สองทาง
มุทิตา เป็นหญิงสาวที่ทุ่มเทให้กับความรักมาก แต่ก็ไม่เชื่อมั่นในรักแท้ เพราะเคยอกหักจากความรักมาก ๆ มาก่อน มุทิตาเป็นชาวพุทธ แต่ตั้งแต่เล็กจนโตก็ไม่ได้เข้าวัดไปทำอะไรอย่างอื่นนอกจากทำบุญ จนเมื่ออยู่มหาลัยปี 3 เพื่อนได้ชวนไปปฏิบัติธรรมที่วัด มุทิตาจึงได้มีโอกาสรู้จักวัดวิมุตติ และได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อนับแต่วันนั้น
มุทิตายังจำได้ดีถึงวันแรกที่เจอหลวงพ่อ เป็นวันที่คณะนักศึกษาเพิ่งมาถึงวัด ทุกคนขึ้นไปศาลาและกราบหลวงพ่อ หลวงพ่อทักทายสอบถามถึงการเดินทางของคณะ เมื่อเห็นหน้ามุทิตาหลวงพ่อก็ยิ้มให้อย่างมีมเตตา คล้ายว่าเห็นอะไรบางอย่างในตัวเธอ
“ทำไมถึงมาปฎิบัติธรรมกับคณะ เพิ่งมาครั้งแรกใช่ไหม ไม่เคยเห็น” หลวงพ่อถามมุทิตา
มุทิตาเพิ่งเลิกกับแฟน ตอบว่า “ใช่ค่ะ เพิ่งมาเป็นครั้งแรก” มุทิตาพูดอย่างตรงไปตรงมาว่า “หนูมาเพราะหนูอกหักค่ะ แล้วก็ไม่มีความสุข หนูอยากพึ่งตัวเองได้ หนูไม่กล้ามีความรัก หนูกลัวเจ็บ”
หลวงพ่อยิ้มหน่อยหนึ่งก่อนตอบต่อว่า “ถ้ามันเป็นรักอย่างธรรมนี่มันไม่เจ็บหรอก เราไม่ได้เจ็บเพราะคนอื่นนะ เราเจ็บเพราะตัวเราเอง”
“ยังไงคะ หลวงพ่อ”
“ที่กลัวความรัก ก็เพราะมันรักแล้วทุกข์ใช่ไหม”
“ใช่ค่ะ”
“ก็ต้องศึกษาว่าที่ทุกข์น่ะ แท้จริงทุกข์เพราะอะไร”
“ค่ะ หนูคิดว่าทุกข์เพราะอย่างไรสักวันหนึ่งคนที่รักเราก็ต้องจากเราไป หนูเลยไม่อยากรัก”
“ที่เราทุกคนเจอแล้วต้องจากกันนั้นมันก็ถูก ถ้าเข้าใจความจริงได้ก็ไม่จำเป็นทุกข์นี่ แต่มันทุกข์เพราะที่จริงแล้วใจยังไม่ยอมรับความจริง อยากให้คนที่รักเป็นอย่างใจ และอยู่กับเราตลอดไป แต่เป็นไปไม่ได้
ถ้ารักคือความปรารถนาดีเท่านั้น เหมือนที่พระพุทธเจ้าเมตตากรุณาเรา มันก็ไม่มีปัญหาอะไรหนิ”
“หนูไม่ได้อยากยึด แต่มันยึดเอง”
“นั่นคือสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ จะมีไฟน่ะมันต้องมีเชื้อมีเหตุก่อนใช่ไหม ปฏิบัติธรรมเยอะ ๆ จนเห็นธรรมตามจริงว่าเหตุของไฟอยู่ที่ไหน ไม่สร้างเหตุแล้ว ไฟจะเกิดแต่ไหนได้ ส่วนความปรารถนาดี ช่วยเหลือผู้อื่นด้วยใจบริสุทธิ์เป็นความรักที่ดี และทุกคนมีได้ และต้องมีเพื่อขัดเกลาตนเอง แยกให้ออกว่าเป็นราคะหลงยึด หรือรักด้วยความปรารถนาดี แยกสิ่งเป็นที่เป็นโทษ ใช้แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์
หลวงพ่อไม่ได้สนับสนุนให้มีคู่นะ แต่สอนให้แยกความรักออกจากสาเหตุแห่งทุกข์ที่แท้จริงให้ถูก เราจะได้ไม่ทุกข์ ถ้าเราไปเข้าใจผิดว่าทุกข์เพราะคนอื่น เราก็เอาแต่หนี แต่ไม่ย้อนดูใจตนเอง มันไม่ช่วยแก้ทุกข์ได้หรอก”
คำสอนของหลวงพ่อในครั้งแรกนั้นทำให้ใจมุทิตาสว่างวาบอย่างบอกไม่ถูก คล้ายอยู่ในห้องมืดมานานแล้วเห็นแสงที่มุมหนึ่ง มุทิตาคิดในใจ ‘อะไรคือเหตุแห่งทุกข์’ ยังไม่ทันจะถามต่อ หลวงพ่อก็พูดตอบ “ธรรมะของจริงน่ะ เรียนรู้ไม่ได้ด้วยการฟังหรอก การฟังธรรม อ่านธรรมนั้นก็ดี แต่เราก็รับได้กันแค่ผิว ๆ มันยังไม่กระเทือนจิต ต้องปฏิบัติเอง ให้ใจเห็นเองจึงจะเข้าถึงใจเหมือนที่เค้าว่า ฟังธรรมเป็นยาทาหรืออาจจะเป็นได้แค่ยาดม แต่ปฏิบัติธรรมคือยากินนั่นแหละ ไม่ต้องรีบร้อน ได้เข้าโรงเรียนแล้ว ค่อย ๆ เรียนรู้ ต่อไปใจเห็นเองจึงจะวางเอง”
“ค่ะ หลวงพ่อ” มุทิตายกมือขึ้นสูงไหว้
หลังจากวันนั้นมุทิตาก็เริ่มปฏิบัติธรรม ตั้งแต่สมัยเรียนจนเข้าทำงาน
******************************
เมี๊ยว...
“พี่ตั้มคะดูนั่นสิ เจ้าแมวเหมียว แป๊บนึงนะคะ เอื้อนไปซื้อไก่ให้มันกินก่อน”
“แมวมันกินไก่ที่ไหนล่ะครับน้องเอื้อน”
“กินซี....” แล้วมุทิตาก็ไปซื้อไก่ไม้ยื่นให้แมว มันค่อย ๆ กัดเล็ม
“นี่ ๆ เห็นไหม แมวกินไก่”
เทวภพยื่นมือทำท่าเหมือนขอไม้ไก่ มุทิตายื่นไม้ไก่ให้ เทวภพค่อย ๆ บรรจงแกะไก่ออกจากไม้ให้แมวกิน มุทิตาสัมผัสได้ถึงความอ่อนโยน วันละเล็กวันละน้อย ความอ่อนโยนของเทวภพทำให้มุทิตาเข้าใจถึงความรัก
มุทิตาเริ่มรู้จักกับเทวภพครั้งแรกที่วัด แม้ไม่อยากรักใครแต่มุทิตาก็ห้ามความรู้สึกตัวเองไม่ได้ ทั้งสองตกหลุมรักและมีความรู้สึกดี ๆ ให้กันเรื่อย ๆ แต่วันนึงความจริงก็ปรากฎว่า ที่จริงแล้วเทวภพมีแฟนอยู่แล้ว
******************************
“ใจนึงเอื้อนเชื่อมั่นอย่างมากเลยค่ะว่าพี่ตั้มเป็นคนดี แต่ใจนึงเอื้อนกลัวมากว่าเค้าจะหลอกเอื้อน เอื้อนกลัวว่าเค้าจะเหมือนแฟนเก่าเอื้อน เอื้อนเคยมีแฟนเก่าที่เจ้าชู้มาก หลอกเอื้อนทุกอย่าง”
“คนไม่ดีจริง ๆ ก็มี แต่คนดีก็มีเช่นกัน” หลวงพ่อตอบ
“พี่ตั้มบอกว่ารู้ว่าแฟนไม่ใช่ แต่ยังเลิกกันไม่ได้เพราะไม่อยากเป็นคนทำให้แฟนเสียใจ คงต้องรอแฟนเค้าเป็นคนบอกเลิก แม้สถานะยังเหมือนรอเลิกแต่ก็ยังถือว่ายังไม่ได้เลิกกัน เราเลยรักกันห่าง ๆ ไม่ได้ทำอะไรเกินเลย”
“ก็ดีแล้ว ถ้ารักกันจริง ก็ควรรักเพื่อความเจริญ เพื่อยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ความรักไม่ใช่การตามใจและต้องอยู่ร่วมกันเสมอไป ถ้าเป็นไปเพื่อก่อเวรก่อทุกข์ก็ควรละ ให้ความรักขัดเกลาให้ใจเราใสขึ้น อย่าทำให้ใจยิ่งดำมืด” หลวงพ่อแผ่เมตตาให้
“ค่ะ เอื้อนก็คิดแบบนั้น เรารักกันที่ใจ อะไรที่ทำให้พี่ตั้มไม่สบายใจ เอื้อนจะพยายามไม่ทำ
จากเมื่อก่อนที่คุยกันทุกวัน ทุกคืน พอรู้ว่าเริ่มรักกันเข้าแล้วจริง ๆ พี่ตั้มก็พยายามออกห่าง เอื้อนก็เข้าใจเค้านะคะ แม้จะทุกข์ใจ แต่ก็ยอมตามนั้น
แล้วต่อมาพี่ตั้มก็เปลี่ยนไปมาก เอื้อนรู้นะคะว่าเค้ายังรักยังเมตตาเอื้อนอยู่ แต่อยู่ดี ๆ เค้าก็เปลี่ยนไปหลายอย่าง ขึ้นสถานะในเฟซบุคว่ามีแฟนแล้ว จากที่ไม่เคยลงรูปแฟนในเฟซบุคเลย อยู่ดี ๆ ก็ลง เอื้อนงงไปหมด แม้จะพยายามคิดดี แต่บางทีเอื้อนก็รู้สึกเหมือนตัวเองเป็นหมาหัวเน่า”
“ไม่ดูให้ดี ก็เหมือนปล่อยใจไปเสี่ยง ขนาดคนที่เขาเจอกันตอนโสดสนิท คบกันไปเป็นสิบปียังเลิก เรื่องความรู้สึกของคนนี่เอาแน่เอานอนไม่ได้หรอก ทุกคนไม่มีหัวใจเป็นของตัวเอง สุดแท้แต่กรรมพาไป เราไม่อยากรักใครแต่แรกยังรักเลยมิใช่หรือ จะหาความแน่นอนบนโลกไม่ได้หรอก แม้แต่ใจเรา”
“ค่ะ เอื้อนเคยสงสัยนะคะ กับแฟนเก่าบางคน ตอนแรกก็รู้สึกรักมาก....” มุทิตาเน้นเสียง ตอนเลิกกันก็จะเป็นจะตาย แต่พอเวลาผ่านไปเราก็รู้สึกเฉย ๆ
“อือ นั่นแหละ ความจริง แต่ตอนต้องใช้กรรมอยู่ เจ้ากรรมนี่แหละจะให้เหตุผลเพื่อให้เราติดอยู่ได้สารพัด กรรมเป็นตัวกำหนดให้เราคิดได้เห็นได้แค่นั้น เคยสอนงานใคร หรือพยายามแนะนำอะไรไป บอกไป ๕ แต่รู้สึกว่าคนหนึ่งได้ ๒ อีกคนหนึ่งได้ ๕ อีกคนได้ ๘ ไหม”
“ก็เคยค่ะ”
“นั่นแหละ แต่ละคนสร้างเหตุมาไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน ต้องเลือกใครก็เพราะทำกรรมให้ต้องมารับผลกับคนนั้น คนนอกบางทีก็ดูว่าเห็น ๆ ทำไมเขาคิดไม่ได้ ความจริงก็คือเพราะเขาติดกรรม ก็ต้องสร้างเหตุที่ดี ทำดี ให้ปัญญาผู้อื่น เราก็จะมีปัญญา”
“เหมือนในใจเอื้อนต่อสู้กันเอง ใจนึงน้อยใจอย่างสุดแสน แต่อีกใจก็คิดว่าถ้ารักก็ต้องเข้าใจ แต่อีกใจก็เถียงว่าแล้วเค้าไม่รักเอื้อนเหรอ เอื้อนทำอะไรผิด”
“เค้าก็ไม่รู้ตัวเองหรอกว่าทำไมต้องเลือกแบบนั้น กรรมเราและเขามันบังคับใจและความคิดเขาอยู่ ตอนเอื้อนทุกข์เพราะแฟนเก่าที่เจ้าชู้น่ะ ผ่านมาแล้วก็เพิ่งรู้ตัวใช่ไหมว่าทนได้ยังไงตั้งนาน”
“ค่ะ”
“หลงเชื่อความคิด ก็คือความโง่ แต่ความไม่รู้ทำให้เราคิดว่าเราคิดถูกเสมอ ที่จริงอาจจะผิดก็ได้”
“แล้วไม่มีเครื่องวัดเลยหรือคะ อะไรที่ช่วยบอกได้ว่าเราคิดถูก”
“เอาศีลเป็นเกณฑ์แล้วกัน ไม่เอา ไม่เข้าข้างความคิดในการเบียดเบียนคนอื่น สุดท้ายปลายทางจะไม่พาไปที่ทุกข์แน่ ถึงแม้ตอนนี้ยังเจอเรื่องร้าย ๆ ก็เพราะกรรมเก่า แต่กรรมปัจจุบันเราทำดี ก็ปูทางที่ดีไว้แล้ว”
“ความไม่รู้นี่มันทำให้ทุกข์เหลือเกินนะคะหลวงพ่อ ใจเอื้อนทุกข์ อยู่กับความ ‘ไม่รู้’ ไม่เข้าใจการกระทำเขา”
“เอื้อนคิดว่ารู้ความจริงแล้วจะทำให้หายทุกข์ใช่ไหม”
“ค่ะ”
“แต่เราสั่งคนอื่นไม่ได้ ไม่ว่าจะอยากให้เขาเลือกเราหรืออยากให้เขาบอก สรุปง่าย ๆ คือเราอยากให้เขาทำอย่างใจเรา แต่คนอื่นเขาก็มีเหตุผลในฝั่งเขาที่จำเป็นต้องเลือกหรือจะไม่บอก”
“บางทีเอื้อนก็คิดว่า พี่ตั้มไม่อยากบอก เพราะพี่ตั้มก็จะรู้สึกเจ็บถ้าทำให้เอื้อนเสียใจ แต่ยังไงตอนนี้เอื้อนก็เสียใจอยู่ดี”
“ใจคนนั้นยากแท้หยั่งถึง ต่อให้เค้าพูดความจริง เรายังไม่รู้อยู่ดีว่าเค้าพูดจริงหรือไม่จริง แทนที่จะตั้งคำถามกับคนอื่น ย้อนกลับมาถามตัวเองดีกว่าไหมว่า เราจะทำยังไงให้ตัวเองพ้นทุกข์ ทำไมต้องสร้างเงื่อนไขความสุขตัวเองให้ขึ้นกับคนอื่นด้วย ตั้งคำถามผิดที่ก็ทุกข์ไม่มีที่จบนะ” หลวงพ่อลองเปลี่ยนคำแนะนำใหม่หลังจากพยายามย้ำหลายรอบเรื่องกรรมว่าที่เธอต้องเจอแบบนี้และที่เทวภพต้องเลือกแบบนั้น เลือกทำอะไรอย่างไม่สมเหตุสมผลเพราะกรรม กรรมจะทำให้มีเหตุผลที่จะเลือกอะไรเอง คำสอนใหม่ของหลวงพ่อนี้ค่อยทลายความคิดซึ่งเป็นเหมือนกำแพงที่สร้างทางตันให้กับมุทิตา
หลวงพ่อพูดต่อ “มุทิตา แปลว่า ยินดีในความสุขของผู้อื่นใช่ไหม”
“ค่ะ หลวงพ่อ”
“นั่นแหละความรัก ยินดีในความสุขของผู้อื่น แค่นั้นพอแล้ว คิดอย่างนี้ได้ก็เป็นสุขแก่ใจเราเอง”
“ค่ะ เข้าใจนะคะว่าคิดแบบนี้ได้จะทำให้เป็นสุข แต่ใจมันยังทำไม่ได้ บางทีก็น้อยใจแล้วก็มีความคิดไม่ดีพยายามแย่งพื้นที่ พอน้อยใจพี่ตั้ม เผลอแสดงท่าทีน้อยใจออกไปก็รู้สึกผิด”
“ความคิดไม่ดีมันโผล่ขึ้นมาเองใช่ไหม”
“ใช่ค่ะ”
“เห็นอย่างนี้ได้ก็เก่งแล้วนะ ความคิดไม่ดีนี่แบ่งได้สองระดับ ระดับแรกนี่ ถ้าใครคิดไม่ดีหนักแน่นเลย คิดแต่ว่าเขาทำไม่ดีกับเรา ทำไมเราต้องดีกับเขา อันนี้จิตใจถูกอกุศลครอบหนาแน่น อันนี้ช่วยยาก ระดับที่สองนี่มีความคิดทั้งดีและไม่ดีพยายามแย่งพื้นที่กัน แต่ก็เห็นว่าเราไม่ได้ตั้งใจคิดไม่ดี มันยังคิดเอง อันนี้นี่พอช่วยให้พ้นทุกข์ได้”
“ทำยังไงคะ”
“โยมเห็นอนัตตาไหม ความสั่งไม่ได้ แม้ไม่ได้อยากคิด ก็ยังคิด ไม่เอามันบ่อย ๆ ไม่ไปเชื่อตามมันบ่อย ๆ ต่อไปความคิดร้าย ๆ จะหายไปจากใจเรา สิ่งที่ทำร้ายคนเราได้มากที่สุดคือความคิดของเขาเอง ไม่ใช่คนอื่น เอาความคิดร้ายออกจากใจเสียได้ก็คือสุข ไม่ต้องพึ่งใครเลย”
“กราบขอบพระคุณหลวงพ่อมากค่ะ”
“ยังต้องทำทานบ่อย ๆ ฝึกซ้อมให้เพื่อให้ผู้อื่นเป็นสุขบ่อย ๆ ด้วยนะ ใจจะได้เห็นจริงว่าให้แล้วเป็นสุขกว่าคิดเอาอย่างไร แล้วก็ปฏิบัติธรรมให้ต่อเนื่อง ถ้าขาดสตินี่ก็เหมือนรู้ทางไปหมดแล้ว แต่เมา เดินไม่ถูก”
“ค่ะ หลวงพ่อ เอื้อนจะตั้งใจฝึก”
“เจอคนไม่ดีก็ทุกข์ คิดว่าได้คนรักดีแล้วจะสุข เห็นไหม ที่จริงทุกข์มากไม่ต่างกัน และอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ คเจ้าชู้เขาก็ทุกข์อย่างนึงสุดแต่ว่าจะรู้ตัวไหม แต่คนรักเดียวใจเดียวแบบยึดติดนี่ อาจจะทุกข์ได้สาหัสกว่า”
“รักเดียวใจเดียวไม่ดียังไงหรือคะหลวงพ่อ”
“ถ้ารักแบบยึดติดล่ะก็ไม่ดีทั้งนั้น ยิ่งยึดมากยิ่งทุกข์มาก หลวงพ่อเคยบอกแล้วไง เมื่อไหร่จะจำได้และตั้งใจปฏิบัติธรรมให้เข้าใจ ให้ใจเห็นธรรมตามจริงชัดกว่านี้”
“ค่ะ หลวงพ่อ เอื้อนลืมไป เอื้อนจะพยายามมากขึ้นนะคะ”
“อย่ายึดติดที่ตัวตนบุคคล รักษาใจตัวเองให้ดี รักกันแบบกัลยาณมิตร ไม่ใช่รักกันอย่างขาดกันไม่ได้”
“ยากนะคะ แต่เอื้อนจะพยายามค่ะ เอื้อนรู้ว่าถ้าเอื้อนทุกข์ คนที่รักเอื้อนก็คงไม่สบายใจ พี่ตั้มเค้าเป็นคนดี และเค้าก็ทุกข์กับความเจ็บของคนอื่นง่าย เอื้อนจะพยายามเพื่อเค้า”
“พยายามเพื่อใครก็เป็นอัตตา ที่จริงแล้วสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดชาติใหม่ก็เป็นคนใหม่ แต่เราไปสร้างภพ สร้างอัตตาขึ้นมา มันก็คือความหลงนะ เป้าหมายของการปฏิบัติธรรมจริง ๆ คือเพื่อให้เห็นอนัตตา ถอนความยึดเสียได้ ใจจะได้หมดโศก แต่เอาเถอะ ตอนนี้อาจจะยังไม่เข้าใจ เอื้อนน่ะเป็นคนจริงจังกับความรัก ทำเพื่อตัวเองไม่ทำ แต่พอคิดว่าทำเพื่อคนรักน่ะมีแรงมหาศาล ใช้เป็นกำลังในการเดินก่อนก็ได้ แต่ให้รู้ไว้ว่ามันยังไม่ใช่ที่สุดนะ”
“ค่ะ” เอื้อนจับใจความสำคัญที่หลวงพ่อสอนยังไม่ได้ ลึกซึ้งแต่ประโยคที่ว่าพอคิดว่าจะทำเพื่อคนรักก็มีแรงมหาศาล ใช่ หล่อนเป็นคนแบบนั้นจริง ๆ
มุทิตามาปฏิบัติธรรมที่วัดบ่อยขึ้น สังเกตว่ามาอยู่วัดนี่อยู่กับธรรมชาติ อากาศก็ดีน่าจะมีความสุข แต่ใจกลับทุกข์ได้ การปฏิบัติธรรมที่วัดแตกต่างจากการปฏิบัติธรรมที่บ้านเพราะว่าอยู่วัดไม่มีสิ่งรบกวนภายนอก ไม่มีเครื่องดึงดูดใจให้หลงนาน ถ้าใจมันฟุ้งซ่านก็เห็นชัดเลยว่าเป็นเพราะจิตตัวเองปรุงแต่งแท้ ๆ อยู่วัดต้องอาศัยความอดทนมากกว่าอยู่บ้านตรงที่อยู่บ้านแล้วทุกข์ ก็หนีไปเที่ยว ไปดูหนัง ฟังเพลงโทรหาคนนั้นคนนี้แก้ทุกข์ได้บ้าง แต่อยู่วัดเพื่อปฏิบัติธรรมไม่มีใคร มาเพื่อฝึกใจตัวเองล้วน ๆ ไม่หนีไปพึ่งอย่างอื่นเพื่อกลับมาตายท่าเดิม
เทวภพมา ๆ หาย ๆ มุทิตาทุกข์ทีไร เธอก็สอนใจตัวเองว่า ‘นี่ไม่ใช่โทษของความรักนะ นี่โทษของความยึดติด’ มุทิตากลับมาระลึกถึงสิ่งที่หลวงพ่อเคยสอนคือมีทุกข์อะไรก็ดูใจตัวเอง จึงได้เห็นว่าเธอทุกข์เพราะหลงไปยึดความสุขที่ได้อยู่กับเทวภพ เทวภพเป็นอย่างใจทุกอย่าง เป็นคู่บุญที่เธอเฝ้ารอมานาน แต่จะมีประโยชน์อะไรถ้าทุกอย่างจะจบไม่สวย ถ้าเธอยังหลงจมทุกข์ทำตัวแย่ให้ชีวิตตกต่ำกว่าวก่อนที่จะเจอเขาเสียอีก มุทิตาคิดว่าต้องพึ่งตัวเองให้ได้ และจะไม่เป็นภาระให้กับเขา จากที่เป็นคนขี้เหงา ขี้กลัวไม่กล้าทำอะไรด้วยตนเอง ผลจากการปฏิบัติธรรมทำให้มุทิตารู้ทันอารมณ์ตัวเองได้มากขึ้น จึงละทิ้งความกลัวต่าง ๆ ได้ง่าย เห็นตามจริงว่าถ้าไม่ยึด ไม่ไปคิดต่อ ไม่ไปเพิ่มเชื้อให้ความกังวลและความกลัว เดี๋ยวอารมณ์นั้นก็จะหายไปเอง
ต่อมามีผู้ชายคนหนึ่งเข้ามาจีบมุทิตา ซึ่งตามจริงแล้วมุทิตาไม่ได้รู้สึกหลงรักอะไรเขาเท่าไหร่ แต่เพราะเห็นว่าพอจะเป็นกัลยาณมิตรกันได้จึงตัดสินใจคบกัน แล้วความจริงก็เปิดเผยว่าสาเหตุที่เทวภพกลับไปคืนดีกับแฟนเพราะแฟนสาวของเขาเพิ่งเสียแม่ไป แต่ต่อมาเทวภพก็เลิกกับแฟนเพราะรู้ว่าอย่างไรก็เข้ากันไม่ได้ เทวภพกลับมาหามุทิตาโดยที่ตอนแรกไม่รู้ว่าเธอมีแฟนแล้ว มุทิตารู้สึกสับสนในใจมาก ใจนึงเธอก็รักเทวภพและรู้ว่าเขาคือคนที่ใช่มาตลอด และไม่อยากทำให้เสียใจแม้แต่นิดเดียว แต่อีกใจนึงก็สงสารแฟนคนปัจจุบัน ไม่อยากสร้างกรรมให้ต้องมาทุกข์แบบที่เธอเคยเจอ
ทั้งเรื่องนี้ไม่มีคนผิด ไม่มีใครเลว แล้วเราจะทำยังไงดี
******************************
มุทิตาไปกราบหลวงพ่อที่วัดวิมุตติอีกครั้ง
“เห็นแล้วใช่ไหมว่าวงจรกรรมมันน่าเบื่อหน่าย ก็ขึ้นอยู่ที่เราตัดสินใจแล้วล่ะว่าจะสร้างกรรมต่อ หรือหยุดวงจรไว้เพียงเท่านี้”
“หนูเหมือนไม่มีทางเลือกเลยนะคะ ยังไง ๆ ก็ต้องทำให้ใครสักคนเจ็บ”
“มีสิ เอาอย่างนี้หลวงพ่อจะเล่าเรื่องพระพุทธเจ้าและคู่บารมีให้ฟังนะ ท่านไม่ได้เกิดมาเป็นคู่กันทุกชาติหรอก ตั้งแต่ก่อนจะได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งว่าอนาคตสุเมธดาบสที่ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าอีกองค์จะได้สมดังปรารถนาเพราะบำเพ็ญบุญมาแล้ว และนางสุมิตาในชาตินั้นจะได้เป็นคู่บารมีช่วยพระพุทธเจ้าสั่งสมบุญ ก่อนหน้านั้นท่านทั้งสองก็ไม่ได้จะเจอกันแล้วได้สมรัก ได้อยู่ร่วมกัน หรือได้เป็นคู่สามีภรรยากันทุกชาติ บางชาติเจอกันคู่บารมีของพระพุทธเจ้าเป็นภรรยาของคนอื่น แม้ได้เจอกันในชาติหลัง ๆ ได้เป็นคู่กันแต่ก็ไม่ได้คู่กันเพื่อกามเป็นหลัก หลายชาติเจอกันเพื่อเกื้อกูลกันมากกว่า หลายชาติก็ออกบวชด้วยกัน
ยกตัวอย่างดูจากชาติที่พระพุทธเจ้าเคยเกิดเป็นโพธิดาบสและคู่บารมีเกิดเป็นนางปริพพาชิกา ออกบวชพร้อมกัน พระราชาเมืองหนึ่งเห็นนางปริพพาชิกาแล้วเกิดตกหลุมรัก มาท้าทายโพธิดาบส จะมาฉุดตัวนางปริพพาชิกาไป ท่านก็ทรงเรียนรู้ ท่านเป็นนักบวชมีแต่สละ ไม่ทำร้ายใครตอบ”
“อ้าว ปล่อยให้คนอื่นฉุดภรรยาตัวเองไป อันนี้ไม่เป็นการทำบาปแก่คนรักหรือคะ”
“ขึ้นอยู่กับใจ และเจตนา ท่านไม่ได้มีเจตนาทำร้ายภรรยา แต่ด้วยเหตุการณ์เห็นว่าทำอะไรไม่ได้ ท่านตั้งใจรักษาศีลและเห็นว่าตนทุกข์ที่ใจต้องดูใจตนเองก่อน ท่านก็โกรธมากนะตอนนั้น แต่ท่านคิดว่าก่อนจะไปแก้ปัญหาข้างนอก ต้องแก้ที่ใจก่อน เพื่อไม่ให้คิดผิดทำพลาด ท่านมีสติระลึกรู้ตามจริงแล้วเจริญเมตตาจนความโกรธดับไป”
“แล้วสุดท้ายเป็นยังไงคะ”
“สุดท้ายพระราชาก็ปล่อยตัวนางปริพพาชิกาเพราะเห็นในความดีของโพธิดาบสและนางปริพพาชิกา”
“อืม... ถ้าคนเราทำดีแล้วเห็นผลไว ๆ อย่างในเรื่องเล่าก็ดีนะคะ”
“ก็ไม่ไวไม่ช้าหรอก เรื่องเล่าเขาก็เล่าย่อ ๆ ให้เห็นความจริงเชื่อมโยงว่าทำอย่างนี้แล้วตอนจบจะเป็นอย่างไร แต่เรื่องจริงน่ะคือเรามันสายตาสั้น ใจร้อน อยากได้ผลไว ๆ แต่สร้างเหตุดียังน้อยอยู่ ปฏิบัติธรรมก็น้อย อกุศลกรรมเก่าก็เยอะ บางทีก็ไปสร้างอกุศลกรรมใหม่ ยังไม่ทันใช้กรรมของเก่าหมด ไม่เห็นการณ์ไกล
คนเราไม่ได้เกิดมาชาตินี้ชาติเดียวนะหนูเอื้อน ทำดีไว้ เหมือนตั้งใจปลูกต้นไม้ให้ดีไว้ แต่ผลจะออกเมื่อไหร่ ถึงเวลามันก็ออกเอง”
“ค่ะ หลวงพ่อ” มุทิตามีกำลังใจขึ้น แต่ใจก็ยังหมอง ๆ “แล้วหนูควรจะเลือกใครดีคะ ในเมื่อเป็นคนดีทั้งคู่ ไม่มีใครผิดทั้งคู่”
“อย่าให้หลวงพ่อตอบแทนเลย มันจะเป็นการแทรกแซงกรรมเกินไป หนูมีศักยภาพที่จะคิดเองได้ หลวงพ่อเชื่อ หลวงพ่อบอกได้แค่ว่า อย่าตัดสินใจตอนที่สับสน ความคิดเรามันจะออกมาจากความโง่ สิ่งที่เลือกคือการลองผิดลองถูกแบบวัดดวง ทำบุญเยอะ ๆ แผ่ให้เจ้ากรรมนายเวร ปฏิบัติธรรมจนจิตตั้งมั่นพอ ไม่ถูกกิเลสครอบงำ เราจะพบคำตอบได้ด้วยตัวเอง”
“ค่ะ หลวงพ่อ”
มุทิตาตั้งสติ ขอเวลากับเทวภพและแฟน เล่าความจริงทุกอย่างให้ทั้งสองฟังอย่างเปิดอก ทุกคำที่พูดที่บอกออกมา มาจากกระแสความเมตตาจากใจ ทั้งเทวภพและแฟนของมุทิตาเข้าใจ และยินดีที่จะให้มุทิตาได้มีเวลาคิดทบทวน
มุทิตาใช้เวลาอยู่กับตัวเอง ตั้งใจทำบุญและปฏิบัติธรรมตามที่หลวงพ่อบอก จนใจสงบขึ้น มุทิตาตัดสินใจเด็ดเดี่ยว ด้วยความที่ไม่อยากทำร้ายใครเลย ทั้งเทวภพและแฟนคนปัจจุบัน ถ้าเลือกเทวภพที่เธอรักเธออาจจะมีความสุข แต่ก็ต้องรู้สึกผิดกับแฟน ถ้าเลือกแฟนทั้งที่รู้ว่าไม่ได้รัก เธอก็จะรู้สึกผิดต่อตนเอง และรู้สึกไม่ดีที่ทำให้เทวภพเสียใจ มุทิตาจึงขอไม่เลือกใครเลย โดยให้เหตุผลว่า รู้ตัวว่าเลือกใคร อีกฝ่ายก็เจ็บ และไม่อยากผิดกับใครทั้งคู่ รู้สึกว่าอยากพัฒนาตัวเองให้เข้มแข็งกว่านี้ด้วยตัวของตัวเอง
************************************
“หลวงพ่อคะ หนูทำถูกหรือเปล่า”
“เทวภพน่ะเขาเป็นคนดีนะ แล้วก็เป็นกัลยาณมิตรเรามาหลายชาติแล้ว หลวงพ่อก็ตอบไม่ได้หรอกว่าเมื่อไหร่เราทั้งคู่จะได้เกื้อกูลกันดี ๆ แต่บอกได้ว่าเราต้องทำดีต่อไป คู่บารมีนั้นอาจไม่ต้องเป็นคู่รักกันก็ได้ เป็นใครก็ได้ที่ร่วมกันสร้างบุญกับเรา จะเป็นพ่อแม่ เพื่อน ญาติ ครูบาอาจารย์ ไม่เน้นที่ฐานะหรอกนะ ขอแต่ให้เกื้อกูลกันทางจิตวิญญาณ
และคู่บารมีหรือกัลยาณมิตรนี่ไม่ใช่มีแต่ตะลอนไปทำบุญกัน ต้องมีทั้งทาน ศีล ภาวนา พระพุทธเจ้าบอกว่าต้องสมทั้ง ศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา
ศรัทธาคือเชื่อว่าสิ่งใดดี สิ่งใดนำสุขมาให้ชีวิต ถ้าคนหนึ่งเชื่อว่าได้เงินเยอะ ๆ แล้วจะมีความสุข แต่อีกคนเน้นที่ใจ มองต่างก็เลือกทางต่าง ๆ ก็คุยกันยาก มีศีลเสมอกันก็คือมีจิตใจที่ดีไม่ตั้งใจเบียดเบียนใคร ถ้าไม่เสมอกัน คนนึงไม่มีศีลก็เป็นปัญหาอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้ เจ้าชู้ ขี้หึงหวง ทะเลาะทำร้ายกันและกัน ถ้ามีศีลเสมอกันไม่ทะเลาะกันนะ จาคะก็คือมีน้ำใจเสมอกัน รักแล้วก็คือรู้จักให้กันจริง ๆ ไม่ใช่รักเพื่อให้คนอื่นมาเป็นอย่างใจ มีแต่เสียสละให้กัน อยู่ด้วยกันแล้วชื่นใจ มีปัญญาเสมอกันคือคุยกันด้วยเหตุผลรู้เรื่อง ไม่ใช่เอาแต่อารมณ์
จะเห็นว่าบุญไม่ใช่การร่วมไปทำบุญปล่อยนกปล่อยปลา แต่บุญคือเรื่องของใจเสมอกัน เรามีศรัทธา จาคะเสมอกัน
ตอนนี้ก็ทำหน้าที่ดูแลตัวเองให้ดีที่สุด เท่าที่เวลาสั้น ๆ ในชีวิตนี้จะทำได้”
“ค่ะ หลวงพ่อ หนูจะพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น”
“อืม แล้วไม่ต้องยึดติดนะ ถ้าเค้าใช่ก็ใช่เอง ถึงเวลาที่เหมาะสมก็ตามนั้น”
******************************
มุทิตาตัดสินใจบวชเป็นชีอย่างไม่มีกำหนดว่าจะสึกเมื่อไหร่
ทางที่มุทิตาเลือก ไม่ใช่การเลือกระหว่างใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือเลือกระหว่างกิเลสกับธรรม
หลังจากเทวภพทราบข่าวเรื่องมุทิตาตัดสินใจบวชชี เทวภพก็ลาบวชเป็นพระด้วย แต่แยกกันอยู่คนละวัด ต่างคนต่างแยกไปทำหน้าที่ต่อตนเองคือการทำหัวใจตัวเองให้แข็งแรง