กรรม โดย คุณดังตฤณ
เห็นว่าเป็นประโยชน์และน่าสนใจดีค่ะ
แนะนำให้อ่าน:)
ในนิพเพธิกสูตร พระสุตตันตปิฎกเล่ม ๑๔ พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับกรรมไว้ดังนี้
๑) ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม
บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ
๒) ก็เหตุเกิดแห่งกรรมเป็นไฉน คือผัสสะเป็นเหตุเกิดแห่งกรรม
๓) ก็ความต่างแห่งกรรมเป็นไฉน คือ...
- กรรมที่ให้วิบากในนรกก็มี
- กรรมที่ให้วิบากในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานก็มี
- กรรมที่ให้วิบากในเปรตวิสัยก็มี
- กรรมที่ให้วิบากในมนุษยโลกก็มี
- กรรมที่ให้วิบากในเทวโลกก็มี
นี้เรียกว่าความต่างแห่งกรรม
๔) ก็วิบากแห่งกรรมเป็นไฉน เราย่อมกล่าววิบากแห่งกรรมว่ามี ๓ ประการ คือ...
- กรรมที่ให้ผลในปัจจุบันหนึ่ง
- กรรมที่ให้ผลในภพที่ไปเกิดใหม่หนึ่ง
- กรรมที่ให้ผลในภพถัดๆไปจากนั้นหนึ่ง
นี้เรียกว่าวิบากแห่งกรรม
๕) ความดับแห่งกรรมเป็นไฉน ความดับแห่งกรรมย่อมเกิดขึ้นเพราะความดับแห่งผัสสะ
อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการนี้แล คือ
สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ
สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
เป็นปฏิปทาให้ถึงความดับแห่งกรรม
เฉพาะส่วนความรู้แห่งพระสัพพัญญุตญาณข้างต้น
ก็กล่าวได้เต็มปากว่าพระพุทธองค์ทรงรู้ดีที่สุดในเรื่องเกี่ยวกับกรรม
คือทั้งในแง่มุมการอธิบายว่าตรงไหนในเราที่เรียก "กรรม"
กรรมเกิดจากอะไร ให้ผลอย่างไรและเมื่อไหร่บ้าง รวมทั้งจะดับได้อย่างไรในที่สุด
ต่อให้ฉลาดปราดเปรื่องขนาดไหน ถ้าทดลองค้นคว้าวิจัยดู
จะด้วยเครื่องมือทางการศึกษาสมัยใหม่
หรือด้วยกำลังจิตแบบฤาษีชีไพรก็ตาม
จะเห็นว่าไม่สามารถพบคำตอบ และแจกแจงเป็นลำดับได้ชัดเจนเหมือนพระพุทธเจ้าเลย
โดยเฉพาะในแง่ของการ "ดับกรรม"
ความคิดกับกรรมทางใจ
ขอให้พิจารณาที่พระพุทธองค์ตรัสว่า
บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ
ตรงนี้จึงมองได้ว่าความคิดกับกรรมนั้น น่าจะเป็นคนละส่วนกัน
ถ้าหากเข้าใจจุดนี้ดีๆจะมองเรื่องกรรมโดยภาพรวมได้กระจ่างแจ้ง
ลองจำแนกโดยความแน่วแน่ของฐานความคิดอาจได้ ๓ ระดับ คือ...
๑) ผัสสะภายนอกเช่นเสียงกระทบหูแล้วคิดแบบไม่แน่นอน
เป็นปฏิกิริยาเพียงเล็กน้อยตอบโต้ผัสสะทันทีทันใด
ตรงนี้อาจยังไม่จัดเป็นกรรมทางใจเต็มที่
เพราะมีเจตนาเพียงอ่อนเหมือนน้ำมันฉาบกระทะ
จะว่ามีก็ไม่อาจใช้ประโยชน์ จะว่าไม่มีก็ผิดเพราะของมันฉาบอยู่
๒) ผัสสะภายในเช่นเรื่องในอดีตกระทบใจแล้วคิดแบบไม่แน่นอน
เป็นปฏิกิริยาที่อาจก่อตัววกวน เช่นความลังเลสงสัยไม่ปักใจ
แต่ก็ไม่เลิกพะวง ไม่เลิกข้องแวะกับอาการคิดถึงเรื่องนั้นๆ
เหมือนคนยื่นเท้าลงน้ำแล้วชักกลับไปกลับมา
ถือว่าจุ่มน้ำไปแล้ว แต่ก็ดึงกลับขึ้นมาให้แห้งอีก
๓) ผัสสะภายในหรือภายนอกกระทบตัวกระทบใจแล้วคิดแบบแน่นอน
เป็นปฏิกิริยาที่หนักแน่น ปักใจเชื่อมั่นลงไปแล้ว
เปรียบได้กับคนลงน้ำทั้งตัว จะว่าไม่เปียกไม่ได้แล้ว
หากจำแนกกรรมทางใจไว้เช่นนี้ก็อาจตอบคำถามได้หลายข้อ
ตัวอย่างเช่นเมื่อเห็นพระรูปหนึ่งเดินมา เกิดความคิดปรามาสทันทีว่า
"ท่าทางจีวรขาดๆวิ่นๆ อย่างไรคงไม่ใช่อริยะตามใจฉันแน่ๆ"
เสร็จแล้ววินาทีต่อมาเกิดนึกขึ้นได้ เพราะมีความรู้มาก่อนหน้าแล้ว
และถูกครูบาอาจารย์เตือนไว้แล้วว่าไม่ควรปรามาสพระจากภายนอก
ท่านอาจเป็นผ้าขี้ริ้วห่อทองก็ได้ นึกอย่างนี้ก็เปลี่ยนใจใหม่
คิดกับท่านกลางๆ เผื่อใจว่าท่านอาจปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของท่านก็ได้
หรือไม่ก็คิดขอขมาไปเลยเป็นการกันเหนียว
กลายเป็นว่าบาปกรรมเล็กน้อย คลี่คลายมาเป็นมหากุศล
เพราะใจที่ไม่ประมาท อ่อนน้อมพอจะขอขมาทั้งยังไม่ทำผิด
คือใจที่เป็นหลักตั้งของกุศลใหญ่อันจะตามมาภายหลังเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่
ตรงที่คิดปรามาสในวินาทีแรกนั้น ยังไม่จัดเป็นกรรมทางใจเต็มเม็ดเต็มหน่วย
เพราะถือว่าเจตนายังไม่เกิดขึ้นกับใจที่หนักแน่นเต็มดวง
แต่ถ้าหากคิดแล้วคิดอีก ลังเลไปลังเลมา ว่าพระรูปนี้ใช่หรือไม่ใช่
กลับไปกลับมาระหว่างอยากปรามาสกับไม่อยากปรามาส
อย่างนี้เรียกว่าใจครึ่งๆ เป็นกรรมไปแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์
เพราะคานกันไปคานกันมาระหว่างขาวกับดำ
แต่ถ้าปักใจเชื่อมั่น ฟันธงไปเลยว่าตาขรัวนี้เป็นพระไม่ดี เราไม่นับถือ
อยากด่ายังไงก็ด่าได้ ใจเชื่อแบบเต็มที่แบบไม่มียั้ง
และอาจเลยเถิดไปชักชวนให้คนอื่นเชื่อตามด้วย
อย่างนี้ก็เป็นกรรมทางกาย วาจา ใจเต็มร้อยแล้ว
จับพลัดจับผลูพระรูปนั้นเป็นอริยะขึ้นมาจริงๆ
ก็ต้องเสี่ยงเองแล้วว่าจะรับผลเต็มๆเข้าท่าไหน อย่างไร
กรรมเก่ากับกรรมใหม่
ความสงสัยเกี่ยวกับกรรมอาจถูกทำให้กระจ่างขึ้นอีก
ถ้าหากเรามองชีวิตโดยความเป็นภาพย่อ ๒ แง่มุม คือ...
๑) ความเป็นเครื่องมือก่อกรรมใหม่
๒) ความเป็นช่องทางรองรับกรรมเก่า
มองเช่นนี้ จะเห็นว่ารูปร่างหน้าตาก็ดี
ฐานะความเป็นอยู่ทางบ้านแต่แรกเกิดก็ดี
บุคคลที่ผ่านเข้ามาในชีวิตก็ดี
เหตุการณ์อันแน่นอนที่เกิดเป็นประจำก็ดี
สถานการณ์อันผันผวนเอาแน่ไม่ได้ก็ดี
ล้วนแล้วแต่เป็น ฉากนี้ ที่แปรรูปมาจากความคิด คำพูด
และการกระทำใน ฉากเก่า ทั้งหมดทั้งสิ้น
สำหรับชีวิตในฉากนี้ ยังซอยแบ่งโดยวัยได้อีก ๓ ระดับ คือ
๑) วัยเด็ก
๒) วัยหนุ่มสาว
๓) วัยชรา
วัยหนึ่งๆมีอิทธิพลกับวัยใกล้ แม้ทำกรรมในช่วงที่เป็นเด็กไม่รู้คิด
ก็บ่ายเบี่ยงปฏิเสธไม่รับผลไม่ได้ เช่นเมื่อตอนเด็กริอ่านขโมยเล็กขโมยน้อย
โตขึ้นก็ติดนิสัยชอบหยิบโดยเจ้าของไม่รู้มาด้วย
และถ้าหากของที่ขโมยนั้น เจ้าของคือคนเป็นผู้ทรงคุณ
ก็มีสิทธิ์ให้ผลเร็วทันตา อาจถึงขนาดมีอันเป็นไปตั้งแต่ปฐมวัย
หรือถ้าขณะอยู่ในวัยหนุ่มสาวไม่แสวงหาความรู้ ไม่ขยันทำงาน ไม่สร้างเนื้อสร้างตัว
ก็ได้ชื่อว่าทำกรรมคือคิดประมาทในวัย
พอตกล่วงเข้าวัยชราก็รับกรรมอันเกิดแต่ความประมาท
อาจไร้ที่อยู่ อาจต้องไปเป็นขอทานเขากิน
ได้ทำกรรมอันชื่อว่าขี้ขอเข้าอีก
ย่นย่อชีวิตลงมาที่สุดเหลือขณะเดียว คือขณะปัจจุบัน
ได้แก่ช่วงเวลาที่เรายังมีโอกาสตัดสินใจเลือกว่าจะทำกรรมใด
หากพ้นเขต พ้นสิทธิ์ในการเลือก ก็ถือว่าเป็นอดีตไปแล้ว สายไปแล้ว
ภาพใหญ่สุดของ "ขณะปัจจุบัน" ได้แก่ชีวิตทั้งชีวิตนี้ ที่ยังมีลมหายใจนี้
มีอวัยวะใหญ่น้อยไว้กระทำการนี้ ถ้ากำหนดเลือกให้ชีวิตเป็นอย่างไร
ประกอบอาชีพอะไร หรือมีจุดมุ่งหมายเป็นอย่างไร
ก็เรียกว่ายังเป็นผู้มีสิทธิ์เลือก ยังเป็นผู้อาจใช้ร่างมนุษย์เพื่อกระทำการตามปรารถนา
ยกตัวอย่างเช่นถ้าปรารถนานิพพาน ตัวปรารถนาบังเกิดขึ้นในร่างมนุษย์
อันเป็นอุปกรณ์ชิ้นเยี่ยมสุดของสังสารวัฏในการแสวงนิพพาน
แล้วเพียรเพื่อนิพพานอย่างถูกทาง ในที่สุดก็บรรลุมรรคผล
เสวยวิบากคือวิมุตติสุขทั้งยังครองร่างมนุษย์นี่เอง
แต่หากทำไม่ถูก หรือเพียรไม่พอ ขาดใจตาย ถึงอายุขัยเสียก่อน
อย่างนี้ก็เรียกว่าใช้ขณะปัจจุบันแล้ว "ทำไม่ทัน"
ชีวิตตกล่วงไปแล้ว ความปรารถนานิพพานก็ไปรวมกับเถ้าถ่าน กลายเป็นอดีตไป
ภาพเล็กที่สุดของ "ขณะปัจจุบัน" ได้แก่จิตสำนึกดวงเดียวที่ดำริตริตรองได้
กล่าวคือเมื่อเกิดผัสสะใดขึ้น แล้วยังมีสิทธิ์คิดกระทำการโต้ตอบผัสสะดังกล่าว
ตรงนั้นคือปัจจุบัน หากผัสสะนั้นผ่านพ้นไปแล้ว
ก็ถือว่าโอกาสทำกรรมผ่านพ้นไปด้วยเช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่นกำลังทานข้าวแล้วมีขอทานมาขอสตางค์
ขอทานและกิริยาขอนั้นเป็นผัสสะ
เรามีปฏิกิริยาทางใจอย่างไร คิดอยากไล่ให้พ้นๆทันที
หรือว่ามีใจเป็นทานยืนพื้นอยู่ก่อน ทำให้คิดอยากให้
แต่ก็แยกย่อยได้อีกว่าคิดให้ทันที
หรือลังเลเสียก่อนว่าให้ไปถือว่าโง่รึเปล่า
ให้ไปแล้วจะเอาไปซื้อเหล้ากินหรือเปล่า
หน้าตายังไม่น่าสงสารพอหรือเปล่า ฯลฯ
ขณะลังเลอยู่นั้น ถ้าขอทานเดินจากไป
ก็ชื่อว่าความคิดอยากให้กลายเป็นอดีตเสียแล้ว
ความคิดจะก่อกรรมคือทานนั้น เป็นหมันไปเสียแล้ว ต้องรอผัสสะงวดหน้าแล้ว
ผลจากกรรมเก่าและกรรมใหม่
กรรมที่ทำเป็นประจำจนติดเป็นนิสัยนั้น เรียกว่า อาจิณณกรรม
สิ่งที่เคยทำเป็นประจำในอดีตชาติก็คืออดีตอาจิณณกรรม
มักให้ผลกับปัจจุบันชาติอย่างสม่ำเสมอ
เช่นถ้าทำบุญรักษาศีลอย่างดีตลอดชีวิตก่อน
ชาตินี้ก็จะเป็นคนงามวัย ไม่ว่าเป็นเด็ก โตขึ้นมา หรือแก่ตัวลง
รูปร่างหน้าตาก็ยังคงน่าดูเสมอต้นเสมอปลายอยู่นั่นเอง
อาจจำแนกอาจิณณกรรมเพื่อให้เห็นภาพรวมง่ายๆได้ ๓ ระดับดังนี้ คือ...
๑) หนักไปทางดี
๒) หนักไปทางร้าย
๓) ครึ่งดีครึ่งร้าย ไม่หนักไปทางใดทางหนึ่ง
การมีอาจิณณกรรมในอดีตหนักไปทางใดทางหนึ่ง
จะมีกระแสส่งเป็นผลให้เกิดสถานภาพ หรือบันดาลสถานการณ์สอดคล้องกับกรรมนั้นเสมอๆ
เรียกว่าเห็นปรากฏชัดเป็นรูปธรรม เปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เป็นตรงข้ามได้ยาก
และถ้ามาทำกรรมที่กลมกลืน กรรมที่เข้าพวกกันกับกระแสเก่า
ก็นับเป็นการขยายฐานกรรมเดิมให้ถ่างกว้างออกไปใหญ่ เพิ่มชั้นกรรมต่อยอดให้สูงส่งขึ้นไปอีก
กรรมเก่าเคยหนักมาทางดี ก็ทำดีต่อได้ง่าย เปลี่ยนใจทำชั่วได้ยาก
กรรมเก่าเคยหนักมาทางร้าย ก็ทำชั่วต่อได้ง่าย กลับใจทำดีได้ยาก
แต่ถ้าครึ่งดีครึ่งร้าย ไม่หนักไปทางไหน ก็มีสิทธิ์เลือกเอา และอาจไม่เห็นผลทันตาในทางใดๆ
กรรมเก่าจึงเปรียบเหมือนเชื้อที่ติดไฟง่ายสำหรับกรรมประเภทเดียวกัน
ทำแล้วมักเห็นผลทันตา อาทิเช่นคนมีทานบารมีเก่าดีอยู่แล้ว
ชาตินี้รวยแล้ว แต่อุตส่าห์สร้างสมเพิ่มขึ้นอีก
โดยอุทิศแรงกาย แรงเงิน แรงใจ สร้างโรงทานบ้าง
ออกต่างจังหวัดไปแจกจ่ายเสื้อผ้า อาหาร หยูกยากับคนยากจนบ้าง
ทำเป็นประจำได้ไม่นานจะเห็นผลอย่างใดอย่างหนึ่ง
คือเหมือนยิ่งมีเงินทองไหลมาเทมาเป็นน้ำป่า
หรือไม่ก็ได้รับสิ่งของหรือบุคคลต้องตาต้องใจ
เพราะผลของการให้ไปคือการได้มา
เริ่มต้นจากสุขทางใจอย่างเป็นนามธรรมเดี๋ยวนั้น
แล้วตามด้วยเหตุการณ์มาเสริมส่งให้สบายกายอย่างเป็นรูปธรรมในกาลต่อมา
ในอีกทางเลือกหนึ่งของคนรวย ถ้าหากวันๆไม่ทำอะไรนอกจากเข้าหาอบายมุข
ทำกรรมคือเล่นพนัน เป็นผีพนัน หรือบวกเข้าไปอีก
คือโกงกินเขาบ้าง ไปไล่ที่เขาบ้าง ไปทำเขาวิบัติบ้าง
ล้วนแล้วแต่เป็นทางหายนะ คือให้วิบากเป็นความพินาศไปของทรัพย์สมบัติ
ช่วงแรกจะทำได้ยาก เหมือนทำเท่าไหร่ก็ไม่สะเทือน สมบัติไม่ยุบสักที
แต่พอทำเรื่อยๆ จากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี
กรรมใหม่ที่สวนทางกระแสเก่าจึงค่อยๆถล่มของดีเดิมๆลงมา
และถ้าสำนึกตัวไม่ทัน ในที่สุดก็ล่มจมล้มหายไปจนได้
แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ที่ครึ่งดีครึ่งร้าย
ก็มักมีชีวิตลุ่มๆดอนๆ เอาแน่ไม่ค่อยได้กันเท่าไหร่
จะชั่วดีมักขึ้นอยู่กับกรรมปัจจุบันเป็นหลัก
นานทีปีหนจึงจะเห็นกระแสบุญเก่ามาช่วยหนุนตอนตกอับบ้าง
หรือเจอเงามืดของบาปเก่ามาเบียดเบียนลดทอนสุขให้น้อยลงบ้าง
เหตุปัจจัยที่เป็นตัวแปร
๑) ความเพียร
ตัวอย่างคือคนสู้ชีวิตบางราย ล้มแล้วล้มอีก
ถ้าเป็นคนทั่วไปก็ต้องบอกว่าไม่มีทางรุ่ง กรรมเก่ากดไว้
ซึ่งถ้ายอมตามนั้นก็ตกอับชั่วชีวิตจริงๆตามแผนที่เก่าเหมือนกัน
แต่เพราะไม่ยอมแพ้ และสู้ไม่เลิก ในที่สุดก็กลายเป็นตัวอย่างที่ยิ่งใหญ่
กลายเป็นแรงบันดาลใจมานักต่อนัก
ความเพียรคืออาการประคองให้ต่อเนื่อง
พลังงานในชีวิตมนุษย์นั้น หากรวมให้เป็นกระแสเดียวพุ่งเข้าเป้า
ในที่สุดย่อมเป็นกรรมปัจจุบันสูงเหนือกรรมเก่า
ขณะที่ความเกียจคร้านนั้น หากดำเนินอย่างต่อเนื่องแบบคนทอดหุ่ย
ก็อาจฉุดแรงส่งเก่าของกรรมดีๆให้ตกได้เหมือนกัน
๒) กระแสกรรมรวม
หมายถึงว่าที่หนึ่งๆ โลกหนึ่งๆ มีคนชนิดใดมาก่อกรรมอยู่โดยมาก
อาจหมายถึงระดับใหญ่ รวมพลโลกทั้งหมด
หรือซอยย่อยออกมาเป็นระดับประเทศ ระดับจังหวัด ระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน
กระทั่งระดับครอบครัว
ถ้าหากสมาชิกในสังคมหนึ่งๆกำลังคล้อยตามกระแสกุศล
ก็แปลว่าในเขตนั้นคนทำดีขึ้น
คิดง่ายๆเช่นมีพระดีเยอะ ก็ทำบุญแล้วได้กำลังแรง ให้ผลเร็ว
ใครทำดีก็มีคนชื่นชม มีหน้ามีตา แล้วก็มีกำลังใจอยากเสริมส่งกันและกันยิ่งๆขึ้นไป
ส่วนถ้าหากสมาชิกในสังคมหนึ่งๆกำลังคล้อยตามกระแสอกุศล
ก็แปลว่าในเขตนั้นคนทำชั่วขึ้น
ใครโกง ใครลักลอบทำผิดแล้วลอยนวลได้แปลว่าเก่ง
อย่างนี้คนก็มีแต่จะเอาตามกัน ยิ่งชั่วเท่าไหร่ยิ่งเหมือนเป็นใหญ่เป็นโตได้ง่าย
ทำแล้วไม่รู้สึกผิด หรือแทบไม่มีทางรู้สึกตัว เป็นต้น
ไม่มีใครได้กำลังใจจะทำความดีกัน
เพราะโลกเป็นภาชนะรองรับให้สัตว์มาใช้กรรมและก่อกรรม
โลกจึงทำตัวให้เข้ากับความเป็นภาชนะรองรับที่เหมาะสมกับคนหมู่มาก
ถ้าคนร้าย โลกก็ร้ายตาม เช่นอากาศวิปริตผันผวน ร้อนมาก หนาวมาก
แล้วก็ส่งผลกระทบกลับมาถึงจิตใจอีก คือร้อนมากก็หงุดหงิดง่าย
ฆ่าฟันกันง่ายขึ้น ล้มตายกันง่ายขึ้น
ยุคเรานี้กึ่งๆน่ากลัว เพราะกระแสเป็นลบเสียมาก
ใครทำชั่วจะมีกระแสชั่วหนุนให้ไม่ปรากฏผลร้ายเร็วนัก
และเหมือนจะทำชั่วกันขึ้นเสียด้วย เห็นผิดเป็นชอบกันมากเสียด้วย
หลายคนบ่นว่าคนชั่วทำชั่วมากเท่าไหร่ๆก็ไม่เห็นมีอันเป็นไปซักที
ที่แท้อาจเป็นเพราะกระแสอกุศลอุดหนุนอยู่
เลี้ยงไว้ให้อยู่ทำชั่วได้นานๆ
พอถึงเวลาส่งผลโครมเดียวก็พินาศย่อยยับ เห็นได้ด้วยตาเปล่า
และยิ่งวิบัติอีกยืดยาวในปรโลกที่ไม่อาจกำหนดรู้ด้วยตาเนื้อ
กรรมของนักภาวนา
หากอดีตอาจิณณกรรมในชาติใกล้คือการหมั่นเพียรภาวนา
หาทางที่จะดับกรรม ตามแนวทางที่พระพุทธองค์ตรัสไว้
ซึ่งสรุปก็คือมรรค ๘ สติปัฏฐาน ๔
ผลที่ส่งมาในชาตินี้ก็คือจะเป็นคนมีความโน้มเอียงทางสงบ
ทำสมาธิง่าย ฟังเรื่องไตรลักษณ์แล้วเข้าถึงใจได้ไว
นี่คือรูปธรรมนามธรรมที่เห็นชัด
ถ้ามองแบบคนที่ชอบเล็งแผนที่ชีวิต
กล่าวคืออาศัยความรู้โหราศาสตร์ เกี่ยวกับการคำนวณตำแหน่งดาว
ก็อาจมีการทำนายทายทักว่าดวงแบบนี้มีหวังเป็นนักบวช
หรือบวชแล้วจะดี (โหราศาสตร์ไทยมักผูกพันกับศาสนา
เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปได้ที่มีการเก็บสถิติคนบวชแล้วดีกันไว้เยอะ)
พอเริ่มมีการเชื่อเรื่องดวงบวช ก็เริ่มมีการใส่ใจในวงการภาวนา
(โดยเฉพาะที่ภาวนาจนยังไม่เชื่อ-ไม่เห็นกายใจเป็นไตรลักษณ์เต็มร้อย)
คืออยากดูว่ามีดวงในทางบวช หรือเอาดีในทางพระทางชีได้ไหม
ถ้าหมอดูทักว่าดวงไม่มีมาทางนี้ ไม่มีดาวส่งผล
ก็มักแปลกันตามอัธยาศัยว่าหมดสิทธิ์เอาดีทางธรรม
เลยทอดหุ่ย ไม่ต้องปฏิบัติมัน รอไปเจอพระศรีอารย์ดีกว่า
อันนี้นับว่าเป็นเรื่องของการชวนกันประมาทโดยแท้
หมอดูที่ทายเรื่องดวงผู้ปฏิบัติว่าจะได้หรือไม่ได้อะไรนั้น
99% สร้างความวิบัติให้ตัวเอง และทำลายทางมรรคทางผลของผู้อื่น
พระพุทธเจ้าสอนให้ภาวนานั้น ไม่เคยอ้างดวงเลย
ไม่เคยตรัสว่าก่อนเธอปฏิบัติสติปัฏฐาน เธอจงตรวจดวงเสียก่อน
กรรมในการภาวนานั้น เริ่มได้ผลตั้งแต่มีศรัทธา อยากเอาจริงเอาจัง
อยากทำจิตให้พ้นจากอุปาทานแล้ว
ซึ่งจะมีศรัทธาได้ ก็ต้องศึกษาพระธรรมคำสอนอย่างดี จนเข้าใจแก่นจริงๆ
ฉะนั้นกรรมอันประเสริฐสูงสุดจึงไม่มีอะไรเกินการทำความเข้าใจพระธรรมให้แจ้ง
ทั้งในระดับความรู้ ความคิด ตลอดจนกระทั่งการปฏิบัติให้ถึงผล
คือการดับทุกข์อย่างสิ้นเชิง ไม่กลับกำเริบอีก
โดย ดังตฤณ ( ลานธรรมเสวนา ) เขียนไว้วันที่ 3 มีนาคม 2546
ที่มา http://cdthamma.com/