คิดไปเอง คิดนอกกรอบ
เคยเขียนไว้ในบันทึก “โลกของฉัน”
http://leolino21.multiply.com/journal/item/8/8
และแทรกๆ อยู่ในบทความอื่นๆ เกี่ยวกับเรื่องความคิดของเรา
ที่เป็นตัวการทำให้เกิดปัญหาต่างๆจากการที่แต่ละคนมีโลกที่เกิดจากกรรมส่ง การสะสมความคิด ความรู้ ประสบการณ์มาต่างกัน อันเป็นที่มาส่งผลให้ต้องไปรับกรรมอย่างที่ตนทำมา และขยายผลกรรมต่อๆ
เอาง่ายๆ... การคิดต่าง แต่ไม่รู้เพราะมองจากมุมตนเองนี่แหละทำให้เกิดปัญหาในหลายๆแง่ และหลายระดับในการติดต่อสื่อสารกัน
พอดีได้รับfw เมลมา กับทั้งมีข้อมูลจากที่คุยกับพี่ชายมานิดหน่อยก็เลยเอามาแชร์เผื่อเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆค่ะ :)
การหลงเชื่อความคิดของตนเอง(ไปเอง)เป็นที่มาหลากหลายเช่น
ทำให้หลงรักเพราะเข้าใจผิดไปเองว่าเขาใช่อย่างนั้นอย่างนี้
ทำให้หลงโกรธเพราะเข้าใจผิดไปเองว่าเขาทำหรือคิดอย่างนั้นอย่างนี้
ทำให้หลงอยากได้เพราะเข้าใจผิดไปเองว่าได้มาแล้วคงจะดีอย่างนั้นอย่างนี้
*********************
ลิงกับลา
หญิงชาวบ้านคนหนึ่งอาศัยอยู่คนเดียวในกระท่อม ด้วยความเหงานางจึงหาสัตว์มาเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนสองตัว คือ ลิงและลา
วันหนึ่งหญิงชาวบ้านคนนี้ต้องออกไปตลาดเพื่อซื้ออาหาร ก่อนออกจากบ้านเธอได้เอาเชือกมาผูกคอลิง แล้วมัดขาของลาเอาไว้ทั้งสองข้าง เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงทั้งสองตัวเดินย่ำไปมาในกระท่อมจนทำให้ข้าวของต่างๆ ได้รับความเสียหาย
ทันทีที่หญิงชาวบ้านออกจากบ้านไป ลิงซึ่งมีความฉลาดและแสนซนเป็นคุณลักษณะประจำตัวก็ค่อย ๆ คลายปมเชือกออกจากคอของมัน อีกทั้งยังซุกซนไปแก้เชือกมัดขาให้แก่ลาอีกด้วย หลังจากนั้นเจ้าลิงก็กระโดดโลดเต้น ห้อยโหนโจนทะยานไปทั่วกระท่อมจนทำให้ข้าว ของต่างๆ ล้มระเนระนาดกระจัดกระจายไปทั่ว อีกทั้งยังซุกซนรื้อค้นเสื้อผ้าของหญิงชาวบ้านมาฉีกกัดจนไม่เหลือชิ้นดี ในขณะที่ลาได้แต่มองดูการกระทำของเจ้าลิงอยู่เฉย ๆ
สักครู่หนึ่ง หญิงชาวบ้านคนนี้ก็กลับมาจากตลาด เจ้าลิงมองเห็นเจ้าของเดินมาแต่ไกลจากทางหน้าต่าง ก็รีบเอาเชือกมาผูกคอตนไว้ อย่างเดิมและอยู่อย่างสงบนิ่ง
ฝ่ายหญิงชาวบ้านเมื่อเปิดประตูกระท่อมเข้ามาเห็นข้าวของของตนถูกรื้อค้น กระจุยกระจายเช่นนั้นก็เกิดโทสะขึ้นทันที หันมองลิงและลา เพื่อดูว่าใครเป็นผู้ก่อเรื่อง และเห็นว่าลาไม่มีเชือกผูกขาดังเดิม เธอก็คิดเอาเองว่าเจ้าลานี่เองคือตัวปัญหา ทำให้กระท่อมของเธอมีสภาพไม่ต่างจากโรงเก็บขยะ
ดังนั้นหญิงชาวบ้านจึงวิ่งไปหยิบท่อนไม้นอกบ้านมาทุบตีลาอย่างรุนแรง ซึ่งเจ้าลาผู้น่าสงสารก็ได้แต่ส่งเสียงร้องด้วยความเจ็บปวดจนสิ้นใจโดยไม่สามารถทำอะไรได้เลย
เธอทั้งหลาย... เธอหลายคนคงไม่ค่อยชอบตอนจบของนิทานเรื่องนี้นัก เพราะสงสารเจ้าลาที่ไม่ได้ทำความผิดอะไรแต่กลับถูกเจ้าของทำโทษจนตาย
ส่วนเจ้าลิงซึ่งเป็นต้นเหตุแท้ๆ กลับรอดพ้น และไม่ได้รับผลกรรมใดๆ แต่แท้ที่จริงแล้วนิทานเรื่องนี้ต้องการชี้ให้เห็นถึง ความเป็นผู้นำของหญิงชาวบ้าน ที่ไม่พิจารณาเหตุการณ์ให้ถ่องแท้ เชื่อแค่สิ่งที่ตนเห็นแล้วลงโทษไปตามความรู้สึกและประสพการณ์ส่วนตัว เธอมองเห็นข้าวของเสียหาย และมองเห็นลาที่หลุดออกมาจากเชือก แล้วตัดสินว่าลาคงเป็นผู้กระทำ แต่ไม่ได้มองว่าลาไม่มีปัญญาจะแก้เชือก และไม่มีนิสัยชอบรื้อทำลาย เธอมองเห็นลิงยังถูกเชือกล่ามอยู่ก็คิดว่าลิงคงไม่ใช่ผู้กระทำ แต่มองไม่ออกว่าผู้น่าจะแก้ปมเชือกได้และมีนิสัยชอบรื้อทำลายนั้นคือลิง ความจริงถ้าเธอรู้จักสำรวจ ร่องรอยความเสียหายเสียสักเล็กน้อย เธอก็จะพบรอยเท้าและฟันของลิงกระจายไปทั่วห้อง แต่ไม่พบรอยเท้าของลาเลย เพราะลาไม่ได้เคลื่อนที่ไปไหน
จาก fw mail หนังสือนิทานสีขาว
******************************
ถาม: คิดนอกกรอบที่พี่โจ้เคยพูดถึงเวลาสอนคนอื่นบ่อยๆ คือ ไม่ยึดติดกับความคิดที่เป็น1ในขันธ์5?
ตอบ: พูดแบบหลักการอย่างนี้มันง่าย แต่ถึงเวลาจะไม่อยู่ในกรอบจริงๆ มันคือการเห็นกรอบ เห็นอาการที่เอาการคาดเดาและการ(ด่วน)สรุปของเราไปครอบใส่ตัวเองและ/หรือคนอื่นโดยไม่สัมผัสกับความจริงยาวไปจนกระทั่งเห็นว่าการกระทำแบบนั้น มันก่อปัญหาตามมามากขนาดไหน...
ซึ่งคนที่จะเห็นตลอดสายแบบนี้ได้ เป็นคนไม่ถึง 0.01% ของประชากรที่จะพัฒนาปัญญาของตนเองมาถึงระดับนี้ เห็นปัญหาที่เกิดจากการตีกรอบ/ด่วนสรุป จับผิดความคิด/ข้อสรุปของตนเองได้
สรุปว่ามันไม่ง่ายที่จะนำไปใช้ครับ :D คนจะเห็นได้ต้องรู้ทัน/แยกระหว่างคิดกับรู้ได้ขาดๆ
รวมทั้งเห็นได้ชัดๆว่าความคิดไม่ใช่ของจริงถึงระดับที่ยอมทิ้งความคิดหรือข้อสรุปของตนเองไว้และรับฟังคนอื่นจนจบอย่างถี่ถ้วนและใส่ใจให้ได้ก่อน จึงจะนับเข้าข่ายไม่ติดในกรอบครับ :-)
*************************
เพิ่งเห็นความต่างใหญ่มากข้อหนึ่งระหว่างคนสองกลุ่ม
คนกลุ่มหนึ่งมองภาพในมุมแคบ คือหยิบเอาเรื่องเล็กๆเป็นจุดๆไปสรุปว่าเรื่องใหญ่ทั้งหมดก็ต้องเป็นตามนั้น (Induction)
ในขณะที่คนอีกกลุ่มมองภาพกว้าง เห็นภาพรวม เห็นเจตนา เห็นสิ่งที่ได้รับ เห็นสิ่งที่เสียไป คือดูรายละเอียดทั้งหมดแล้วค่อยรวมลงมาเป็นข้อสรุป (Reduction)
อย่างหลังน.ี้จึงจะเรียกว่ามีโยนิโสมนสิการ ในขณะที่กลุ่มแรกยังไม่เห็นละเอียด ยังไม่ได้มองภาพกว้าง
คนกลุ่มแรกพลาดตรงที่สรุปไปเรียบร้อยแล้วโดยไม่ทันดูรายละเอียด เมื่อสรุปแล้วก็ทุ่มเทกำลังเดินหรือวิ่งไปตามข้อสรุปนั้นๆ กว่าจะรู้ตัวว่าสรุปผิด ก็ไปจนกว่าจะเริ่มได้รับผลของการสรุปผิดพลาดนั่นเอง และไม่รู้ว่ากรรมจะเปิดโอกาสให้เชื่อมโยงได้หรือไม่ว่าผลต่างๆที่ได้รับนั้นมาจากการกระทำชนิดใดของตนเอง
ผมพยายามทำเรื่องนี้จากทุกด้านและทุกคนที่เข้าถึงได้ แต่แล้วก็เห็นการมองด้านเดียว มุมเดียว อาการด่วนสรุปจากเหตุการณ์เดียว การตีความกิริยาของผู้อื่นโดยใช้พื้นฐานนิสัยของตนเอง (Projection) ของคนจำนวนมาก ซึ่งทั้งหมดเป็นการขาดโยนิโสมนสิการอย่างม.าก
การตีความกิริยาของผู้อื่นโดยใช้พื้นฐานนิสัยของตนเอง (Projection) ว่าจะต้องมีเจตนา(ร้าย)อย่างนี้แน่ๆโดยรู้ไม่ทันว่านี่คือการปรุงแต่งของเราล้วนๆนี่เองที่เป็นต้นเหตุของการให้ร้าย ด่าทอต่อว่าเสียดสีกัน ต่อกรรม ต่อภพ ต่อชาติไปอีกไม่รู้เท่าไหร่ ซึ่งเห็นกระทำกันดาษดื่น ทั้งหมดเป็นหลักฐานว่าท่านเหล่านั้นมีระดับความเห็นเรื่อง "สังขารของฉัน" หนาแน่นหรือเบาบางเพียงไร
***********
อย่างเพิ่งปักใจเชื่อ หรือปักใจไม่เชื่อ จนกว่าจะเห็นความจริงรอบด้าน :)