เรียกพญาช้างเข้ามาแล้วร่ายมนต์ พลางบังคับให้คชสารจับเอาก้อนเหล็กแดงนั้นด้วยคำกำชับสั่งว่า
"ดูกรพญานาคินทร์ผู้ประเสริฐ จงหยิบเอาก้อนเหล็กนั้น ณ บัดนี้ แม้นเรายังไม่ได้บอกให้วาง ท่านจงอย่าได้วางเลยเป็นอันขาด"
ครั้นพญาช้างได้ฟังคำสั่งบังคับ ก็ยื่นงวงออกมาจับเอาก้อนเหล็กที่ลุกเป็นไฟ แม้ว่าจะร้อนงวงเหลือหลายจนงวงไหม้เป็นเปลวควันขึ้นก็ดี ก็ไม่อาจจะทิ้งก้อนเหล็กนั้นเสียได้ด้วยกลัวต่ออำนาจมนตราของนายหัตถาจารย์เป็นกำลัง เมื่อพระราชาทอดพระเนตรเห็นงวงพญาช้างถูกเพลิงไหม้เช่นนั้น ก็ทรงสงสารเวทนาและเกรงพญาช้างจะถึงแก่ความตาย จึงดำรัสสั่งให้นายหัตถาจารย์บอกให้พญาช้างทิ้งก้อนเหล็กนั้นเสีย ทรงหวนคิดถึงอำนาจราคะดำกฤษณาของพญาช้าง พร้อมกับคำชักอุปมาอธิบายของนายหัตถาจารย์ ทรงยิ่งสังเวชในใจหนักหนา จึงเปล่งสังเวชเวทีว่า
"โอหนอ น่าสมเพชหนักหนา ด้วยฝูงสัตว์มาติดต้องข้องขัดอยู่ด้วยราคะดำกฤษณา อันมีพิษพิลึกน่าสะพรึงกลัวร้ายกาจยิ่งนัก ราคะคือความกำหนัดนี้ย่อมมีมหันตโทษมหาศาล เพราะเพลิงราคะมีกำลังหยาบช้ากล้าแข็ง ร้อนรุ่มสุมทรวงสัตว์ทั้งหลายอยู่อย่างนี้ สัตว์ทั้งหลายจึงต้องถูกกิเลสราคะย่ำยีบีฑา นำทุกข์มาทุ่มถมให้จมอยู่ในอู่แอ่งอ่าวโลกโอฆสงสารไม่มีวันสิ้นสุดลงได้ เพราะราคะกิเลสนี้แล สัตว์ทั้งหลายจึงต้องไปตกหมกไหม้อยู่ในมหานรกทั้งแปดขุม และสัตว์ทั้งหลายบางหมู่ต้องไปเกิดอยู่ในกำเนิดเดียรัจฉาน สัตว์ทั้งหลายต้องบ่ายหน้าไปสู่อบายภูมิ ก็เพราะราคะดำกฤษณานี้เป็นประการสำคัญ สัตว์ทั้งหลายที่เบียดเบียนบีฑาซึ่งกันและกันก็เพราะอำนาจดำกฤษณา ทำให้ต้องระทมตรมทุกข์ถึงซึ่งความพินาศนานับประการ ไม่เว้นแม้แต่บุตรธิดา มารดาบิดา ภรรยาสามีที่รักเป็นหนักหนา ก็ยังต้องเบียดเบียนบีฑาฆ่ากันเพราะอำนาจดำนี้มานักต่อนัก มิใยถึงคนอื่นที่มิใช่ญาติเล่า ก็ยิ่งฆ่ากันเป็นมีอำนาจดำกฤษณานี้เป็นเหตุพื้นฐาน บางครายอมจ่ายทรัพย์สินไปในทางไร้ประโยชน์ บางทียอมเสื่อมจากยศและเกียรติคุณ บางทีย่อมประกอบกรรมอกุศลทำให้สิ้นสุข และเมื่อจิตใจเบือนจากกุศลย่อมไปสู่ทุคติภพ บางทีให้ลุอำนาจแก่ ความโลภ โกรธ หลง จนต้องเจริญโทษทุกภพทุกชาติที่เกิด ให้ถือกำเนิดในอบายภูมิทั้งสี่ เพียงเท่านี้ก็หาไม่ บางคราย่อมทำตนให้พินาศจากศีลสมาทาน บางกาลทำให้คนเสื่อมจากฌานภาวนาสมาธิจิตเป็นนิจกาล ราคะกิเลสจึงเป็นเหตุให้เกิดทุกข์มหันตโทษให้เสวยทุกขเวทนา เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายต้องมีความเศร้าหมองต่างๆ มากมาย"
เมื่อตรัสเช่นนั้นแล้ว ก็มอบรางวัลให้แก่นายหัตถาจารย์เป็นอันมาก แล้วคำนึงในพระราชหฤทัยว่า "สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้จักพ้นจากอำนาจราคะดำกฤษณาอันเป็นทุกขภัยในวัฏฏะนี้ได้ด้วยประการใด?" แล้วจึงเห็นแจ้งในพระราชหฤทัยว่า ธรรมทั้งหลายอื่นนอกจาก "พุทธกรณธรรม" แล้ว ก็ไม่เห็นว่าสิ่งอื่นจะเปลื้องตนให้พ้นจากวัฏสงสารได้ ดังนั้นพระองค์จึงหยั่งพระราชหฤทัยลงเที่ยงแท้ถือเอาพระพุทธภูมิปณิธานว่า
"เราได้ตรัสรู้ซึ่งพระโพธิญาณแล้ว ก็จักทำสัตว์ทั้งหลายให้รู้ด้วย เราพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสารเมื่อใด ก็จักทำสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากทุกข์ในวัฏสงสารเมื่อนั้นด้วย"
ครั้นทรงกระทำปณิธานปรารถนาเฉพาะพระพุทธภูมิในพระราชหฤทัยด้วยประการฉะนั้นแล้ว ก็ทรงสละราชสมบัติ ดำรงเพศเป็นพระดาบสบำเพ็ญพรตปฏิบัติชอบอยู่ตราบสิ้นอายุขัยแล้วก็ได้ขึ้นไปบังเกิดในสวรรค์เทวโลกเสวยสุขอยู่สิ้นกาลนาน และองค์สมเด็จพระนราธิบดีสัตตุตาปราชา กลับชาติมาเกิดคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศรีศากยมุนีโคดมบรมครูเจ้า ของชาวเราพุทธบริษัททั้งหลาย พญามงคลคชสาร กลับชาติมาเกิดในชาติสุดท้าย คือพระมหากัสสปเถระเจ้าสังฆวุฒาจารย์ ซึ่งเป็นพระมหาเถระอรหันต์สำคัญที่สุดองค์หนึ่งในศาสนาพุทธ ส่วนนายหัตถาจารย์ กลับชาติมาเกิดในชาติสุดท้าย จักได้ตรัสเป็น สมเด็จพระมิ่งมงกุฎศรีอาริยเมตไตรยสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจักมาตรัสในอนาคตกาล หลังจากศาสนาของสมเด็จพระศรีศากยมุนีโคดมบรมครูเจ้า เสื่อมสลายสูญไปจากโลกนี้แล้ว และเมื่อพระศรีอาริยเมตไตรยได้ตรัสรู้ประกาศพระศาสนาแล้ว คราวหนึ่งพระองค์จักเสด็จไปที่ภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรพต อันเป็นที่บรรจุศพของพระมหากัสสปเถรเจ้า แล้วพระองค์จักทรงยื่นพระหัตถ์เบื้องขวาช้อนเอาซากศพของพระสังฆวุฒาจารย์อรหันต์กัสสปะนั้น ขึ้นชูไว้บนฝ่าพระหัตถ์ อันประกอบด้วยจักรลักษณะแล้ว จะมีพุทธฏีกาตรัสแก่พระอริยสงฆ์ทั้งหลายว่า
"ดูกรเธอผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย ! เธอจงพากันมองดูซึ่งซากศพนี้ นี่คือศพของผู้เป็นพี่ชายของตถาคต ซึ่งเป็นสาวกใหญ่ในศาสนาของสมเด็จพระมิ่งมงกุฎศรีศากยโคดมบรมครูเจ้า (สมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรย เคยบวชเป็นพระภิกษุในสมัยพุทธกาลมีนามว่า อชิตภิกษุ เป็นภิกษุที่มีพรรษาน้อย ฉะนั้น พระองค์จึงเรียกพระมหากัสสปเถระเจ้าด้วยคำกล่าวออกนามว่า พี่ชายของตถาคต ในกาลครั้งนั้น) มีนามว่าพระอริยกัสสปะเถระ เป็นผู้ทรงคุณพิเศษโดยถือธุดงควัตร จนตราบเท่าดับขันธปรินิพพาน" เมื่อมีพุทธฎีกาตรัสแนะนำดังนี้แล้ว สมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรยก็ทรงสรรเสริญคุณแห่งพระมหากัสสปเถระเจ้าต่อหน้าพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย ในขณะนั้น เปลวอัคคีก็จะบันดาลมีเกิดขึ้นในซากอสุภะของพระเถรเจ้า แล้วค่อยลามเลียลุกไหม้ศพให้สิ้นซากปราศจากเถ้าถ่านอยู่บนฝ่าพระหัตถ์ของสมเด็จพระสรรเพชญ์ศรีอาริยเมตไตรยเป็นอัศจรรย์
หากแม้นบุคคลใดที่ได้เกิดอยู่ภายใต้ร่มแห่งบวรพระพุทธศาสนา ได้สดับตรับฟังพระธรรมแล้ว นับได้ว่าเป็นผู้มีบุญประเสริฐยิ่งนัก เหมือนดั่งพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า ผู้ดื่มด่ำในรสพระธรรม ย่อมมีใจผ่องแผ้วเป็นสุข บัณฑิตย่อมยินดีในธรรมที่พระอริยเจ้าประกาศแล้ว ในกาลทุกเมื่อ