ทุกข์เพราะคิด
เราเคยได้ยินบ่อยๆว่า สุขทุกข์อยู่ที่ใจเรา แต่เวลาเราทุกข์ เรากลับไปคิดหาเหตุแห่งความทุกข์จากสิ่งภายนอก และเชื่อว่าวิธีการดับทุกข์อยู่ที่ภายนอก ทำไมคนนั้นทำอย่างนี้ ทำไมคนนั้นคิดอย่างนี้ เขาคิดแบบนี้หรือเปล่า คนนั้นจะทำอย่างไรต่อ
ถ้าเพียงแต่เราเข้าใจความหมาย ของประโยคที่ว่า สุขทุกข์อยู่ที่ใจเราจริงๆ เลิกหาคำตอบจากการแสวงหาภายนอกผ่านเครื่องมือคือ การคิด แล้วเข้ามาดูแค่ขอบเขตในกายใจตามที่พระพุทธเจ้าบอกไว้ ความทุกข์ จะเป็นบทเรียนที่สอนใจได้ดีที่สุดว่า สิ่งต่างๆไม่ใช่ของเรา และเราจะพ้นทุกข์ด้วยตัวเอง ทุกที่ ทุกเวลา
เพราะถ้าความทุกข์มันเป็นของเรา เราก็ต้องสั่งมันได้ สั่งให้หยุดได้
แท้ที่จริงแล้วความคิดมันก็เป็นสิ่งที่ปรากฏขึ้นแค่ชั่วแว๊ป ที่เหลือขึ้นอยู่กับเราล้วนๆ
ที่ผ่านมา เวลามีอารมณ์ที่ดี เราก็เต็มใจเชื่อว่าความคิดความรู้สึกนั้นมันเป็นเรา จึงเข้าไปยึด พอมีทุกข์ เมื่อไม่สังเกตธรรมชาติความจริงข้างต้น เราก็เลยเชื่อมัน เห็นว่ามันเป็นเราอีก แล้วก็ต้องพยายามผลักไส
ความทุกข์แบบที่เป็นอารมณ์ทุกข์นั้น มีที่มาจากกรรมไม่ดีที่เราทำไว้ เรารับรู้ผลได้ที่ใจของเรา
กรรมส่งผลมาที่ความคิดความรู้สึก แต่เพราะความคิดของแต่ละคนต่างกัน ความคิดจึงไม่ใช่ของจริง
คนทุกคนเจอเรื่องเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องคิดและรู้สึกแบบเดียวกัน และคนทุกคนไม่จำเป็นต้องหลงรักคนๆเดียวกัน
เมื่อเข้าใจว่ากรรมส่งผลมาที่ความคิดความรู้สึก หากอยากพ้นทุกข์ ให้เฝ้าระวังสังเกต ความคิด ความรู้สึกนี้
ญเห็นคนส่วนใหญ่ และตัวญเองก็เคยเป็น(ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ แต่เริ่มจับจุดได้) เรามักจะเผลอตามความคิดไปทั้งที่ไม่รู้
เวลามีทุกข์ เราสงสัยว่าจะทำอย่างไร สงสัยว่าคนอื่นคิดอย่างไร ก็มักจะคิดๆๆๆ แต่ลืมดูไปว่า เรากำลังหาความจริงในวังวนของความคิด
กรรมส่งมาให้พบเจอกับอะไรในส่วนภายนอกก็ส่วนหนึ่ง แต่จะส่งผลได้บ่อยและหนักที่สุดก็ผ่านทางความคิด ความปรุงแต่งไปเอง
หากเราหยุดเหตุที่จะเชื่อ แล่นไปตามความคิดต่อสิ่งภายนอกแล้ว เหตุแห่งทุกข์จะหมดลง
ไม่ใช้ความคิดที่เป็นทุกข์มาต่อยอดให้ตัวเองเป็นทุกข์ รู้ทันความคิดที่เป็นทุกข์ และรู้ว่าถ้ามีความคิดที่เป็นทุกข์อยู่ ทุกการพูด การกระทำที่เราแสดงออกต่อคนอื่น จะเป็นไปในทางเบียดเบียนให้คนอื่นมีทุกข์ อึดอัด มากกว่าสบายใจ (แล้วคนอื่นก็อาจจะรู้สึกไม่ดีกับเรา ทำไม่ดีกับเรากลับมา) ก็คือการหยุดต่อ เติม เพิ่มเหตุแห่งทุกข์ให้หมดลง
กับเรื่องที่เรายังไม่รู้ ถ้าเราอยากเห็นความจริง เราต้องดูสิ่งที่มันเกิดขึ้นตามจริง และบางเรื่องเหมือนดูละคร บางเรื่องสั้น บางเรื่องยาว เราต้องอาศัยเวลาในการเห็นที่มากพอ
คนส่วนใหญ่จะ มีความเห็นหนึ่งในใจตั้งไว้ก่อน เช่น เชื่อว่า เขาคิดอย่างนี้แน่ๆ แล้วก็ทำให้เราเห็นสิ่งต่างๆเพียงมุมเดียว ทุกความเห็นของเราจะถูกนำไปสนับสนุนความเชื่อที่เราตั้งไว้
แต่ถ้าเราวางใจเป็นกลางๆ รู้ตัวว่ายังไม่รู้ ก็คือไม่รู้ เราต้องรู้ทัน ความไม่เป็นกลางที่เราให้ค่าไปก่อน จึงจะเป็นกลางกับสิ่งที่เห็นจริงๆ อันนี้เป็นการไม่สร้างทุกข์ให้ตัวเองไปก่อนด้วยความ”ไม่รู้”
อย่าคาดหวังว่า เราจะต้องรู้เรื่องราวเร็วๆ เพราะทุกสิ่งที่เกิดมันเกิดตามเหตุ ที่เกิดขึ้นไปแล้ว ถ้ามันจะเกิดก็ต้องเกิด แต่อย่างน้อยถ้ามันยังไม่เกิด ก็อย่าคิดไปเองก่อน เราจะไปเร่งให้เห็นความจริงก่อนไม่ได้ หน้าที่ของเราเพียง สังเกต และเก็บข้อมูล
ความคิดเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เมื่อเราไม่ไปให้ค่า ปรุงแต่ง สานต่อ
สุดท้าย เมื่อความสุขทุกข์รวมลงที่กายใจเรา การภาวนาเพื่อรู้กายใจตนเอง จึงเป็นคำตอบของการพ้นทุกข์ที่ทำให้ทุกคนพึ่งตนเอง หลุดรอดจากทุกข์ได้ด้วยตนเอง อย่างแท้จริง
ถ้าเห็นกายเห็นใจตนเอง เราจะแก้ทุกข์ แก้นิสัยอันเป็นแห่งทุกข์ เช่น คิดมาก ขี้น้อยใจ ขี้กังวล ขี้กลัว และอื่นๆ ได้หมดค่ะ
ขอจบบทความด้วยธรรมะจากครูบาอาจารย์นะคะ
“คนเราทุกข์เพราะคิด”
"จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย (เหตุแห่งทุกข์)
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์ (สภาพที่ทนได้ยาก)
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค (ทางพ้นทุกข์)
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ (ความดับทุกข์ )"
หลวงปู่ดูลย์ -/\-