ถนอมรัก
คนที่จะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทั้งในปัจจุบันและอนาคต พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ต้องมีความเสมอกัน 4 ข้อคือ ศรัทธา เป้าหมาย มีศีล จาคะ และปัญญา
ศรัทธา หมายถึงเป้าหมาย ความเชื่อว่าสิ่งใดนำไปสู่ความสุขอย่างเดียวกัน ถ้าคนหนึ่งเชื่อว่าความรวยคือความสุขที่สุด อีกคนเชื่อว่าการเข้าใจธรรมะ เข้าใจความจริง คือความสุขที่สุด ก็จะทำให้รูปแบบในการดำเนินชีวิต “รวมถึงการเลือกกระทำ” สิ่งต่าง ๆ มีกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตต่างกัน ทำให้แม้กายจะอยู่ด้วยกัน แต่ก็เหมือนใจมองไปคนละทิศ
ศรัทธานี้เป็นตัวกำหนดวิถีทางเดินของเราแต่ละคน
ศีล แสดงถึงใจที่มีความปกติ ไม่โลภ โกรธ เบียดเบียนผู้อื่น เช่น ถ้าคนหนึ่งชอบตกปลา อีกคนรักการไม่เบียดเบียน ก็จะทำให้อยู่กันยาก
จาคะ หมายถึงการให้ การสละ น้ำใจ คนสองคนจะอยู่ร่วมกันไปได้ ด้วยนความรัก จะต้องมีน้ำใจความเสียสละต่อกัน ทั้งคู่จะต้องมีการรักษาความสมดุลระหว่าง give และ take ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งให้หรือยอมฝ่ายเดียว อันนั้นเรียกคู่ใช้กรรม มากกว่าคู่บุญ
เรื่องศีลและปัญญานี้ เป็นเครื่องแสดงถึงระดับอัตตา ว่าเราจะคิดถึงตัวเองก่อน หรือจะคิดถึงคนอื่นมากกว่า ถ้าคิดถึงตัวเองมากกว่า รักนั้นก็จะเป็นรักแบบหึงหวง ครอบครอง นอกใจ นึกถึงความสุขตัวเองเป็นหลัก
และปัญญา หมายถึงความสามารถในการใช้เหตุผล เชื่อมโยง ไม่ได้หมายความว่าต้องเรียนเก่งเหมือนกัน แต่ปัญญาในที่นี้หมายถึงระดับความเข้าใจโลกตามความจริง
คนเรียนสูง แต่โลภ โกงคนอื่น ไม่ได้เรียกว่าเป็นคนฉลาด แต่เรียกว่าเป็นคนโง่
คนที่เข้าใจสิ่งต่าง ๆ ตามจริง จะมีความยึดมั่นถือมั่นน้อย ใช้ชีวิตเพื่อการพัฒนาเรียนรู้ให้มีสุขด้วยการพ้นทุกข์ยิ่ง ๆ ขึ้น
ระดับปัญญาที่เสมอกัน จะทำให้เกิดความเคารพในกันและกัน และช่วยแก้ปัญหาที่เกิดในระหว่างเดินทางร่วมกัน เป็นการเกื้อกูลให้ เรา อีกฝ่าย และความสัมพันธ์เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่มีความสัมพันธ์ในลักษณะวนอยู่ที่เดิม
แต่จุดเริ่มต้นที่จะเจอคนที่เหมาะสมเช่นนี้ได้ มันก็ต้องมีเหตุ หญิงเขียนเน้นเรื่องนี้เสมอว่า พระพุทธเจ้าบอกว่า “ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ” บางคนไม่เข้าใจเรื่องนี้ ทั้งชีวิตจึงเอาแต่รอ
ความสมกันนี้ต้องเกิดขึ้นจากคนทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ถ้าเรามั่นใจว่าเรารักอย่างรู้ ไม่ได้รักอย่างหลง
คือแม้กรรมจะพาให้รู้สึกดีกับใคร แต่ก็ไม่ได้ยอมรับไปแบบไม่รู้ แต่”มีสติปัญญาเป็นตัวกำกับ ใช้เหตุผลในการดูด้วย” ว่า “คนนี้มีศรัทธา เป้าหมาย มีศีล จาคะ และปัญญา เสมอกัน”
เมื่อ”ใช้เหตุผล”แล้ว รู้แล้วว่าเหมาะ แบบไม่เข้าข้างตัวเอง เราต้อง”มั่นใจ”ในตัวอีกฝ่าย (แต่ถ้ารักด้วยความไม่รู้ ก็จะทำให้เกิดความไม่มั่นใจ เกิดปัญหา เราคิดว่ามีปัญหาเพราะอีกฝ่าย ที่จริง มีปัญหาเพราะเราไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้จักอีกฝ่ายดีมาก่อนต่างหาก พอจุดเริ่มต้นไม่ดี หลงทางมา ก็เลยหลงทางไป)
เราเองย่อมรู้จักตนเองดี (สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักตนเอง ก็ทำความรู้จักตนเองก่อนนะ มีเป้าหมายอะไรในชีวิต จุดเริ่มต้นเลยคือเราต้องมีความชัดเจน)
เราย่อมรู้ว่าอีกฝ่ายเหมาะสมกับเราหรือไม่ แต่ถ้าเราไม่รู้ สุดท้ายกรรมเขารู้อยู่ดี กรรมจะดึงดูดให้อยู่กับคนที่กรรมเสมอกับเรา
การที่เราจะเจอคนที่เหมาะสม ต้องเกิดจากมีเหตุที่คู่ควรพอแล้ว
ถ้ายังเจอคนที่ไม่เหมาะสมกัน ก็เป็นโอกาสให้เราเรียนรู้กับทุกข์ มันก็ไม่ได้แปลว่าชีวิตจะจบลงแค่นั้น ทุกคนที่เข้ามา มาให้เราใช้กรรม และสอนเราได้
ความเป็นอีกฝ่าย จะสะท้อนความเป็นเราในบางเรื่อง ปัญหาที่เจอสะท้อนข้อสอบที่เรายังสอบไม่ผ่าน
ให้เน้นที่การเรียนรู้ เมื่อเราสอบผ่านแล้ว พัฒนาตนเองไปในทางที่ดียิ่งขึ้น เราก็จะเจอคนที่เหมาะสมกับเราในทางที่จะให้ความสุขกับเรายิ่ง ๆ ขึ้น
อาจารย์หญิง และหญิงไม่เคยแนะนำให้อธิษฐานขอยึดกับใคร แม้ศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา จะเป็นสิ่งที่ช่วยถนอมรักให้คนทั้งสองได้ แต่มันต้องเกิดมาจากความเป็นตัวเรา และตัวเขาจริง ๆ และสิ่งเหล่านี้เกิดจากการสั่งสม อบรมตนเองมาก่อนนานแล้ว ไม่ใช่เกิดในเวลาไม่กี่เดือน ถ้าเรายึดติดที่ตัวบุคคล โดยที่เราไม่รู้ว่าอีกฝ่ายเป็นอย่างไร ก็คือมีคนรักนำทาง
แต่ถ้าเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน เรานำตนเองไปใกล้เป้าหมายขึ้น ก็จะเจอเพื่อนร่วมทางแบบเดียวกัน ที่กำลังจะเดินไปทางนั้น
คนทั่วไปไม่มีเป้าหมาย หรือเป้าหมายเป็นเป้าหมายที่ไม่มีวันสิ้นสุด เช่น อยากรวย รวยเท่าไหนจึงเรียกว่ารวย ว่าพอ
แต่เป้าหมายของคู่รักอย่างพุทธมีจุดสิ้นสุด คือนิพพาน ที่ ๆไม่ต้องเวียนเกิดมาพบแล้วพราก และต้องรอรักแท้ไปเรื่อย ๆ