รักหลงทาง
รักกับหลงต่างกันอย่างไร?
หลงเป็นอาการแสดงของความไม่รู้ ไม่รู้ว่ารักเพราะอะไร ไม่รู้ว่ารักนั้นจะเดินไปทางไหน แล้วก็ไม่รู้ว่ารักอย่างไรเป็นสุข รักอย่างไรเป็นทุกข์ เหมือนคนเดินปิดตา ยังไงก็ต้องพลาด ล้ม ชนสิ่งต่าง ๆ ทุกข์ เจ็บ แต่ในชีวิตจริงนั้นดูยาก เพราะตานอกเราเปิด แต่เราไม่เห็นว่าตาใจเราปิด
จะเปลี่ยนจากหลงเป็นรักอย่างรู้ ก็ต้องมีความเข้าใจเหตุแห่งสุขและทุกข์
หญิงเคยฟังนิทานจากพระอาจารย์ชยสาโร ท่านเล่านิทานให้ฟังอย่างนี้ค่ะว่า
“คนส่วนมากขยันหมั่นเพียรในเรื่องการทำมาหากิน ยอมเสียสละแทบทุกอย่างเพื่อความเจริญทางโลก แต่แทบจะไม่ยอมเสียสละกิเลสแม้แต่นิดเดียว ทำไมเราชอบเป็นอย่างนี้ ? มีสาเหตุหลายอย่างอย่างหนึ่งคือ การหลง ระหว่างเส้นทางและจุดหมายปลายทางของชีวิต
ครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมากมาแล้ว พระราชาองค์หนึ่งแสวงหาขุมทรัพย์โดยไม่รู้จักว่าขุมทรัพย์ที่ต้องการเป็นอย่างไรและอยู่ที่ไหน รู้จักแต่ชื่อ วิธีแสวงหาของท่านคือสร้างถนนเยอะ ๆ ด้วยเหตุผลว่าวันใดวันหนึ่ง ถนนเส้นใดเส้นหนึ่งน่าจะต้องพาไปเจอแหล่งที่อยู่ของขุมทรัพย์ พระราชาตั้งอกตั้งใจสร้างถนนไปทั่ว เวลาผ่านไปนานพอสมควรยังไม่ได้ขุมทรัพย์
แต่ไม่เป็นไร เพราะท่านเกิดง่วนกับการสร้างถนน จนลืมว่ากำลังสร้างเพื่ออะไร ผลสุดท้ายท่านเอาการสร้างถนนนั่นแหละเป็นเป้าหมายชีวิต แทนการใช้ถนนเพื่อเข้าถึงขุมทรัพย์ จากนั้นพระราชาคอยวัดความสำเร็จของตนด้วยความยาวของถนน ภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของถนน
พวกเราต้องระมัดระวังไม่ลืมภาพรวมของชีวิตเรากำลังทำอะไรอยู่ เพื่ออะไร จงใช้สติปัญญาพินิจพิจารณาเนือง
นิจ อย่ามัวแต่หาเงินจนไม่มีเวลาหาตัวเอง ดูความรู้สึกของตัวเองเรื่อย ๆ”
นิทานเรื่องนี้ท่านกล่าวถึงการหลงความสำเร็จทางโลกซึ่งเห็นได้ทั่วไป เราวัดความสุขจากการมีเงินเดือนเยอะ ๆ ตำแหน่งสูง ๆ มีคนยอมรับ บ่อยครั้งเราต้องแลกกับการทำงานหนักที่เกินกำลัง ทำให้ป่วย บางคนทำให้เครียดหนักจนลืมไปว่า ชีวิตคนเรานั้นแสนสั้นเหลือเกิน รู้ตัวอีกทีก็แก่ หรือต้องเอาเงินที่หามาได้มารักษาตัวเพราะป่วย แล้วสุดท้ายก็นึกขึ้นได้ตอนใกล้ตายว่า เราเอาเงิน ตัวเลขในบัญชี รถ บ้าน หรือทรัพย์สินอะไรไปไม่ได้เลย
ไม่ได้บอกว่าการทำมาหากินเป็นเรื่องไม่ดีนะ แต่ต้องเข้าใจจุดประสงค์ว่าเราทำงานเพื่อเลี้ยงชีพ เพื่อซื้อหาปัจจัยสี่ เพื่อความสุข แต่ไม่ใช่เพื่อเงิน (เราเอาเงินมาใช้ตามความจำเป็น)
การมีความรักก็เช่นเดียวกัน บางคนเห็นว่าความรักเป็นทั้งหมดของชีวิต บางคนก็เห็นว่าเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิต แต่ไม่ว่าอย่างไร น้อยคนนักที่จะเข้าใจความสุขจากการมีความรักที่แท้จริง เรามองสุขแต่เพียงตื้นเขินง่าย ๆ ว่า การมีคนที่อยู่เคียงข้างเรา ให้ความเข้าใจ ความอบอุ่นคือความสุข เข้าใจว่า “การมี” นั้นคือความสุข
แล้วก็วัดความสุขจากการที่คนรักใส่ใจ ห่วงใย เรามาก ๆ
หรือบางคน เมื่อได้อ่านจากหนังสือบางเล่มว่าจะสร้างเหตุให้อยู่ร่วมกับคนรักได้อย่างมีความสุขด้วยการทำบุญร่วมกัน ก็ยึดการทำบุญนั้น โดยไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงว่า บุญต้องประกอบด้วยกุศลด้วย (กุศลแปลว่าความฉลาด) บุญไม่ได้มีแต่การร่วมใส่บาตร ทำสังฆทาน แต่ยังมีเรื่องของการรักษาศีล คิดดี พูดดี ต่อกัน และต่อผู้อื่น ยังมีบุญจากการภาวนา ซึ่งหมายถึงการฝึกอบรมจิตใจให้เกิดปัญญา
บุญแท้จริงเป็นการขัดเกลากิเลสเครื่องทำให้ทุกข์ เช่น สละทรัพย์เพื่อแก้ความตระหนี่ หวง สละความโลภ โกรธ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น สละความหลงเพื่อความไม่ยึดถือ ถ้าไม่เข้าใจแล้วยึดว่า ทำบุญแล้วก็ขอให้ได้อยู่ร่วมกัน มันอาจจะทำให้เกิดสุขจริง แต่มันจะทำให้เกิดความยึดด้วย ก็จะทำให้เกิดความทุกข์ตามมา
การทำบุญที่ตั้งใจทำเพื่อนำไปสู่การขัดเกลากิเลสเพื่อความหลุดพ้น จึงกลายเป็นการทำให้อัตตา ความยึดมั่นมากขึ้น ไม่เข้าใจบุญในทางที่ถูก ก็เลยไม่ถึงจุดหมายเสียทีเหมือนพายเรือในอ่าง เหมือนแทนที่จะเอามีดปอกผลไม้ มาปอกผลไม้เข้าปากกินให้อร่อย ก็กลับเอามาปาดมือตัวเอง
ถ้าเราเห็นว่าอะไรเป็นความสุข เราจะทุกข์เพราะสิ่งนั้น
เช่น ถ้าเราเห็นว่าการครอบครองคือความสุข เราจะต้องทุกข์เมื่อจาก เราจะทุกข์เมื่อเขาเปลี่ยนใจไปรักคนอื่น
มุ่งตามหาคนที่จะเป็นคนสำคัญของเรา พอไม่ได้ พอสูญเสีย แล้วทุกข์ แทนที่จะรู้ตัวว่าทุกข์เพราะอยากได้ ก็กลับเป็นหาทางแก้ด้วยการหาไปเรื่อย ๆ เพราะคิดว่ากำลังสร้างถนนแห่งความสุขอยู่
พระท่านว่า ความสุขบนโลกมันเป็นสุขวนเวียน เหมือนเหรียญสองด้าน มีสุขแล้วก็มีทุกข์
เพราะความสุขนั้นเป็นสุขที่เกิดขึ้นแล้วดับไป มีไว้ให้ยึด ชื่นชม แล้วอาลัย
ให้สุขมากแค่ไหนมันก็ไม่มีที่สุด มันได้แค่นั้น มีแล้วก็ดับ
ความรักที่มีค่า จึงไม่ควรเป็นแค่รักที่ได้ร่วมกันเสพสุขชั่วคราว
เกิดเป็นมนุษย์ผู้มีปัญญาควรพาตัวเองไปได้สูงกว่านั้น
พระพุทธเจ้าสอนว่าเหตุแห่งทุกข์เกิดจากความไม่รู้เข้าใจธรรมชาติต่าง ๆ ตามความเป็นจริงว่ามีเกิดขึ้นแล้ว ต้องแปรปรวน คงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจควบคุม (ไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ทุกข์เพราะกิเลส ตัณหา ความอยาก
เราก็มุ่งรักแบบขัดเกลาตัวเองเพื่อเข้าใจความจริงของธรรมชาติ มีสุขก็ไม่ยึดจนทำให้ทุกข์เมื่อสูญเสีย หรือยังไม่ทันสูญเสียเลย ก็หวงตัว(คนรัก)ความสุขไว้ก่อนก่อทุกข์จนต้องเกิดการสูญเสียไปจริง ๆ
มีเป้าหมายที่จะเรียนรู้และขัดเกลา กิเลส และนิสัยตนเองเพราะความรัก
เมื่อรักทีไรก็ทำให้เราเป็นคนดีขึ้นทุกครั้ง เพราะจะเสียสละมากขึ้น โกรธน้อยลง
ในทางพุทธไม่มีการกล่าวถึงเรื่องความรักโดยตรง แต่กล่าวถึงธรรมที่ใกล้เคียงกับความรักคือ พรหมวิหาร ๔ ได้แก่ การมีเมตตา(ปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นความสุข) กรุณา(ต้องการให้ผู้อื่นพ้นจากทุกข์) มุทิตา(พลอยยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นเป็นสุข) อุเบกขา(มีความเป็นกลางต่อความมุ่งหวังทั้งหมดนั้น ไม่ได้ทำไปด้วยอำนาจของกิเลส คือให้ด้วยความหลง พอได้ไม่ได้รับความรักตอบจึงทุกข์ กล่าวได้ว่าอุเบกขาธรรมคือความเป็นกลางจากกิเลสที่จะทำให้เราสามารถรักได้อย่างมีปัญญา)
ผู้รักจะต้องมีการขัดเกลาใจตนเอง ให้เข้าใจความรัก เข้าใจความสุขก่อน จึงจะสามารถให้ความรักคนอื่นได้